วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

รุกที่ป่า ปลูกข้าวโพด 70%วอด บ.ข้ามชาติขาย

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ซินเจนทา-มอนซานโต้ บริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ยึดตลาดข้าวโพดลำปาง ใช้ งาว-แจ้ห่ม เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์  ส่วนวังเหนือ-เมืองปานเน้นปลูกฝักขาย  นักวิชาการเผยลำปางปลูกมากอันดับ 3 ของภาคเหนือ70 เปอร์เซ็นต์รุกป่า  ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองพันธุ์ปลูกหลังนา หวังลดปัญหาบุกรุกได้

ดร.กัญญาณัช ศิริธัญญา  ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดเผยว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรปลูก เอาไปใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว เริ่มปลูกทาง จ.เพชรบูรณ์ ไล่ขึ้นมาถึงภาคเหนือ  เหตุที่ต้องปลูกข้าวโพด เพราะประเทศไทยมีการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก ส่วนประกอบที่จะต้องใช้ทำอาหารสัตว์ก็คือข้าวโพด  ซึ่ง จ.ลำปางเป็นพื้นที่กำลังขยาย ปลูกมากเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ ส่วนอันดับแรกคือ จ.น่าน  และ อ.แม่สอด จ.ตาก อันดับที่ 2

เดิมพันธุ์ข้าวโพดใช้พันธุ์ผสมปล่อย สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ ต่อมามีการวิจัยและค้นพบว่าข้ามโพดเป็นพืชผสมข้าม การทำให้เป็นข้าวโพดลูกผสมจะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น พันธุ์แรกของประเทศไทย คือ สุวรรณ ให้ผลผลิตเพิ่มจากเดิม 20 เปอร์เซ็นต์  แต่ข้าวโพดลูกผสมจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ เนื่องจากในรุ่นที่สองผลผลิตจะตกลงและไม่มีความสม่ำเสมอ  เกษตรกรจึงต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้ง จึงเป็นเงื่อนไขมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 จนถึงทุกวันนี้  และเข้าสู่วงจรธุรกิจเมล็ดพันธุ์ลูกผสมของข้าวโพด เพื่อให้เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ และเพิ่มการใช้ยาใช้สารเคมีพ่วงมาด้วย เมื่อได้ผลผลิตดีเกษตรกรก็นิยมปลูกมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น  ดังนั้นพันธุ์ข้าวโพดผสมปล่อยจึงลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แทบไม่เหลือ

ดร.กัญญาณัช  กล่าวว่า กรณีเกษตรพันธะสัญญา มี 2 กลุ่ม คือผูกขาดซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเป็นชุดร่วมไปกับปุ๋ยและยา จะเป็นกลุ่มบริษัทที่มีเซลมาขาย  อีกกลุ่มคือกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ จะเป็นคู่พันธะสัญญาให้เกษตรกรปลูกตัวพ่อและตัวแม่ผสมกัน เมล็ดที่ได้ต้องเก็บขายให้กับบริษัทเท่านั้น ผิดสัญญาไม่ได้ เรียกว่า กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม  ทางภาคเหนือมีกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมอยู่ที่ อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  , อ.งาว  อ.แจ้ห่ม  จ.ลำปาง  , อ.แม่สอด จ.ตาก  เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่หุบเขาเพราะต้องระวังไม่ให้ละอองเกสรตัวผู้ปลิวไปติดเมล็ดพันธุ์อื่น  ขบวนการนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องและต้องซื้อขายกับบริษัทเท่านั้น

การซื้อขายจะมีโบรกเกอร์หลายตัว คือ เซลขายเมล็ดพันธุ์ลูกผสม  ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกซึ่งส่วนใหญ่รุกล้ำพื้นที่ป่าเขา  เกษตรกรนิยมปลูกมากเพราะมีเซลส่งถึงที่ และมารับซื้อส่งเข้าโรงงาน โดยที่เกษตรกรเป็นผู้ปลูกอย่างเดียว ไม่ต้องวิ่งหาตลาด เมื่อมีเงินมาให้ถึงที่ถึงแม้จะกำไรไม่มากมายก็ดีกว่าไม่ได้อะไร  ก่อนขายจะมีแปลงสาธิตให้เกษตรกรได้ดู พันธุ์ไหนดีกว่า หรือว่าพื้นที่นั้นเหมาะกับพันธุ์ไหนเกษตรกรก็จะเลือกซื้อ ไร่หนึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 70-150 บาท
ส่วนราคารับซื้อขึ้นอยู่กับตลาด ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 7.85 บาท  เซลมารับซื้อและส่งโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งตลาดประเทศไทยผลผลิตไม่พอขาย

ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา  กล่าวต่อไปว่า อยากให้เกษตรกรย้อนกลับไปใช้พันธุ์ผสมปล่อย หรือทำให้เกษตรกรเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมขายเองโดยที่ไม่ต้องรับซื้อจากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งมีงานชิ้นหนึ่งของ ดร.ชุติมา คชวัตร  จากสถาบันพืชไร่ เรื่องการให้เกษตรกรได้ฝึกหัดผลิตเมล็ดพันธุ์และรู้จักขั้นตอนทำเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดในแปลงของเกษตรกรเอง โดยนำเมล็ดพันธุ์พ่อแม่มาจากกรมวิชาการเกษตร  ตอนนี้มีกลุ่มสหกรณ์ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นของคนไทยที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมออกมาขายแล้ว 

สำหรับที่ จ.ลำปาง โดยสภาเกษตรจังหวัดลำปางและ ธ.ก.ส. เห็นว่าในกรณีที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น เพื่อปลูกข้าวโพด ส่งผลเรื่องสภาพแวดล้อม หมอกควัน ไฟป่า จึงมีการพูดคุยกันในกลุ่มว่า กรณีที่จะปรับเปลี่ยนข้าวโพดจากดอยลงมาในที่ราบ คือ การปลูกหลังนา แต่ต้องทดสอบหาพันธุ์ที่ทนต่อสภาพของดินร่วนปนดินเหนียวของภาคเหนือได้ โดยมีเหตุผลคือการลดต้นทุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ สามารถปลูกในสภาพหลังนาได้โดยไม่ต้องทำลายป่า เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตัดวงจรพันธะสัญญา  ซึ่งการปลูกหลังนาอย่างน้อยต้องใช้เวลาทดลอง 5 ปี  เพราะข้าวโพดเป็นพืชไร่ไม่เหมาะกับการปลูกในนา จึงต้องทำการทดลองให้ได้พันธุ์ที่ทนต่อสภาพดินได้  

นายถิรภัทร บาสืบ ฝ่ายการตลาด กลุ่มวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์  เปิดเผยว่า ในฤดูกาลปลูกปี 2559 นี้ บริษัทที่เข้ามาขายเมล็ดพันธุ์ได้เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือคือ บริษัทไพโอเนีย รองลงมาคือ ซินเจนทา  แปซิฟิก  มอนซานโต้  ตามลำดับ ส่วนบริษัทซีพียอดทางภาคเหนือตกลงเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ใกล้เคียงกับกลุ่มเชียงใหม่อุตสาหกรรม (SME) ที่ขายได้ 10 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน  ซึ่งซีพีจะมียอดขายที่ภาคกลางมากกว่า  ในส่วนของ จ.ลำปาง บริษัทที่ขายเมล็ดพันธุ์ได้มากที่สุดคือ บริษัทซินเจนทา โดยเฉพาะที่ อ.วังเหนือมากถึง 80 เปอร์เซ็น และ 10 เปอร์เซ็นต์เป็นของบริษัท มอนซานโต้ และแปซิฟิก   ส่วนที่ อ.เมืองปาน เป็นของบริษัทไพโอเนียและซินเจนทา ตามลำดับ  นอกจากนั้นที่ จ.ลำปาง ยังเป็นพื้นที่เกษตรพันธะสัญญา โดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับบริษัทมอนซานโต้ และเชียงใหม่อุตสาหกรรม ที่ อ.แจ้ห่ม   ส่วนที่ อ.งาว จะเป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับบริษัทซินเจนทา

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าว ซึ่งเป็นนักวิชาการเกษตรท่านหนึ่ง ระบุว่า พื้นที่การบุกรุกป่าปลูกข้าวโพดนั้นมีในทุกอำเภอ ไม่ว่าจะเป็น อ.แม่ทะ   แม่เมาะ  งาว   วังเหนือ  เมืองปาน  แจ้ห่ม   ซึ่งไม่มีตัวเลขพื้นที่ระบุชัดเจนว่ามีทั้งหมดกี่ไร่  แต่หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว พบว่ามีการบุกรุกมาถึง 70 เปอร์เซ็นต์  ในขณะที่พื้นที่การปลูกถูกต้องมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1069  วันที่ 4 - 10  มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์