วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

รถของเราทนทานแค่ไหน


จำนวนผู้เข้าชม 

มีคนสงสัยกันมากครับ ว่ารถยนต์สมัยนี้มันทนทาน มีอายุยืนยาวได้ขนาดไหน ผมขอจำกัดให้แคบลงหน่อย คือ ขอกล่าวถึงเฉพาะรถยนต์นั่งแบบที่ผู้อ่านใช้กันอยู่เท่านั้น บางคนนึกถึงระยะทางที่รถถูกใช้ บางคนก็ดูอายุของรถ หรือ "เวลา" เป็นหลัก

ไม่มีฝ่ายไหนผิดครับ เพราะบางส่วนเสื่อมตามเวลาหรืออายุขัย บางส่วนเสื่อมตามระยะทาง และมีบางส่วนที่เสื่อมตามทั้ง กรณี กับพวกสุดท้ายที่นานแค่ไหนก็ไม่เสื่อม และใช้งานไปเป็นระยะทางมากแค่ไหน ก็ไม่เสื่อมเหมือนกัน แบบที่เสื่อมตามกาลเวลา คือ พวก ยาง วัสดุสังเคราะห์ต่างๆ เส้นไยธรรมชาติ เช่น ยางขอบประตู ขอบหน้าต่าง ซีลกันรั่ว แหวนยางต่างๆ ผ้าหุ้มเก้าอี้ แผงประตู (ถ้ามี) ฟองน้ำในเก้าอี้

พวกที่เสื่อมตามระยะทางเป็นชิ้นส่วนที่มีการเสียดสีของโลหะ เช่น แหวนลูกสูบกับกระบอกสูบ ก้านวาล์วกับปลอกวาล์ว เพลาลูกเบี้ยวกับถ้วยวาล์ว หรือกระเดื่องวาล์ว แบริงก้านสูบกับเพลาข้อเหวี่ยง ส่วนนอกเครื่องยนต์ ก็เป็นข้อต่อเพลา จุดยึดต่างๆ ของช่วงล่าง ฯลฯ

ส่วนกลุ่มที่ทนทานแทบกำหนดอายุขัยไม่ได้ เช่น กระจกบังลม กระจกหน้าต่าง ตัวถังรถส่วนที่ไม่ถูกความชื้น ถ้าทำความสะอาดก่อนพ่นสีรองพื้นมาอย่างดี ใช้เหล็กคุณภาพสูงมาจากโรงงานผลิต ก็จะอยู่ได้นานหลายสิบปี ถ้าไม่ตากแดดประจำ หรือจอดในที่อับชื้นเป็นหลัก พวกนี้สามารถตรวจได้ไม่ยากครับ ใช้สายตาตรวจอย่างละเอียดได้ ชิ้นส่วนของช่วงล่างที่สึกหรอ หลวมคลอนจะส่งเสียงให้ได้ยินอยู่เสมอ เมื่อขับบนผิวถนนขรุขระ ไม่มีรถที่ช่วงล่าง หรือระบบบังคับเลี้ยวหลวม แต่ขับแล้วเงียบครับ ถ้าตั้งใจฟังจะได้ยินเสมอ อายุใช้งานของชิ้นส่วนพวกนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพถนนและนิสัยของผู้ขับ อาจแตกต่างกันได้หลายสิบเท่า เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นเดียวกัน เช่น ใช้งานบนถนนผิวไม่เรียบ โดยผู้ขับที่ไม่ถนอมรถ ไม่หลบหลุม อาจคลอนตั้งแต่ยังไม่ถึง 10,000 กม. แต่ถ้าผิวถนนค่อนข้างเรียบ ผู้ขับหลีกเลี่ยงการถูกกระแทกรุนแรงของล้ออาจอยู่ได้เกิน 200,000 กม.

เครื่องยนต์ของรถสมัยนี้ ถ้าดูแลบำรุงรักษาถูกต้อง อย่างน้อยที่สุดต้องใช้งานได้ 400,000 กม. ครับ ถ้าความจุมาก ยิ่งมีอายุใช้งานสูงขึ้นอีก ไม่ได้หมายความว่า ในช่วงระยะที่ว่านี้จะไม่มีอะไรเสียให้ต้องซ่อมนะครับ ส่วนประกอบปลีกย่อย อาจมีอายุใช้งานต่ำกว่า เช่น ปั๊มน้ำ ซีลหน้าและซีลหลัง เครื่องยนต์ ปะเก็นอ่างน้ำมันเครื่อง ปะเก็นฝาครอบวาล์ว ฯลฯ ถือเป็นเรื่องปกติ ข้อสำคัญ ชิ้นส่วนภายในทั้งหมดต้องไม่สึกหรอก่อนระยะทางที่ผมยกตัวอย่างมา ถ้าใช่ ถือว่าเป็นเครื่องยนต์คุณภาพต่ำครับ ไม่ว่าจะสัญชาติอะไรก็ตาม 

เพราะฉะนั้นถ้าจะเลือกซื้อรถใช้แล้ว เห็นเลขระยะทางใกล้ แสนกม. หรือเกินไปบ้าง ไม่ต้องกังวลครับ ปัญหาอยู่ที่ว่า เลขบอกระยะทางที่เราเห็นนั้น เป็นค่าดั้งเดิมแท้จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะถูกทำให้น้อยลงกว่าที่ถูกใช้งานมาจริง มีสารพัดวิธีครับ ถ้าเป็นแบบเก่าใช้กลไกก็ถอดมาตรวัดออกมาเขี่ย ถ้าเป็นสมัยใหม่ใช้ระบบอีเลคทรอนิคส์ ก็มีวิธีปรับเลขได้เช่นเดียวกัน บางรายก็ใช้วิธีง่ายๆ คือ ปลดสายไม่ให้เลขบอกระยะทางขึ้น ถึงเข็มวัดความเร็วจะไม่ทำงานไปด้วยก็ช่างมัน ดูมาตรวัดรอบเปรียบเทียบแทน เพราะความโลภมันบังตา

หากจะเชื่อว่าเลขบอกระยะทางเป็นค่าแท้จริง ต้องมีสิ่งอื่นมาช่วยยืนยันให้เราเชื่อครับ เช่น นิสัยและพฤติกรรมของเจ้าของรถ แต่อย่าให้ความสำคัญมากนักครับ เพราะคนเราใช้ฝีปากสร้างภาพได้ และใครๆ ก็อยากได้เงินเพิ่มทั้งนั้น หรือเห็นรถนี้อยู่เป็นช่วงเวลาสม่ำเสมอ คุ้นเคยกับเจ้าของรถ และรู้ระยะทางที่รถถูกใช้ประจำวัน หรือในแต่ละเดือน แบบนี้ก็ไม่น่าจะผิดพลาดครับ หรืออย่างที่สาม ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อไม่รู้จักเจ้าของรถมาก่อน และเป็นรถที่ถูกใช้งานปานกลางหรือค่อนข้างมาก เช่น ประมาณวันละ 100 กม. หรือมากกว่านั้น ยกตัวอย่าง เช่นเดือนละ 3,000-4,000 กม. รถก็จะถูกส่งเข้าศูนย์บริการทุกๆ 3-5 เดือน ในใบเสร็จรับเงิน จะมีรายการซ่อมบำรุงต่างๆ พร้อมทั้งระยะทางที่รถถูกใช้ ถ้าเจ้าของรถมีใบเสร็จที่สะสมไว้ช่วยยืนยัน ดูแล้วไม่น่าเป็นหลักฐานปลอมที่ทำขึ้น แบบนี้น่าเชื่อถือครับ แต่ถ้าขาดตอนไปเป็นปี แต่มีใบเสร็จครบตามระยะทาง แล้วอ้างว่าใช้น้อยมากต้องระวังครับ หากจะเชื่อต้องมีสิ่งอื่นช่วยยืนยัน

การปรับระยะทางแล้วเอามาหลอกผู้ซื้อว่ารถถูกใช้งานมาน้อยกว่าที่เป็นจริงนี้ ที่จริงแล้วเข้าข่ายก่ออาชญากรรม ไม่ต่างจากการฉ่อโกงทรัพย์ ต้มตุ๋น แต่กฎหมาย "เอื้อม" ไม่ถึง ไม่ต่างจากการเอาทองคำเคลือบโลหะอื่น มาหลอกขายในรูปทองคำแท้ทั้งเนื้อ ระวังกันให้เต็มที่ครับ

จากประสบการณ์ของผม ถ้าไม่ชัดเจนแน่นอนจริงๆ แล้ว ล้วนไม่ใช่เลขจริงดั่งเดิมครับ ไม่ใช่ที่เรานึกว่า คงไม่ใช่หน้าตา ท่าทาง พูดจาอย่างนี้ คงไม่ทำ ดูสภาพรถแล้ว "ไม่น่า" เมื่อนั้นละครับ รับรองว่า โดนต้มแน่นอน "แล้วจะให้ทำยังไง ?" "แบบนี้ก็ไม่ต้องซื้อรถใช้แล้วกันแล้วละ"

มีทางออกครับ 

นั่นคือ ไม่ต้องไปสนใจเลขบอกระยะทาง เปรียบเทียบราคากับสภาพที่เราตรวจสอบได้ ถ้าเราเห็นเลข หมื่นกว่ากม. (นิยมมากกับรถสภาพดี) คิดเสียว่ามันคงอยู่แถวๆ แสนกับหลายหมื่น หรือ แสนกม. หรือ เห็นเลข แสน กับ หมื่นกม. (สภาพมันไม่ดีพอจะหลอกว่าไม่ถึงแสน ก็ทำใจว่ามันคงผ่านระยะทางมาเกือบ แสนกม.) ไม่ต้องไปสนใจครับ ไม่มีวันหาความจริงได้ ตรวจเครื่องยนต์ว่ายังไม่มีเสียงหลวมคลอนขณะทำงาน ลองขับดูมีกำลังในระดับที่รถรุ่นนี้ควรจะมี รอให้เครื่องยนต์ร้อนถึงอุณหภูมิใช้งานปกติ แล้ว ให้คนไปเร่งเครื่อง แล้วถอนคันเร่ง 3-4 ครั้ง ถ้าไม่เห็นควันออกจากปลายต่อไอเสีย ก็ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าเห็นปลายท่อไอเสียชุ่มไปด้วยคราบน้ำมันเครื่อง ก็ไม่ต้องรอดูควันแล้ว ถ้า "ผ่าน" ก็ต่อรองราคากันไปตามสภาพที่ตรวจสอบได้ครับ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1068 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์