วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เอกชนรุกเงียบโรงไฟฟ้าชีวมวล รวบรัดฟังชาวบ้านโหวตพรึบเกินครึ่ง



บริษัทเอกชนรวบรัดประชาคมบ้านปงใต้ ต.ปงยางคก โครงการรับซื้อเศษวัสดุทำโรงไฟฟ้าชีวมวล เล็งที่ดินเอกชนตั้งห่างจากหมู่บ้าน 3 ก.ม. ชาวบ้านร่วมประชุมกว่า 100 คน ยกมือให้ผ่านเกินครึ่ง ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยยื่นร้องเรียนขั้นตอนยังไม่ถูกต้อง ไม่มีนักวิชาการให้ความรู้ โดยมีการประชุมเพียงครั้งเดียว  ด้านนายอำเภอห้างฉัตรอยู่ระหว่างการตรวจสอบความชัดเจนในการดำเนินการ

หลังจากเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค.58 ที่ผ่านมา  มีบริษัท นอร์ทเทิร์น รีนิวเอเบิ้ล เอเนอร์จี้ จำกัด  ได้เข้ามาดำเนินการจัดประชุมประชาคมเกี่ยวกับโครงการรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน ผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ที่ศาลาการเปรียญวัดพระงาม บ้านข่วง หมู่ 10 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง แต่ปรากฏว่าชาวบ้านไม่เห็นชอบในการทำโครงการดังกล่าว เรื่องจึงได้เงียบไป และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ.59 ที่ผ่านมา  บริษัท นอร์ทเทิร์น รีนิวเอเบิ้ล เอเนอร์จี้ จำกัด  ได้เข้ามาจัดประชุมประชาคมอีกครั้งที่ศาลาการเปรียญ วัดบ้านปงใต้  หมู่ 7 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยมีชาวบ้านมาร่วมประมาณ 100 คน   และได้มีการยกมือผ่านมติในการประชุมครั้งนี้เกินครึ่งหนึ่ง

นายสวัสดิ์ พงษ์จันทร์ตา ผู้ช่วยกำนัน ต.ปงยางคก เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เข้ามาจัดประชุมประชาคมหมู่บ้าน โดยมีทหารชุดมวลชนสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สภ.ห้างฉัตร  เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย และมีชาวบ้านร่วมประชุมกว่า 100 คน ซึ่งทางบริษัทได้มีการนำวีดีทัศน์มาให้ดู และแจ้งรายละเอียดให้ทราบ  โดยจะรับซื้อเศษไม้จากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 80 สตางค์ เพื่อนำไปอบผลิตเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้า  เนื่องจากในหมู่บ้านมีอาชีพทำเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ต่างๆจากไม้ฉำฉาและไม้จามจุรีถึง 50 โรงงาน และจะมีเศษไม้มากกว่าวันละ 100 ตัน  เดิมชาวบ้านจะนำไปขายที่ จ.ลำพูนกิโลกรัมละ 70 สตางค์  บางส่วนนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาอิฐ  เมื่อบริษัทเข้ามาเสนอซื้อเศษไม้จากชาวบ้านในราคาที่ดี ประกอบกับทางบริษัทก็ยืนยันว่ามีเทคโนโลยีที่สะอาด มีการลงทุนหลายร้อยล้านบาท ชาวบ้านจึงยกมือเห็นด้วยที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่  โดยที่ตั้งทราบว่าเป็นที่ของเอกชนหลายสิบไร่ เป็นป่าห่างจากหมู่บ้านออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร

ขณะเดียวกันด้านแหล่งข่าว เปิดเผยกับลานนาโพสต์ว่า การจัดประชุมประชาคมดังกล่าวมีการประกาศแจ้งทางเสียงตามสายอย่างกะทันหัน และมีการประชุมเพียงวันเดียวเท่านั้นก็มีมติให้ผ่านเลย ซึ่งชาวบ้านที่ไปร่วมประชุมประมาณ 100 คน ก็มีแต่คนเฒ่าคนแก่ไม่มีกลุ่มวัยกลางคนหรือวัยทำงานเลย  มีคนยกมือให้ผ่านประมาณ 60 คน แต่มีการเหมารวมว่าเป็นการผ่านประชาคมทั้งที่ในหมู่บ้านมีกว่า 1,000 คน คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะการจะทำประชาคมนั้นต้องเข้ามาประชุมทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับชาวบ้านก่อน ไม่ใช่ทำได้แค่เพียงวันเดียว เพราะมีหลายหมู่บ้านใกล้เคียงที่อาจจะได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าว  และในวันประชุมก็มีแต่เจ้าหน้าที่บริษัท กับผู้นำชุมชนที่มาให้ข้อมูล ไม่มีฝ่ายทางเทศบาล ทางอำเภอ ไม่มีการนำนักวิชาการที่มีความรู้น่าเชื่อถือมาให้ความรู้กับชาวบ้าน จึงคิดว่าเรื่องนี้เป็นการดำเนินการที่เร็วเกินไป และไม่ถูกต้องตามขั้นตอน  ตอนนี้มีกลุ่มไม่เห็นด้วยอยู่แต่เขาไม่แสดงตัวออกมา ซึ่งน่าจะมีการยื่นร้องเรียนในเรื่องนี้ไปที่จังหวัดแล้ว

ลานนาโพสต์ยังได้สอบถามไปยังนายย้าย ฮาวคำฟู นายกเทศมนตรี ต.ปงยางคก เกี่ยวกับการทำประชาคมดังกล่าว  นายกเทศมนตรี กล่าวว่า  เบื้องต้นทราบว่าบริษัทได้เข้าไปทำประชาคมที่บ้านปงใต้ หมู่ โดยมีเฉพาะบ้านปงใต้มาร่วมประชาคม แสดงความคิดเห็น  ก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือจากทางบริษัทส่งมาที่เทศบาลให้ไปร่วมเข้าสังเกตการณ์ทำประชาคม ก่อนที่จะมีการประชุมเพียง 1 วันเท่านั้น  ซึ่งคิดว่าไม่ถูกต้อง  แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านก็ไปร่วมประชุมเป็นร้อยคน ทราบว่ามีผู้มาประชุมยกมือผ่านเกินครึ่งหนึ่ง จากนั้นเขาได้มีการส่งหนังสือแจ้งมาทางเทศบาล จึงได้แจ้งว่าให้ทำหนังสือส่งไปที่อำเภอด้วย เพราะในวันประชุมทั้งเทศบาลและทางอำเภอก็ไม่ได้ไปเข้าร่วม การจะดำเนินการอย่างไรต่อไปก็อยู่ที่ทางนายอำเภอจะเป็นผู้ตัดสินใจ ทราบว่าจะมีการเรียกพูดคุยกันอีกครั้ง  เพราะในเรื่องนี้มีชาวบ้านบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและมีหนังสือไปทางจังหวัดแล้ว

เมื่อสอบถามไปยังที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร ทราบว่า ในเบื้องต้นทางกำนัน ต.ปงยางคก ได้มีหนังสือแจ้งถึงนายอำเภอห้างฉัตรว่าชาวบ้านปงใต้ได้มีมติเห็นชอบในโครงการดังกล่าว  ซึ่งขณะนี้นายอำเภออยู่ระหว่างตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการอยู่ว่าถูกต้องหรือไม่ และจะได้มีการเรียกประชุมทุกฝ่ายอีกครั้ง 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1067 วันที่ 19 - 25 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์