วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

พืชน้ำในแม่น้ำวัง ดีงาม แต่ก็ต้องสมดุล

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ณ วันนี้นอกจากผักตบชวาจะเป็นพืชน้ำที่เราชาวลำปางคุ้นเคยมาสักพักหนึ่งแล้ว จนเริ่มรู้สึกขัดหูขัดตาเมื่อมันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ หากสังเกตดี ๆ ในแม่น้ำวังยังมีพืชน้ำอีกหลายชนิดเลยทีเดียว
           
จะว่าไป พืชน้ำมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำอย่างมาก นอกจากสัตว์น้ำ พืชน้ำยังเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยสามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายมาเป็นอาหารสะสมในพืช ซึ่งสัตว์ต่าง ๆ สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ นอกจากจะเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว ปริมาณพืชน้ำที่พอเหมาะจะทำให้แหล่งน้ำนั้นอยู่ในสภาพที่สมดุล
           
ทว่าปัญหาก็คือ ความสมดุลอยู่ตรงไหน
           
จอกหูหนู พบตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป โดยเฉพาะตามแหล่งน้ำนิ่ง ดูเหมือนกำลังระบาด กลายเป็นวัชพืชเหมือนผักตบชวาไปแล้ว ทว่าดีหน่อย ที่มันยังมีแมลงศัตรูพืชเล็ก ๆ คอยกินใบ จอกหูหนูเป็นไม้ลอยน้ำพวกเฟินล้มลุก มีลำต้นเล็ก ๆ ทอดเลื้อยตามผิวน้ำ หากอยู่ในที่ร่ม ใบจะบางเล็กและไม่เป็นกลุ่มแน่น ใบของมันสีเขียว ห่อขึ้นดูคล้ายหูหนู แถมยังมีขนนุ่มหนาแน่น ทำให้น้ำไม่เกาะบนใบ ใต้กลุ่มใบมีรากสีน้ำตาลจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้สร้างสปอร์
           
ดีปลีน้ำ พบตามแหล่งน้ำทางภาคกลางและภาคเหนือ ที่ระดับความลึกไม่เกิน เมตร ดีปลีน้ำเป็นพืชใต้น้ำที่มีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งที่เป็นเหง้าอยู่ในดินใต้น้ำ ที่เป็นไหลอยู่ตามผิวดินใต้น้ำ และลำต้นเหนือดินเป็นสายกลมเรียวยาวขึ้นกับระดับความลึกของน้ำ ส่วนใบมีทั้งที่เป็นแผ่นหนาเป็นมัน สีเขียว ลอยแบนติดกับผิวน้ำ และใบใต้น้ำ ที่เรียกว่าดีปลีน้ำ เพราะช่อดอกที่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำของมันนั้น ดูคล้ายดีปลี แต่ไม่ได้มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร ซ้ำร้ายยังอาจกลายเป็นวัชพืชได้อีก
           
กกธูป หรือธูปฤาษี เป็นไม้ริมน้ำ เจริญเป็นกอ สูงกว่า เมตร ในธรรมชาติแม้มันจะถูกจัดเป็นวัชพืช แต่ปัจจุบันนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ บางบ้านไอเดียเก๋ ตัดมาจัดแจกันเสียเลย แต่ต้องหมั่นตัดช่อดอกแก่ทิ้ง เพราะเมล็ดที่มีขนปุยติดอยู่จะปลิวฟุ้งไปติดตามประตูหน้าต่างบ้าน  นอกจากนี้ เหง้าอ่อนใต้ดินยังนำมาแกงเผ็ดได้ ว่าแต่มีใครเคยกินไหม
           
แหนแดง พบได้ทั่วทุกภาค เป็นเฟินน้ำขนาดเล็ก ลอยอยู่บนผิวน้ำ มีลำต้นเล็ก ๆ ทอดไปตามผิวน้ำ แตกแขนงได้ ใบอวบน้ำมีขนาดจิ๋ว ประมาณ มิลลิเมตรเท่านั้น ใบส่วนบนหากได้รับแสงมากจะกลายเป็นสีแดง อย่างไรก็ตาม แหนแดงก็ยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ตรงที่ใช้เป็นอาหารปลา และปัจจุบันนิยมนำมาทำปุ๋ย เพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนในนาข้าว
           
ตับเต่าเล็ก พืชลอยน้ำขนาดเล็ก ลำต้นเลื้อยและแตกไหล แผ่นใบสีเขียวรูปไข่ หรือรูปกลม มีก้านดอกที่ส่งดอกขึ้นมาบานเหนือผิวน้ำ ลักษณะดอกสีขาวกระจิริด มี กลีบดูแสนบอบบาง มองเห็นอยู่กลางแม่น้ำเป็นกลุ่ม ๆ
           
สาหร่ายพุงชะโด พืชใต้น้ำที่มีอายุปีเดียว หรือข้ามปี ลำต้นเป็นสายกลมยาวไม่มีราก ลอยเป็นอิสระอยู่ใต้ผิวน้ำ ชอบขึ้นในแหล่งน้ำนิ่งทั่วไป โดยเฉพาะน้ำที่ความเป็นกรดเป็นด่างค่อนข้างสูง และน้ำที่มีธาตุอาหารพวกไนโตรเจนสูง ด้วยความที่มีรูปทรงสวย นักจัดตู้ปลาจึงนิยมนำมาประดับตู้ปลา มีเว็บฯ ให้สั่งซื้อ แพ็กส่งขายกันเป็นกิโลกรัม
           
สาหร่ายญี่ปุ่น (parrot’s feather) ไม่ใช่สาหร่ายวากาเมะ สาหร่ายทะเลอบกรอบ หรืออะไรประมาณนั้น แต่สาหร่ายญี่ปุ่นในแม่น้ำวัง คือ พืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี เติบโตได้ทั้งบนบกและในน้ำที่ไม่ลึกนัก ถ้าขึ้นในน้ำปลายยอดจะโผล่เหนือน้ำ แผ่นใบแตกเป็นริ้ว ๆ คล้ายขนนก
           
ที่จริงสาหร่ายญี่ปุ่นชนิดนี้ เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาเหนือและกลาง มีคนนำมาจากญี่ปุ่นเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับตู้ปลา ในสระน้ำ หรือในกระถางดิน แต่ในที่สุดก็เล็ดลอดออกสู่แหล่งน้ำในธรรมชาติ เช่นเดียวกับพืชน้ำอื่น ๆ อีกหลายชนิด ซึ่งเดิมไม่เคยเห็นในแม่น้ำวัง ยังมีบัวสาย ทั้งสีขาวและสีชมพู ที่เริ่มเห็นประปรายตามริมฝั่ง
           
พืชน้ำเหล่านี้ตราบใดที่ยังอยู่ในระบบนิเวศอย่างสมดุล ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะมนุษย์ชอบเข้าไปป่วนระบบนิเวศเองนี่แหละ      

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1076 วันที่ 29 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์