วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สื่อ แถวตรง !


นบรรดาเรื่องราวที่สังคมเหนื่อยหน่าย และรกสมองมากเรื่องหนึ่ง คืออาการหงุดหงิดรำคาญใจกับการทำงานของสื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่าทีของสื่อที่โต้ตอบนายกรัฐมนตรี มากบ้าง น้อยบ้าง คล้ายสื่อได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตามหน้าที่ของความเป็นสื่อที่ดีแล้ว
           
แรกๆ องค์กรวิชาชีพสื่อก็รู้สึกเดือดร้อนที่ผู้ร่วมวิชาชีพถูกกล่าวหา บ่อยๆ ซ้ำๆ เหมือนฟังนักวิชาการ เหมือนฟังคนนอกวงการวิพากษ์ วิจารณ์คนในอาชีพสื่อ ยิ่งเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งควรจะหนักแน่นและไม่กล่าวหาใครง่ายๆ ยิ่งต้องทำความเข้าใจ พูดจากันมาก
             
แต่นานวันเข้า ก็กลายเป็นเรื่องไร้สาระ และไม่ควรไปต่อปากต่อคำ ผมจึงให้ความเห็นกับผู้นำองค์กรวิชาชีพบางคนว่า อย่าได้ไปใส่ใจโต้ตอบแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กับพล.อ.ประยุทธ์ ให้เสียเวลา เพราะการแสดงออกของเขา จะยิ่งสั่งสมภาวะผู้นำที่ชวนเสื่อมศรัทธามากขึ้น และจนถึงวันที่ผู้คนสามารถพูดความจริงได้เต็มคำแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกลากไปขยี้ยิ่งเสียกว่าผู้นำเผด็จการคนอื่นๆ
           
เพราะทหารเคยชินกับวัฒนธรรมองค์กร แบบ “สั่ง” และ “ฟัง” เท่านั้น ไม่มีโต้แย้ง ไม่มีความเห็นต่าง เมื่อเขาเข้าสู่การเมือง โดยหลงลืมบทบาทความเป็นผู้นำประเทศ ที่มิใช่ผู้นำกองทัพอีกต่อไป น่าเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวข้ามฐานะผู้นำกองทัพมาแต่กาย แต่ใจไม่ได้มาด้วย
           
อย่างไรก็ตาม ท่าทีที่เป็นทางการครั้งสุดท้าย ที่ส่งผ่านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลอาจจำเป็นต้องอธิบาย
           
 “นายกฯ ห่วงเป็นพิเศษ สำหรับสื่อมวลชนที่ยังขาดจรรยาบรรณปล่อยให้นักการเมือง นักปลุกระดมบางกลุ่มบางคนที่มีวาระซ่อนเร้น มาใช้สื่อเป็นช่องทางนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน สร้างความสับสนในสังคม พูดขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว ขยายความขัดแย้งในประเทศไม่รู้จักจบสิ้น ที่สำคัญ ข้อมูลเท็จและกล่าวให้ร้ายต่อสถานการณ์ภายในประเทศจากบุคคลเหล่านี้ เมื่อมีการเผยแพร่ออกไป ยังทำลายภาพลักษณ์ของชาติในสายตาประชาคมโลก ที่อาจไม่เข้าใจสถานการณ์จริงของประเทศไทย..
           
ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือยุคสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวไกล ผู้คนสามารถเข้าถึงช่องทางสารที่หลากหลายไม่จำเป็นต้องรอฟังวิทยุ รอดูโทรทัศน์ตามเวลา พวกเขาเลือกรับสารได้อย่างอิสระ ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของกาลเวลาและสถานที่อีกต่อไป จะมีใครสักคนจะยอมรับสื่อที่บิดเบือนได้อีก
           
ตรงกันข้าม รายการบางรายการที่บังคับให้คนดู บางรายการที่มีเนื้อหาซ้ำๆ ถามตอบกันอย่างแห้งแล้ง มีแต่ด้านบวก ด้านดีที่ผู้นำกองทัพเรียกว่า รายการสร้างสรรค์ รายการประเภทนั้นต่างหากที่บิดเบือน สร้างความสับสนในสังคม
           
และถึงแม้จะไม่พูดขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว แต่แค่พูดความจริงไม่หมด ก็เรียกว่า บิดเบือนแล้ว
           
ซึ่งหากไม่บิดเบือน อย่างน้อยรายการประเภท “จับโกงอุทยานราชภักดิ์” ควรจะปรากฏให้เห็นบ้างแล้วในช่วงเวลาบังคับดู
           
นอกจากนั้น โฆษกรัฐบาลยังสอนสั่งวิธีการทำงานของสื่อ
           
 “..สื่อยังควรระมัดระวังการเสนอข่าวในเชิงชี้นำหรือนึกคิดสรุปไปเอง โดยปราศจากข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเพียงผิวเผิน บางจุดบางประเด็นโดยปราศจากความพยายามที่จะเข้าใจเจตนารมย์สำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าทำไปเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง ความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ให้กลับมาเกิดซ้ำรอยอีก และป้องกันคนโกงคนเลวไม่ให้เข้ามามีอำนาจ แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของชาติ”
           
ความพยายามที่จะจัดแถวสื่อให้ตรง เหมือนจัดแถวทหาร คงไม่มีวันสำเร็จ เพราะโลกทัศน์ต่างกัน วัฒนธรรมองค์กรต่างกัน
           

แต่การเคารพบทบาท หน้าที่ซึ่งกันและกัน ไม่กล่าวร้ายป้ายสีกันในเรื่องที่ไม่รู้จริง ก็ควรเป็นหลักที่ปฏิบัติได้ และทำให้เรื่องรกสมองด้วยขยะอารมณ์เหล่านี้ ไม่รบกวนผู้คนมากจนเกินไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1065 วันที่ 5 - 11 กุมภาพันธ์ 2559)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์