วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

ใบบุญบ้านสวนผัก สดจากโรงเรือนสู่จานสลัด

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats
           
เพราะชอบกินผักเป็นชีวิตจิตใจ สงวนและนพพร สีธรรมใจ คู่สามี-ภรรยาที่รักสุขภาพ จึงลงมือปลูกผักไว้กินเอง แม้บ้านจะมีพื้นที่อยู่เพียงน้อยนิด แต่ทั้งสองก็ไม่ละความพยายาม เริ่มจากผักในกระถางริมรั้วไล่ลามไปจนถึงระเบียงชั้นสอง กระทั่งถึงวันที่มีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้น ทั้งสองคนจึงเริ่มจริงจังกับการปลูกผักมากขึ้น เพราะอยากให้ลูกๆรักการกินผัก พร้อมกับเรียนรู้ที่จะปลูกเองด้วยครอบครัวสีธรรมใจช่วยกันปรุงดิน ผสมปุ๋ย แต่ก็เริ่มท้อกับการถางหญ้า พรวนดิน ทั้งยังต้องสู้รบกับบรรดาศัตรูพืชอย่างแมลงและหอยทาก สงวนเริ่มตระหนักแล้วว่า การปลูกพืชในดินนั้นมีข้อจำกัดมากมาย จึงเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์
           
จุดเปลี่ยนของครอบครัวอยู่ที่วันหนึ่ง เพื่อนซึ่งเป็นสัตวแพทย์ให้ชุดปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์ที่เคยปลูกแล้วได้ผลมาก่อน มาทดลองปลูก ด้านนพพรก็เดินทางไปเรียนรู้เพิ่มเติมกับกองทุนปุ๋ยอินทรีย์และไฮโดรโพนิคส์ มูลนิธิโครงการหลวง ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เธอกลับมาบ้านพร้อมกับแรงบันดาลใจและไฟฝันที่จะปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์เป็นธุรกิจอย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อว่า ใบบุญบ้านสวนผัก
           
“เราได้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักแบบปลอดภัยจริง ๆจาก รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ซึ่งทำงานกับโครงการหลวง ได้เรียนรู้เรื่องสูตรปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ของโครงการหลวงที่ปลอดสารพิษ ทำให้มั่นใจจริงๆว่า ผักจะไม่มีสารตกค้างแน่นอน” นพพรเล่าพลางยิ้ม
           
“ปุ๋ยของโครงการหลวงเป็น Food Grade หรือธาตุอาหารครับ เราจะให้ในปริมาณเหมาะสมกับความต้องการของผักแต่ละชนิด ไม่มีการเร่งโต ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงเด็ดขาด เพราะเราปลูกเอง กินเอง และขายเองครับ”สงวนกล่าวเพิ่มเติม
           
Hydroponics คือ การปลูกพืชโดยให้รากพืชแช่อยู่ในน้ำสารละลายธาตุอาหารโดยตรงผักส่วนใหญ่สามารถปลูกด้วยวิธีนี้ได้ สงวนและนพพรเลือกปลูกทั้งผักสลัดและผักไทยโดยแยกโต๊ะปลูก เนื่องจากผักทั้งสองประเภทต้องการธาตุอาหารแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นกรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก ฟิลเลย์ เรดคอรัล บัตเตอร์เฮด คอส เรดคอส ซึ่งทั้งหมดเป็นผักกินใบและนำมาใช้ในจานสลัดใช้เวลาปลูกราว เดือนครึ่งก็เก็บขายได้ ส่วนผักไทยพวกเขาเลือกปลูกผักคะน้า ผักกาดขาวเบา ผักกวางตุ้ง และผักฮ่องเต้ราว เดือนก็เก็บขาย ทั้งนี้ ก่อนการเก็บเกี่ยวยังได้แทนที่สารละลายธาตุอาหารด้วยน้ำธรรมดา หรือที่นพพรเรียกว่า “รันน้ำเปล่า” เพื่อให้ผักของพวกเขาสะอาด ปลอดภัยมากที่สุด
           
เมื่อเร็วๆนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งได้ศึกษาเรื่องการสะสมไนโตรตในผักสลัดจากแหล่งปลูกต่างกัน แหล่งแล้วพบว่า ผักสลัดที่ปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์นั้น มีปริมาณไนเตรตตกค้างน้อยที่สุด
           
“การปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์นอกจากจะปลอดภัยแล้ว ยังมีข้อดี คือ ลูกๆมีส่วนร่วมในการปลูกผักกับเราได้ ใช้แรงงานน้อย ไม่เหนื่อยมาก มีพื้นที่น้อยก็ปลูกได้อีกอย่างหนึ่งคือใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตเร็วที่สำคัญ ผักอยู่กับน้ำจะไม่เครียด ผักจึงไม่ขม ขณะเดียวกันก็มีความสดกรอบ” สงวนอธิบาย“หลังเก็บผักเอามาล้างแล้วสลัดน้ำออก แช่ตู้เย็นเก็บไว้เป็นอาทิตย์ก็ยังอร่อยนะคะ” นพพรเสริม
           
ทุ่มเทให้กับการปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์มาปีเต็ม ทุกวันนี้บ้านแทบไม่เหลือพื้นที่ว่างอีกต่อไป สงวนเพิ่มโต๊ะปลูกผักอีกหลายโต๊ะ รวมทั้งสร้างโรงเรือนใหม่ให้ได้มาตรฐาน แม้จะไม่เทียบเท่าโรงเรือนระบบ EVAP ที่ต้องใช้เงินสูงถึงหลักล้าน แต่เขาก็มั่นใจว่า ในอนาคตใบบุญบ้านสวนผักจะสามารถผลิตผักป้อนตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอแม้จะเป็นฤดูร้อนก็ตาม
           
“ทุกวันนี้เราส่งผักสดให้กับร้านอาหารที่ขายสลัด ซึ่งเขาก็บอกว่า ผักของเราสะอาด อร่อย แค่นี้ก็ภูมิใจแล้วค่ะ” นพพรยิ้มกว้าง ในอนาคตเธอและสามีจะทดลองปลูกผักอื่นๆที่ใช้ในจานสลัด โดยเฉพาะมะเขือเทศ นอกจากขายผักสด นพพรยังทำสลัดกล่อง โดยอาศัยช่องทางเฟซบุ๊กและไลน์ ลูกค้าส่วนใหญ่คือบุคลากรในโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง จุดเด่นของสลัดกล่องนอกจากความสดกรอบของผัก ยังอยู่ที่น้ำสลัดหลากหลายสูตรที่นพพรทำเองโดยใช้โยเกิร์ตเป็นพื้นฐาน ไม่ใช้ไข่เร็ว ๆ นี้เธอจะลองทำโยเกิร์ตแบบโฮมเมดเท่านั้นยังไม่พอ นพพรยังเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์แก่เด็กๆตามโรงเรียนอีกด้วย

สองสามีภรรยาจะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เพื่อซื้อปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ผักของโครงการหลวงเป็นระยะ ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ก็ราคาสูงตามคุณภาพ แต่ทั้งสองคนภูมิใจที่ผักของใบบุญบ้านสวนผักมีมาตรฐานเดียวกับผักของโครงการหลวง สำหรับสงวน เขายังเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงคำว่า “เกษตรกร”

“ตั้งแต่หันมาปลูกผักนี่ รู้เลยว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ต้องอดทนมาก ถ้าต้องซื้อผักผมจะไม่กล้าต่อเลยครับ” สงวนหัวเราะ อีกสิ่งหนึ่งที่เขาค้นพบจากการปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์ ซึ่งมีรายละเอียดให้ประหลาดใจอยู่เสมอ นั่นคือ “ธรรมชาติเป็นเรื่องมหัศจรรย์จริงๆ” สงวนทิ้งท้าย

                                                                                   
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1075 วันที่ 22 - 28 เมษายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์