วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทวงป่าด้วยปาก



ม้พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย จะลดลงจนเกือบเหือดแห้งเป็นทะลทราย ถึงกระนั้นก็ยังมีป่าให้ทำลาย หักโค่น จนกระทั่งเผาเพื่อเปิดพื้นที่รุกป่า

เป็นการเผาไร่ข้าวโพด !

เคยได้อ่านบทความ เมื่อราว ปีที่ผ่านมาของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี นักเขียนและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ภาพภูเขาหัวโล้นสุดลูกหูลูกตาในเขตจังหวัดน่าน ที่นักอนุรักษ์เห็นแล้วคงปวดหัวใจ พร้อมข้อความในเฟสบุกส่วนตัว โดยระบุว่า ตั้งแต่ทำข่าวสิ่งแวดล้อมมาร่วม 30 ปี ยังไม่เคยเห็นการทำลายป่าครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเท่ากับการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อทำอาหารสัตว์

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย !!!

ข้อมูลจากกรมป่าไม้เผยให้รู้ว่า ปัจจุบันป่าไม้ไทยเหลือแค่ 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แทบจะรั้งท้ายประเทศเพื่อนบ้าน (จีนเหลือป่าไม้น้อยสุด คือ 22 เปอร์เซ็นต์) ภาคเหนือของเราแม้จะเหลือพื้นที่ป่ามากที่สุดในประเทศไทย คือ 56 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเลยสักนิด เมื่อวันชัยชี้ว่า ในอนาคต การทำลายป่าต้นน้ำเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดจะทำให้แม่น้ำปิง วัง” ยม น่าน ไม่มีน้ำ เพราะป่าต้นน้ำนั้นสำคัญมาก เมื่อฝนตก ป่าจะซับน้ำฝนไว้เกือบหมด แล้วจึงค่อย ๆ ปล่อยน้ำให้ไหลออกมา ทำให้แม่น้ำมีน้ำมาเติมตลอดในช่วงฤดูแล้ง แต่เมื่อป่าต้นน้ำกลายเป็นไร่ข้าวโพด พอฝนตกลงมา น้ำจะไหลลงสู่ข้างล่างหมด ไม่มีป่าคอยเก็บกักน้ำ พอถึงฤดูแล้ง จะไม่มีน้ำในแม่น้ำอีกต่อไป

วันชัยยังแฉข้อมูลน่าตกใจว่า ต้นเหตุแห่งปัญหาหมอกควัน คือ พื้นที่ภูเขานับล้านไร่ทางภาคเหนือที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นไร่ข้าวโพดนับล้านไร่ รัฐบาลกล้าไหมครับที่จะประกาศออกมาว่า ปัญหาใหญ่ คือ บริษัทเกษตรรายใหญ่เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านบุกรุกป่าปลูกข้าวโพด เพื่อตัวเองจะได้รับซื้อเป็นอาหารสัตว์ แถมยังขายเมล็ดพันธุ์กับชาวบ้านอีก

เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพด ชาวบ้านก็ต้องเผาซากไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ เป็นวงจรอุบาทว์ทุกปี ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือจึงไม่เคยแก้ไขได้ ตอนนี้ภูเขาประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มหัวโล้น เพราะมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดกันหลายล้านไร่ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เกษตรรายเดียวกันกับบ้านเราหรือไม่

นอกจากนี้ วันชัยยังได้ตั้งข้อสังเกตหลายข้อด้วยกัน เช่น ทำไมพืชเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญจึงมีแค่ 4 ชนิด คือ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน หรือเพราะประธานและรองประธานสภาหอการค้าเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลและบริษัท เกษตรกรรมรายใหญ่ เช่นนั้นเมื่อชาวบ้านเผาป่าเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพดจึงไม่มีใครกล้าจับ และถึงแม้ว่าจะมีการทำลายป่าหลายล้านไร่เพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด แต่ชาวบ้านยังเป็นหนี้เป็นสินเหมือนเดิม ถามว่าบริษัทใดมีกำไรมหาศาลทุกปี ทั้งนี้ เขายังเรียกร้องให้ประธานบริษัทดังกล่าวออกมาขอโทษประชาชนภาคเหนือ โดยชี้ว่าสิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ บอกความจริงให้ประชาชนรู้

อย่าปฏิเสธความรับผิดชอบเลยครับ กล้าไหมครับ ที่ซีอีโอของบริษัทจะแถลงข่าวยอมรับผิดว่า มีส่วนในการทำให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาไร่ข้าวโพดที่บริษัทตัวเองมีส่วนในการเข้าไปส่งเสริม และสัญญาว่า นโยบายการดูแลรักษาป่า คือ นโยบายหลักของบริษัทที่จะกระทำอย่างจริงจัง จะไม่ส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพด หรือรับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ป่าต่อไป หากทำได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาร่วมกันครับ

เราต่างรู้อยู่เต็มอกว่า ในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ล้วนมีค่า PM 10 (ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา ไมครอนเป็นหน่วยวัด โดย 10,000 ไมครอน เท่ากับ 1 เซนติเมตร) ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองในอากาศที่หากสูดเข้าไปจะมีผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจ วัดได้สูงเกิน 300 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ทั้ง ๆ ที่ค่ามาตรฐานของประเทศไทยกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 120 ดัชนีชี้วัด อีกประการหนึ่ง คือ จำนวน Hot Spot ที่แสดงผลโดยการสำรวจทางดาวเทียม พบว่า มีจำนวนมากจนน่าตกใจ ทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

น่าคิดตามวันชัยที่ว่า น่าอนาถใจที่เราเปลี่ยนพื้นที่ป่าต้นน้ำหลายสิบล้านไร่ ซึ่งมีคุณค่าเหลือคณานับ เพื่อให้กลายเป็นไร่ข้าวโพดให้หมู เป็ด ไก่ กิน...

มาวันนี้ สิ่งที่วันชัยตั้งข้อสังเกตส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการแล้งน้ำและหมอกควันที่เป็นปัญหาโลกแตก ประกาศ 100 วันห้ามเผา เผางบประมาณปีแล้ว....ปีเล่า เราก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้อย่างเป็นรูปธรรมกันเสียที

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ปัญหาหมอกควันจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็น วาระแห่งชาติ” ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลจะกล้าประกาศว่าต้นเหตุแห่งการบุกรุกป่า ต้นเหตุที่ป่ากลายเป็นไร่ข้าวโพดอยู่ที่ตรงไหน

หากเราไม่เอาจริงเอาจัง ก็ต้องยอมรับชะตากรรมสูดควันอย่างนี้เรื่องไป เพราะมัวแต่ทวงผืนป่าด้วยปาก ไม่ลงมือทำเสียที
  
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1067 วันที่ 19 - 25 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์