วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

บ้านเฮา ฮ้อนนระดับโลก

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats
           
พูดถึงลำปาง คนทั้งประเทศคิดถึงถ้อยคำ “ลำปางหนาวมาก” นอกจากคิดถึงรถม้า เซรามิค และแน่นอนโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะแล้ว
           
ตอนหนึ่งในเดี่ยวไมโครโฟน โน๊ส อุดม แต้พานิช ตั้งคำถามว่าทำไมลำปางต้องหนาวมาก ตามกระแสที่คนส่ง SMS ไปปรากฏที่จอรายการเล่าข่าวตอนเช้า
           
ตอนนี้ คงไม่ต้องตอบว่าลำปางหนาวมากอีก เพราะลำปางกำลังร้อนมาก และคงต้องเปลี่ยนคำเป็นลำปางร้อนมาก อนุมานตามภาวะโลกร้อนที่คล้ายขอนไม้สุมไฟไว้ใต้โลก
           
ผ่านมาราว 20 ปีเห็นจะได้ ที่เราพร่ำพูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อน คนไทยก็ได้ยินคำนี้มานานแล้วแต่เพิ่งจะมาโวยวายและบ่นทั้งประเทศเมื่อเห็นผลลัพธ์ของภาวะโลกร้อนเอาตอนนี้ ตอนที่ประเทศไทยติดอันดับ 10 ของประเทศที่ ร้อนที่สุดในโลก
           
การประชุมรัฐภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of Parties : COP21) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2558 กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือได้ได้ว่าเป็น วาระของมนุษยชาติ” เลยทีเดียว เพราะมีผู้นำจากทั่วโลกกว่า 150 ประเทศเดินทางมาเข้าร่วม เครือข่ายด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกกว่า 2,000 องค์กร และภาคส่วนต่างๆอีกราว 5 หมื่นชีวิต ซึ่งทั้งหมดจะร่วมกันทำข้อตกลงและกำหนดเป้าหมาย เพื่อยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงเปลี่ยนวิธีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
           
เหตุผลที่ต้องจับตาการประชุม COP21 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โลกเดินมาสู่ จุดวิกฤติ” แล้ว หากข้อตกลงหรือเป้าหมายที่แต่ละประเทศให้ไว้ในการประชุมครั้งนี้ไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริง ในอนาคตอันใกล้โลกจะเต็มไปด้วยมหันตภัยครั้งเลวร้ายที่สุด เกินกว่าใครจะจินตนาการ
           
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย และเตรียมประกาศเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) ลง 25% ภายในปี 2573 (ภายใน 14 ปีข้างหน้า)
           
นอกจากนี้ นายประเสริฐ ศิรินภาพร ผู้อำนวยการสำนักงานประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เป้าหมายที่ประเทศไทยเตรียมประกาศต่อที่ประชุมครั้งนี้ เป็นไปตามแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ปีละ 5,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่ป่าขึ้น 40% ของประเทศ เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองไม่น้อยกว่า 10 ตารางเมตรต่อคน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายอย่างน้อย 25% รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
           
ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประเทศไทย ใน ปี 2557 สูงถึง 250 ล้านตัน มาจากการผลิตไฟฟ้า 40% อุตสาหกรรม 28% การขนส่ง 25% อื่นๆ 7%  ล่าสุด 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว 255 ล้านตัน (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน)
           
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียป่าไม้ เกิดภูเขาหัวโล้นมากขึ้นทุกปี บางปีเกิดปัญหาน้ำท่วม  บางปีก็เกิดปัญหาน้ำแล้ง โดยเฉพาะปีนี้ที่ชาวนาทุกข์หนักมาก ถามว่าข้าราชการและนักการเมืองไทยที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าเข้าร่วมประชุม COP1 จนถึง COP20 นั้นได้นำผลของการประชุมมาผลักดันให้รัฐบาลให้ความสนใจในเชิงนโยบายเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้มากแค่ไหน
           
การไปร่วมประชุมเวทีระดับโลกแต่ละครั้ง ควรมีเป้าหมายของการประชุมเพื่อนำองค์ความรู้และผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมและเจรจามากำหนดในเชิงนโยบายในประเทศไทยเพื่อให้สอดรับกับมติหรือผลของการเจรจา ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดโลกร้อนให้ได้ร้อยละ 7-20 ภายใน 15 ปีข้างหน้าเริ่มจากปี 2563 เป็นต้นไป
           
แต่มันเหมือนเป็นการโกหกตัวเอง และเป็นการโกหกสังคมโลกอย่างไม่ละอาย เพราะหลายนโยบายดูจะเป็นการผลักดันโครงการและกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทยและของโลกตลอดเวลาและเพิ่มมากขึ้น อาทิ การผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 9 แห่งในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP 2015 รวมทั้งการสนับสนุนให้เพื่อนบ้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สร้างเขื่อนทำลายป่าไม้
           
ไม่แปลกใจที่ชาวบ้านทั่วประเทศจึงออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกันทั่วทุกหัวระแหง เพราะยุคนี้ สมัยนี้ไม่ใช่สมัยปี 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ที่ผู้นำพูดอะไร ชาวบ้านจะเชื่อถือตามทุกอย่าง เพราะเขาสามารถเข้าถึงระบบสารสนเทศต่างๆมากมายเพื่อรู้เท่าทันสิ่งที่แอบแฝงอยู่ข้างหลัง แต่ผู้มีอำนาจก็ยังลำพองใจในอำนาจ ผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน
           
แม้แต่การกำจัดขยะซึ่งมีทางเลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นคัดแยกขยะ ฝังกลบ รีไซเคิล แต่ทุกองค์กรส่วนกลาง ทุกหน่วยงานท้องถิ่นต่างชี้นิ้วไปที่การนำไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งๆที่รู้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นสาเหตุโลกร้อนของไทย ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดกว่า 50 โรงทั่วประเทศ
           
หลายคนก็บอกว่าที่เราร้อนๆแห้งแล้งอยู่ตอนนี้เป็นเพราะ เอลนิโญ และทุกครั้งก็จะตามด้วย ลานิญา ที่ทำให้เกิดฝนตกเยอะน้ำท่วม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องยอมรับว่าสาเหตุหลักก็มาจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นเครื่องปรับอากาศของโลก ดังนั้นเมื่อยามที่อุตสาหกรรมทั้งหลายปล่อยความร้อน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยวดยานพาหนะทั้งหลายปล่อยมลพิษ ล้วนแต่ทำให้โลกร้อนขึ้นทั้งสิ้น
          
เมื่อมนุษย์เป็นผู้โค่นล้มป่าไม้ มนุษย์นั้นก็ต้องพลิกฝืนผืนป่าด้วยมือของเรา หากเราไม่เริ่มวันนี้ วันนี้ เมืองไทยอาจจะกลายเป็นประเทศที่ร้อนที่สุดในโลกก็ได้ ใครจะไปรู้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1075 วันที่ 22 - 28 เมษายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์