วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

สืบสาน ‘ปราสาทศพ’ งานวิจิตรหลังชีวิตสิ้น

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแต่ประเพณีวิถีชีวิตบางอย่างยังไม่เคลื่อนติดตามไม่ขาดหาย เช่นเดียวกันความเชื่อเรื่องของพิธีกรรมหลังความตาย

อาชีพหนึ่งของช่างหรือสล่า ‘ปราสาทศพ ที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ยังคงเป็นสกุลช่างหนึ่งที่เหลือไม่มากนักปัจจุบัน

ปราสาทศพ เป็นเครื่องประกอบพิธีงานศพในภาคเหนือชาวบ้านเรียกกันว่าปราสาทเพราะมีโครงสร้าง รูปทรงเป็นปราสาทสำหรับรองรับหีบศพในพิธีประชุมเพลิง (เผาศพ) ที่ป่าช้า แต่ดั้งเติมในสมัยโบราณในพิธีศพของพระสงฆ์ จะมีความพิเศษวิจิตรงดงามกว่าพิธีศพของคนทั่วไป ซึ่งเรียกว่า ปราสาทศพนกหัสดีลิงค์ ของพระเถระและชนชั้นปกครอง แหล่งผลิต ที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดเชียงราย พะเยา และลำปาง
           
ลุงอนันต์ และป้าวรรณ เขียวคำสองสามีภรรยา หนึ่งในผู้ประกอบอาชีพทำปราสาทศพ มานานกว่าครึ่งค่อนชีวิตเล่าว่า ปัจจุบันอาชีพช่างปราสาทหายากขึ้นทุกที เพราะถือเป็นงานฝีมือและงานช่างไปพร้อมๆกัน แหล่งผลิตปราสาทศพในลำปางขณะนี้มีไม่เกิน 10 เจ้าแต่ละเจ้าก็มีความชำนาญและเอกลักษณ์ที่แตกต่างแต่ยังมีความคล้ายคลึงกันเรื่องโครงสร้าง โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่บอกต่อกัน เพราะงานศพ เป็นงานที่ไม่รู้ล่วงหน้า เมื่อมีคนตาย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ญาติที่ยังอยู่และมีความเชื่อเรื่องประเพณีงานศพแบบโบราณ ก็มักจะสั่งทำปราสาทไว้ใส่โลงศพให้ผู้ตายก่อนจะถึงวันเผา วัน สนนราคาขึ้นอยู่กับโครงสร้างและแบบ เริ่มต้นราว 5,000 บาท เป็นปราสาทชั้นเดียว และราคาสูงขึ้นจนถึงหลักหมื่น หลักแสนบาท ตามจำนวนยอดและชั้นปราสาท
           
“งานผลิตปราสาทศพ เป็นเรื่องของช่างและศิลป์ กว่าจะเป็นสล่าปราสาท ต้องได้รับการถ่ายทอดฝึกฝนมาหลายแขนง อย่างแรกคือช่างไม้ เขียนแบบ เขียนลาย แกะลาย งานประดิษฐ์ตกแต่ง มันต้องแทรกซึมเข้าไปในชีวิต ความชอบ ความเชื่อและความศรัทธา ลุงได้รับการถ่ายทอดมาจาก พระครูศีลคันธวงค์ วัดเจดีย์ซาวหลัง ในเรื่องของการทำโครงสร้างปราสาท แต่ละรูปแบบ รวมถึงลวดลายมาตั้งแต่โบราณ จนถึงทุกวันนี้ ปรับปรุงพัฒนาตามยุคสมัย แต่ยังคงรูปแบบปราสาทศพของชาวลานนาเอาไว้ การทำปราสาทศพ จะใช้ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้งิ้ว และไม้โมก ประกอบเป็นโครงสร้างแต่ง ด้วยกระดาษทากาว และปิดทับด้วยกระดาษฉลุ ลวดลายสีสันต่างๆ บางครั้งใช้กระดาษเงิน กระดาษทองแต่งเสริมให้งดงาม ประดับด้วยผ้า ม่านโปร่ง แล้วแต่ลูกค้าจะระบุว่าต้องการสีโทนไหนที่ถูกจริตของผู้ตาย”
           
ลุงอนันต์ บอกว่าในการสร้างปราสาทศพมีการแบ่งหน้าที่ระหว่าง ผู้ชายและผู้หญิง โดยช่างที่ทำโครงสร้างจากไม้ ช่างผู้ประกอบโครงสร้างส่วนใหญ่จะเป็นช่างผู้ชาย ส่วนช่างปิดกระดาษโครงสร้างและงานตกแต่งเป็นงานของผู้หญิงในส่วนของงานที่บ้านนั้น เรื่องของงานต้องลาย(แกะลาย) จะช่วยกันทำ มีบางส่วนประยุกต์เข้ากับยุคสมัยในเรื่องของการติดตั้งที่รวดเร็วและเรียบง่าย โดยใช้เครื่องมือบางอย่าง เช่น ตัดลายใส่ลงในกระดาษ ที่จะติดตกแต่งโครงสร้างเอาไว้ ก่อน แล้วนำไปติดตั้ง ภายหลังการติดตั้งโครงสร้างที่หน้างานศพ ซึ่งรวดเร็วกว่า นั่งติดตกแต่งที่บ้านจนเสร็จแล้วขนส่งไปยังหน้างาน อาจชำรุดเสียหาย
           
ในเรื่องเชิงพาณิชย์นั้น ลุงอนันต์บอกว่า เป็นทุกยุคทุกสมัยมาแต่โบราณที่ต้องจ้างช่างทำปราสาทเพราะถือเป็นอาชีพพิเศษที่คนทั่วไปทำไม่ได้ยิ่งในสังคมปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องปราสาทยังไม่หายไปไหน แต่ช่างที่จะสืบทอดงานฝีมือก็หายากลงทุกที อาจเป็นเพราะมันไม่ใช่งานที่ได้ค่าตอบแทนมาอย่างง่ายดาย แต่ลุงอนันต์และป้าวรรณ ก็รักและภาคภูมิใจที่จะทำงานนี้ไปจนกว่าจะไม่มีแรงทำไหว ส่วนหนึ่งก็ยังอยากถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่แต่ก็หาคนที่มีความสนใจน้อยเต็มที
                                                                                              
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1075 วันที่ 22 - 28 เมษายน 2559)
Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. คือความมหัศจรรย์ของช่างฝีมือ คืองานฝีมือที่งดงามค่ะ

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์