วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

ใครหว่า ? โฆษณาแฝง ถลุงเงินหลวง สร้างภาพ

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter
           
นห้วงเวลา ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีความพยายามผลักดัน กฎหมายโฆษณาภาครัฐ ที่เปิดช่องให้ข้าราชการ นักการเมืองทั้งหลาย ใช้เงินภาษีไปสร้างภาพตัวเอง โดยเฉพาะโฆษณากลางแจ้งขนาดใหญ่ ที่เน้นโฆษณาภาพลักษณ์ มากกว่าผลงานของหน่วยงาน
           
แต่กฎหมายนี้ เมื่อมาถึง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กลับถูกลืม ซ้ำเชื้อโรคร้ายในการใช้เงินรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองก็ระบาดจากเมืองใหญ่ มาถึงเมืองเล็กๆอย่างเมืองนี้
           
การใช้เงินรัฐ มาโฆษณาตัวเองจนผู้คนสำคัญว่าเป็นการโฆษณาของหน่วยงานเป็นปกตินี้ เรียกว่าโฆษณาแฝง
           
ขึ้นชื่อว่าการโฆษณาย่อมหมายถึงการทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า ธุรกิจ หรือแม้แต่ตัวบุคคล ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการโฆษณามักจะอยู่ในแวดวงธุรกิจเพื่อเสริมเรื่องยอดขาย แต่มาวันนี้บุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นนายกทุกระดับ รัฐมนตรี รัฐมนโท หรือแม้แต่ฝ่ายปกครองก็มักจะใช้เงินหลวงมีทำการโฆษณาแฝงโดยที่ประชาชนไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกยัดเยียดเนื้อหาการโฆษณาอย่างเนียนๆ
           
แล้วโฆษณาแฝงคืออะไร ??
           
โฆษณาแฝง หมายถึง การปรากฏของผลิตภัณฑ์ หรือตราสินค้าและบริการ เข้าไปในส่วนที่เป็นเนื้อหารายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว ละคร สารคดี เพลง เกมโชว์ เรียลลิตี้ ฯลฯ ที่เราๆท่านๆเห็นปรากฏอยู่ในจอเงินและจอแก้ว หรือแม้แต่ในหนังสือพิมพ์เองก็ตาม
           
ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตรายการและเจ้าของของสินค้า โดยอยู่ในรูปแบบได้ทั้งการตกลงเพื่อส่งเสริมการขาย หรือการจ่ายเงิน ผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ เพื่อผลทางธุรกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่การโฆษณาแฝง จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการส่งข้อมูลสู่ผู้บริโภคผ่านสื่อต่างๆ อย่างแนบเนียน เป้าหมายต่ำสุดคือให้ผู้บริโภค "มองเห็นสินค้า" และโดยมากโฆษณาแฝงเกิดจากค่าใช้จ่ายในการโฆษณา (ตรง) สูง มีผูกขาดเวลาโฆษณาไปหมดแล้ว ดังนั้น ผู้ผลิตรายการจึงใช้โฆษณาแฝงเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับเจ้าของสินค้า และเพิ่มรายได้ให้กับตนเองหรือสถานี ซึ่งเม็ดเงินจากโฆษณาแฝงส่วนใหญ่ไม่ถูกตรวจสอบ
           
โฆษณาแฝงแตกต่างจากโฆษณาปกติตรงไหน ???
           
ตอบง่ายๆก็คือ เวลาเรานั่งดูโทรทัศน์แล้วพักโฆษณา ก็จะเป็นโฆษณาตรง มีการขายสินค้า หรือบริการกันอย่างโจ่งแจ้ง ดังนั้นผู้บริโภคจะรู้ตัวว่านี่คือ “การโฆษณา” และหลีกเลี่ยงที่จะรับชม รับฟังได้ โดยการเปลี่ยนช่องหรือลุกไปทำอย่างอื่นชั่วคราว พอรายการที่เราสนใจออกอากาศ เราก็กลับมานั่งดูต่อ อะไรประมาณนี้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “โฆษณาแฝง” ยิ่งรายการใดที่มีเรทติ้งดีก็มักจะมีการโลโก้ สินค้ามาตั้งวางอย่างเนียนๆ โดยที่เราเองก็ไม่ทันสังเกตแต่กลับกลายเป็นความคุ้นชินที่ได้เห็น อย่างเช่นในรายการเล่าข่าว ส่วนใหญ่ที่เราจะเห็นก็คือแก้วกาแฟสีแดงวางอยู่ เคยเห็นพิธีกร นักเล่าข่าวหยิบขึ้นมาดื่มน้ำกันหรือไม่ รวมถึงคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่วางอยู่กลางโต๊ะ สุดท้ายนักเล่าข่าวก็อ่านข่าวจากกระดาษที่อยู่ตรงหน้าแต่ผู้ชมจะซึมซับยี่ห้อของสินค้าทุกวัน...ทุกวัน
           
ระยะหลังการโฆษณาแฝง ยิ่งแฝงเข้ามามากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ละคร” ไม่ว่าจะเป็นละครหลังข่าว ละครตอนเย็น หรือละครซิทคอม จะมีการแฝงให้ดารานักแสดงหยิบเครื่องดื่มที่เห็นโลโก้ ชื่อสินค้าชัดเจน โทรศัพท์มือถือของนักแสดงจะใช้ยี่ห้อเดียวกันซึ่งมันผิดธรรมชาติของความเป็นจริงมาก หนักกว่านั้นคือ ละครซิทคอม ที่มักจะมีการเซตฉากให้มีร้านขายของชำซึ่งจะจัดวางสินค้าแผ่หลาและตัวละครก็มักจะมารวมตัวกันเมาท์มอยกันสารพัด คนดูก็ดำขำๆกันไปแต่หารู้ไม่ว่าเรากำลัง “ถูกยัดเยียด” โดยที่เราไม่รู้ตัว
           
ที่เลวร้ายกว่านั้นมิติของการโฆษณาแฝงคืบคลานมายังหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรี รวมถึงฝ่ายปกครองตัวเอ้ทั้งหลายที่มักจะใช้งบประมาณหลวง ประชาสัมพันธ์ผลงานตัวเองแบบเนียนๆ
           
เมื่อปี 57 มีข่าวว่า นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ในสมัยนั้น สั่งการเข้มทุกส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ห้ามผลาญภาษีประชาชน ขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์แอบแฝงโฆษณาตัวเอง ย้ำเทศบาลนครเชียงใหม่ และ อบจ.จัดการปลดป้ายที่เคยมีอยู่เดิมให้หมด เพื่อจัดระเบียบป้าย กำจัดทัศนอุจาด ต้อนรับฤดูท่องเที่ยว และกำชับขอความร่วมมือไม่ให้มีการนำเอางบประมาณที่เป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายจัดทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่มีการขึ้นรูปของผู้บริหารหน่วยงาน หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่บนป้ายด้วย ซึ่งเข้าลักษณะการโฆษณาแฝง และประชาสัมพันธ์ตัวเองมากกว่าและยังบอกอีกว่าหากจะมีการทำป้ายใดๆ ก็ขอความร่วมมือไม่ต้องมีการขึ้นรูปเช่นเดียวกัน อย่างมากก็เพียงขึ้นชื่อ และตำแหน่งก็เพียงพอแล้ว ตลอดจนไม่มีความจำเป็นต้องทำป้ายขนาดใหญ่ด้วย หากจะมีการประชาสัมพันธ์การทำงาน หรือผลงานใดๆ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่ตัวบุคคล
           
แม้ว่า โฆษณาแฝง” แม้จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบ แต่กลับ ทรงอิทธิพลเหลือหลายในจิตใต้สำนึก เพราะได้เห็นทุกวัน ได้ยินทุกวัน เหมือนสมัยก่อนที่โปรโมตเพลงทุกช่องโทรทัศน์ วิทยุ คนได้ยินบ่อยๆก็ร้องตามได้ แล้วนับประสาอะไรก็ผู้หลักปักใหญ่ที่ใช้เงินหลวงโปรโมทตัวเอง
           
การโปรโมทตัวเองที่ดีที่สุดคือการลงมือทำแล้วให้ประจักษ์ด้วยผลงาน จะยั่งยืนกว่าการใช้เงินหลวงในการสร้างภาพ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1071 วันที่ 18 - 24  มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์