วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปัญหาเงิน-งานรุมเร้า ยอดฆ่าตัวตายพุ่ง

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

เผยลำปางฆ่าตัวตายพุ่ง ปี 58 พบ 92 ราย เป็นเท่าตัวของเป้าที่ตั้งไว้ วัยทำงานก่อเหตุสูงสุดจากภาระที่ต้องแบกรับหนักกว่าวัยอื่น

การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายใน จ.ลำปาง พบว่ามีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.58 ที่ผ่านมา พบหญิงวัยกลางคนซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาเมืองปาน ได้ใช้เชือกไนล่อนผูกคอจบชีวิตตัวเองภายในห้องน้ำของบ้านพัก  โดย พ.ต.ท.สุภาพ มาภูยศ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปาน ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ หลังได้รับแจ้งเหตุดังกล่าว  ทราบชื่อผู้ตายคือนางพิชญ์สิณี เทวะณาสถิต อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ 36 ถนนสุขสวัสดิ์ ต.พระบาท อ.เมือง ลำปาง จากการสอบสวน ว่าที่ ร.ต.สุภัทร์ เทวนา พนักงาน ธกส.สาขาเมืองปาน และเป็นสามีของผู้ตายให้การว่า ผู้ตายมีอาการปรกติ ไม่มีสัญญาณใดที่จะบ่งบอกว่าจะฆ่าตัว กระทั่งมาพบผูกคอตายอยู่ในห้องน้ำดังกล่าว ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตยังไม่ทราบแน่ชัด อาจจะเกิดจากความเครียดเรื่องโรคประจำตัวคือโรคนอนไม่หลับต้องกินยามาตลอด และความเครียดจากเรื่องงานก็เป็นไปได้  ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ทำการสอบสวนต่อไป

การฆ่าตัวตายจะเกี่ยวโยงกับหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเพศ อายุ ฐานะ  สังคม วัฒนธรรม  จะเห็นว่าประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ ก็ยังพบว่าสถิติการฆ่าตัวตายยังสูงอยู่ จึงบอกได้ว่าการฆ่าตัวตายเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องรวมกัน  รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่แยกกันอยู่มากขึ้น กลายเป็นสังคมเดี่ยว จึงมักจะไม่ทราบเรื่องราวของญาติหรือเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน

จากภาวการณ์ฆ่าตัวตายที่พบว่าเกินขึ้นทุกวัน นายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร  สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการค่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 10 คน หรือเท่ากับ 4,000 คนต่อปี โดยเฉพาะภาคเหนือมีอุบัติการณ์การฆ่าตัวตายสูงมาก ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเพราเหตุใด  ส่วนที่ จ.ลำปางมีสถิติการฆ่าตัวตายที่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นเท่าตัว และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 58 ที่ผ่านมา จ.ลำปางมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 12.23 ต่อประชากร 1 แสนคน   จากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 6.5 ต่อประชากร 1 แสนคน   รวมคนลำปางฆ่าตัวตายทั้งหมด 92 คน   และจากข้อมูลช่วงวันที่ 1 ต.ค.58 ถึง 31 ม.ค. 59  พบว่ามีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 36 คน คิดเป็นอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 4.79 ต่อประชากร 1 แสนคน   และส่วนใหญ่เป็นการฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอตัวเอง เพราะสามารถหาอุปกรณ์ได้ง่าย

วัยทำงานจะฆ่าตัวตายสูงสุด เพราะมีภาระความรับผิดชอบต่างๆมากกว่าวัยอื่น ทั้งจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ตกงาน  ปัญหาครอบครัวชู้สาว และผิดหวังในความรัก  ส่วนกลุ่มเด็กวัยรุ่นหนีไม่พ้นเรื่องความรักและความไม่เข้าใจกันในครอบครัว  และกลุ่มผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องการมีโรคประจำตัวที่รักษามานานและน้อยใจลูกหลานเป็นหลัก  และมักจะพบว่าจะมีเรื่องแอลกอฮอล์มาเกี่ยวข้อง ทำให้ผู้คิดจะก่อเหตุเกิดความเครียดมากขึ้น สิ่งที่เคยคิดจะทำแต่ไม่กล้าทำ พอดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปจะส่งผลให้ตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น  เรื่องแบบนี้เกิดได้ทุกวันและเกิดขึ้นรวดเร็ว

นายแพทย์ศิริชัย  กล่าวว่า  การป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายทำได้ยาก แต่ก็พอมีวิธีคือทางครอบครัวต้องคอยดูแลหากพบว่ามีความผิดปกติ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ต้องคอยเฝ้าระวัง และควบคุมการเข้าถึงเครื่องมือที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย เช่น มีด ปืน เชือก  หรือยาชนิดต่างๆ   นอกจากนั้นจะต้องคอยพูดคุย ใส่ใจ ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือกันและกัน   แต่หากพบปัญหาร้ายแรงจริงๆ และสามารถแก้ไขได้หรือไม่สามารถพามาที่โรงพยาบาลได้ ต้องรีบแจ้งสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323  หรือหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์ 1669  ต้องช่วยกันหาทางออกให้ได้  

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1070  วันที่ 11 - 17  มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์