วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

รับเงิน เอแบคโพลล์ บททดสอบองค์กรสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

นขณะที่สื่อยืนยัน ปฏิเสธการก่อเกิด “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งจะมีอำนาจตามกฎหมายมากำกับ ดูแลสื่อ ด้วยคำอธิบายเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
           
และแม้จะมีความพยายามเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างแพทยสภา สภาทนายความ และสภาวิชาชีพอื่นๆ ที่เป็นองค์กรตามกฎหมาย ที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำกับ ดูแลกันเอง เนื่องเพราะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน มาจากผู้ที่จบจากแขนงวิชาที่หลากหลาย มิใช่วิชาชีพเฉพาะ ที่มีกฏเกณฑ์ ข้อบังคับชัดเจน ถึงกระนั้น ก็มีคำถาม
           
ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อ หรือมิได้มีสถานะพิเศษอื่น แต่ผมก็ยืนยันในหลักการมาตลอดว่า คนในอาชีพสื่อไม่สามารถอยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องจริยธรรม ซึ่งยังมีความสับสนอยู่ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.มีอำนาจในการกำกับดูแลเรื่องจริยธรรม สำหรับสื่อกระจายเสียง และโทรทัศน์อย่างไร
           
ยังไม่ต้องกล่าวถึงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่องค์กรสมาชิกทั้งหมดเป็นเอกชน ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมปทาน หรือการใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติมาทำมาหากิน
           
แต่ถึงกระนั้น ก็มีคำถาม...
           
คำถามสำคัญคือ เมื่อปฏิเสธกฎหมายโดยสิ้นเชิงแล้ว แล้วจะมีหลักประกันอย่างไร ที่สื่อจะกำกับ ดูแลกันเองอย่างได้ผล
           
มีคนที่พยายามตอบคำถามนี้มากมาย ทั้งโน้มน้าวให้เห็นมาตรการทางสังคมที่น่าจะเป็นผล กรณีคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา หรือความพยายามให้มีการจัดตั้งผู้ตรวจการ ในองค์กรสื่อ หรือการกำหนดให้ทุกองค์กรสื่อมีแนวปฏิบัติเรื่องจริยธรรม และแสดงให้ประจักษ์ต่อสาธารณชน รวมไปถึงการที่องค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กร ได้ร่างแนวปฏิบัติในการทำข่าวอาชญากรรม โดยคำนึงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ
           
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กร ประกอบด้วย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จ่ายค่าตอบแทนให้กับสื่อมวลชน จำนวน 163 รายการ รวมเป็นเงิน 4,420,500 บาท โดยระบุชื่อนักข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เป็นผู้ที่รับเงินค่าตอบแทนมากที่สุด จำนวน 2,150,866 บาท
           
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ มีนายเจษฎา อนุจารี กรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นประธาน
           
ผลการสอบสวนในส่วนของ อดีตนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 (ปัจจุบันอยู่ พีพีทีวี) ปรากฎชื่อเป็นผู้ที่รับเงินค่าตอบแทนมากที่สุด จำนวน 2,150,866 บาท เนื่องจากคำชี้แจงของนักข่าวรายนี้ ขัดแย้งกับข้อมูลในเอกสารหลักฐานที่ปรากฎ และไม่ยอมส่งมอบหลักฐานประกอบการชี้แจงเพิ่มเติม คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า เงินที่นักข่าวรายนี้ได้รับตอบแทนจากสํานักวิจัยเอแบคโพลล์ไป เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายให้กับนักข่าว 
           
และยังมีนักข่าวอีกอย่างน้อย คน มีส่วนประพฤติผิดจริยธรรม รับเงินจากเอแบคโพลล์ด้วย
           
นี่คือคำถามว่า องค์กรวิชาชีพสื่อจะดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีความกล้าหาญเพียงพอหรือไม่ ที่จะเปิดเผยชื่อนักข่าวที่มีส่วนในเรื่องนี้
           
ในขณะเดียวกัน ต้นสังกัดจะมีท่าทีอย่างไร
           
ถ้าตอบคำถามนี้ไม่ได้ ถ้ายังลูบหน้าปะจมูก เกรงใจกันอยู่ รักษาหน้ากันอยู่ ก็ไม่อาจป้องกันคลื่นของคนที่จะคิดจะเอากฎหมายมาคุมสื่อได้
           
บททดสอบความกล้าหาญทางจริยธรรมมารออยู่ตรงหน้าแล้ว 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1071 วันที่ 18 - 24  มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์