วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ดูข่าวแล้วย้อนดูลำปาง



คำของพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล นับว่าน่าสนใจ

“สิ่งที่จะสะท้อนสังคมต้องเป็นกระจกบานใหญ่ ต้องมองสังคมให้รอบด้าน อย่ามองเพียงว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ คุ้มค่าหรือไม่ ผมมีความรู้สึกว่า ถ้าเป็นกระจกที่สะท้อนสังคม มันต้องเป็นกระจกบานใหญ่ ถ้าเป็นกระจกบานเล็กๆ มันได้แค่ดูสิว ดูขนคิ้ว หรือเป็นกระจกบานใหญ่ดูได้ทั้งตัว”

ถือเป็นการโต้ตอบที่คมคาย และสะท้อนการมองแบบคับแคบ ที่คิดว่าการใช้จ่ายเงินรัฐก้อนโต เพื่อเอาใจนาย ของนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเรื่องเล็กน้อย คล้ายสิวเม็ดหนึ่ง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาใช้งบประมาณ 1.8 ล้านบาท ในการจัดประชุมหัวหน้าหน่วยงานในกระทรวง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บอกว่าต้องตรวจสอบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เขาเห็นว่าเป็นการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า เพราะจัดงานเพียงไปกี่ชั่วโมง

ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงผิดสังเกตประกอบด้วยงานต่างๆ เช่น การเตรียมห้องต้อนรับนายกรัฐมนตรี 9 หมื่น 7 พันบาท ค่าของที่ระลึกพิเศษแก่นายกฯ 3 พันบาท ค่าเตรียมพื้นที่ให้นายกฯแถลงข่าว 7 หมื่น 6 พันบาท ค่าวางผังพื้นที่และตกแต่งสถานที่ 3 แสน 6 หมื่น 5 พันบาท ค่าเตรียมกิจกรรมต้อนรับ 1แสน 7 หมื่น 6พันบาท , ค่าเตรียมพื้นที่ลงทะเบียน 5 หมื่น 9 พันบาท ,

นอกจากนี้ ยังมีงบอย่างอื่นเช่น ค่าเตรียมเต็นท์และองค์ประกอบรับรอง 4 แสน 4 หมื่น 8พัน 8ร้อยบาท , ค่าเตรียมห้องประชุมและอุปกรณ์ประชุม 2 แสน 1 หมื่น 6 พัน 5 ร้อยบาท ค่าออกแบบวีดีทัศน์ ความยาวไม่น้อยกว่า 10 นาที ราคา 5 หมื่นบาท , ค่าของที่ระลึกสำหรับหัวหน้าส่วนราชการ 8 หมื่นบาท รวมถึงค่าประสานงานและบริหารโครงการ 2 แสน 4 หมื่น 5 พันบาท

แน่นอนการตรวจสอบว่าโครงการนี้ทุจริตหรือไม่เป็นหน้าที่ของ สตง.  แต่เป็นการใช้เงินของรัฐอย่างฟุ่มเฟือย โดยได้ผลเพียงเล็กน้อย ในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคือง  คนทำมาหากินเดือดร้อนกันทั่วหน้า รัฐจะต้องเป็นแบบอย่างในการประหยัด ใช้เงินอย่างคุ้มค่าและระมัดระวัง มิใช่อ้างว่าการท่องเที่ยวนำเงินมากมายมหาศาลเข้าประเทศ เพราะเป็นคนละเรื่อง คนละกรณีกัน

ภาพใหญ่ระดับประเทศ หากย่อส่วนลงมาในจังหวัดลำปางก็มีเรื่องทำนองนี้

อยู่ในป่าไม่เห็นต้นไม้ คนลำปางหลายคนอาจไม่เคยสังเกตเห็นงานเทศกาลต่างๆ ที่มีหน่วยราชการเป็นเจ้าภาพ มีนิทรรศการ มีรูปแบบงานเป็นพิธีรีตอง อยู่สองข้างทาง แต่คนไปร่วมงานน้อยเสียยิ่งกว่าเจ้าหน้าที่ประจำบูธ งานเหล่านี้ใช้เงินกันจำนวนไม่น้อย แต่น่าสงสัยว่าจะคาดหวังผลอะไร ได้มากน้อยเพียงใด นอกจากโอกาสในการใช้เงิน และเป็นการใช้เงินที่มองในเชิงคุณค่าแล้ว น่าจะสูญเปล่า เพราะงานบางงานจัดกันทั้งผิดวัตถุประสงค์ ทั้งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย

เช่น งานหลวงเวียงละกอนเมื่อเดือนตุลาคม 2557  ใช้เงินจัดงานถึง 15 ล้านบาท มีการจัดแสดงแสงสีเสียง และการเดินแฟชั่นโชว์หน้าศาสนสถานที่เป็นที่เคารพ กราบไหว้ของคนทั่วไป

การจัดให้มีการเดินแฟชั่นโชว์หน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมานานกว่า 1,300 ปี ไม่เหมาะไม่ควรอย่างยิ่ง

ขณะที่คนพื้นที่อำเภอเกาะคาที่เป็นสถานที่จัดงานยังไม่รู้เรื่องเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ แล้วนับประสาอะไรกับคนต่างถิ่นต่างแดน การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบกิจกรรมนั้นต้องทำทั้งวงกว้างเพื่อนให้คนต่างถิ่นต่างแดนรู้ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ที่จะเป็นกระบอกเสียงได้เป็นอย่างดีที่จะบอกปากต่อปาก ไม่ใช่ใช้เพียงสื่อออนไลน์ อัพรูปแล้วก็ตะโกนบอกว่านี่คือการประชาสัมพันธ์แล้ว

ก่อนหน้านั้นงานหลวงเวียงละกอนลำปางเคยจัดมาหลายครั้งแล้วติดต่อกัน แต่งดการจัดงานมานานถึง 20 ปี ซึ่งละครั้งการจัดงานจะเน้นให้คนชมรู้ประวัติความเป็นมาของวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นหลัก

งานหลวงเวียงละกอน เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่อาจทำให้คนลำปางเริ่มรู้สึกได้ว่า งานหลายงานที่ราชการจัดขึ้นหรือเอกชนร่วมกับหน่วยงานราชการจัด เพียงเพื่อใช้งบประมาณนั้น คือการคอรัปชั่นซึ่งหน้า ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1066 วันที่ 12 - 18กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์