วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ลมซัดน้ำซ้ำ ลำปางสุดซ้ำ รอบ70ปี - 8 พันหลังราบ ไฟฟ้าดับสนิทนานสุด 30 ช.ม.

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

พายุถล่มหนักทั้งจังหวัดอ่วม เสียหายกว่า 8,000 หลัง  พบป้ายโฆษณาทับเสาไฟฟ้าหักโค่นไฟดับทั้งเมือง ที่ ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร บ้านพังทั้งหลัง  อ.เกาะคา อ.สบปราบ เสาไฟฟ้าล้มระนาวรวม 30 ต้น  และ  อ.เสริมงาม น้ำป่าทะลักซ้ำ

·   ถล่มหนัก

หลังจากเมื่อวันที่ 28  เม.ย.59  ได้เกิดพายุฝนลมแรงถล่มในหลายพื้นที่ของ จ.ลำปาง ขยายเป็นบริเวณกว้างทั้ง 13 อำเภอ  โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครลำปาง พบต้นไม้หักโค่นล้มขวางถนน ป้ายคัตเอาท์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่พังเสียหาย ซึ่งบริเวณสี่แยกไฟแดงศรีชุม ป้ายโฆษณาตรงหัวมุมถนนขนาดสูง 12 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร ได้ล้มลงทับกับสายไฟและเสาไฟฟ้าล้มลงทั้งแถบ  และที่ถนนสายลำปาง-เชียงใหม่ บริเวณสามแยกห้างฉัตร ป้ายโอเวอร์เฮดขนาดใหญ่ได้หักลงขวางถนน รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ จึงต้องประสานรถเครนจากแขวงการทางเข้ามายกเสาเหล็กของป้ายขึ้น เพื่อเร่งเปิดเส้นทางเพราะถนนเส้นดังกล่าวเป็นเส้นหลักที่มีรถวิ่งตลอดเวลา   ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น กฟภ.  เจ้าหน้าที่กู้ภัย  ทหาร  แขวงการทาง  เทศบาลนครลำปาง ได้ออกให้ความช่วยเหลือตลอดทั้งคืน

·  เทศบาลเร่งกู้ป้ายโฆษณา
           
ต่อมาวันที่ 29 เม.ย.59  เจ้าหน้าที่สำนักการช่างเทศบาลนครลำปาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้นำรถเครนเข้ามายกป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ล้มขวางถนน บริเวณสี่แยกไฟแดงศรีชุม ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ โดยทำการปิดถนนทั้งสองด้าน เพื่อความสะดวกในการทำงาน ใช้เวลาในการทำงานประมาณ วัน  ส่วนเสาไฟฟ้าที่ยังคงเหลืออยู่รอให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเข้าซ่อมแซมเปลี่ยนสายไฟต่อไป

·   บ้านพังทั้งหลัง
           
และในช่วงเช้าวันที่ 29 เม.ย.59  ผู้สื่อข่าวได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บ้านทุ่งบ่อแป้น หมู่ 2 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง หลังจากทราบว่ามีบ้านเรือนราษฎรเสียหายพังลงมาทั้งหลัง พบที่บ้านเลขที่ 24 หมู่ 2  เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูง พังถล่มลงมากองอยู่ที่พื้น เสียหายระเนระนาดไม่เหลือสภาพเดิม โชคดีที่ขณะเกิดเหตุไม่มีใครอยู่บ้าน จากการสอบถามเพื่อนบ้านข้างเคียงทราบว่า บ้านหลังนี้เป็นของนางศรีมรที่ปลูกสร้างไว้นานแล้ว ส่วนเจ้าของบ้านอยู่ที่ จ.สกลนคร  เวลากลับมาที่ จ.ลำปาง จะพาพักที่บ้านหลังนี้ โดยจะให้ญาติช่วยดูแลบ้านให้ 

· กลัวตัวสั่น
           
ส่วนอีกหลังใกล้กัน บ้านเลขที่ 23/1 หมู่ 3 บ้านของนางทองศรี ปูปินตา พายุได้พัดหลังคาบ้านชั้นสองทั้งหมดปลิวลงมากองอยู่ถนนหน้าบ้าน ฝ้าเพดานกระจัดกระจายเกลื่อน  นางทองศรี เล่าว่า ช่วงเกิดเหตุเวลาประมาณ 19.00 น. เสียงลมพัดแรงมาตนกับสามีได้พากันมาหลบอยู่ใต้บันได แต่ไม้ก็เร่งหล่นลงมาจากชั้นบน จึงพากันไปหลบอยู่ในห้องปูนด้านหลังบ้าน ตอนนั้นน่ากลัวมากจนสั่นไปหมด มองไม่เห็นอะไร ทั้งมืดและเสียงดังทำอะไรไม่ถูกเลย

นอกจากนั้นยังมีบ้านอีกหลังได้รับความเสียหายหลังคาปลิว โครงป้าย ต้นไม้ใหญ่ล้มเกลื่อนภายในบริเวณบ้าน และมีร่องรอยข้างของในบ้านปลิวออกมากระจัดกระจายเต็มกลางทุ่งนา  และยังมีศาลานั่งพักภายในหมู่บ้าน ล้มขวางถนน  ต้นไม้ล้มทับหลังคาข้างร้านขายของชำรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ฯลฯ  

·   เทศบาลช่วย 3 หมื่น
           
นายย้าย ฮาวคำฟู นายกเทศมนตรี ต.ปงยางคก  กล่าวว่า ได้เข้าไปตรวจสอบบ้านเรือนราษฎรที่ประสบภัย สำหรับบ้านที่พังลงมาทั้งหลังนั้นได้ขอกำลังทหารเข้าไปช่วยรื้อบ้านออก ซึ่งมีวัสดุบางส่วนที่ยังสามารถนำกลับมาใช้งานได้อยู่ ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการในการช่วยเหลือ เทศบาลสามารถช่วยเหลือได้ไม่เกิน 30,000 บาท  พร้อมกับแจกจ่ายกระเบื้องให้กับบ้านเรือนราษฎรที่ได้รับความเสียหาย จากนั้นต้องปรึกษาหารือกับเจ้าของบ้านว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง อาจจะเป็นการช่วยเหลือลงแรงมาช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนให้

·   รอบ 70 ปี

วันที่ 29 เม.ย.59 นายไพฑูรย์ โพธิ์ทองนายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล และหัวหน้าส่วนราชการ ประชุมเจ้าหน้าที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่อัมรินทร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุวาตภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุวาตภัย โดยที่ ต.ปงแสนทอง ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดกว่า 300 หลังคาเรือน  ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่ที่ประสบเหตุต่างพูดว่าเป็นรอบ 70 ปีที่เคยพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้  ไม่เคยเจอรุนแรงขนาดนี้มาก่อน

·   แจกกระเบื้องช่วย

วันที่ พ.ค.59 นายจำเนียร พรหมเพชร รองนายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร นายสมยศ โพธิ์ทอง ประธานสภาเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล นายประสงค์ เรือนสอน รองปลัดเทศบาลรักษาราชการแทนปลัดเทศบาล ลงพื้นที่มอบกระเบื้องลอนคู่ ครอบองศา และสังกะสี ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุวาตภัย จำนวน 53 ชุมชน โดยแยกออกเป็น กระเบื้องลอนคู่ ขนาด1.2 และ 1.5 เมตร จำนวน 48,940 แผ่น ครอบ ขนาด 15 และ 20 องศา จำนวน 10,413 แผ่น และสังกะสีขนาด 5-9 ฟุต จำนวน1,537 แผ่น รวมทั้งสิ้นโดยประมาณ ล้านกว่าบาท

ส่วนเทศบาลนครลำปาง นายสุนทร จวงพลงาม ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม พร้อมพนักงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ออกสำรวจข้อมูลและมอบกระเบื้องเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้แก่ ชุมชนนาก่วมเหนือ ชุมชนท่าคราวน้อย ชุมชนศรีบุญเรือง ชุมชนนาก่วมใต้ ชุมชนศรีปงชัย ชุมชนป่าขาม1 ชุมชนป่าขาม 2 ชุมชนสนามบิน ชุมชนประตูต้นผึ้งฯ ชุมชนช่างแต้ม ชุมชนประตูม้า ชุมชนแจ่งหัวริน ชุมชนศรีล้อมแสงเมืองมา ชุมชนปงสนุก ชุมชนศรีบุญโยง ชุมชนสมดวงสามัคคี ชุมชนจามเทวี ชุมชนบ้านดงม่อนกระทิง ชุมชนเจิญสุข ชุมชนศรีเกิด ชุมชนศรีชุม ชุมชนสิงห์ชัย ชุมชนหลังมัธยมวิทยา โดยให้ความช่วยเหลือแจกจ่ายกระเบื้อง วันที่ 30 เม.ย.59

·  ไฟฟ้าแจงเหตุไฟดับ
           
นายอุดมศักดิ์ หิรัณยตระกูล  ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาลำปาง เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการพยากรณ์อากาศว่าจะมีพายุฤดูร้อนวันที่ 28-30 เม.ย.59  ได้มีการเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว  ซึ่งเหตุการณ์เกิดประมาณ 19.00 น.วันที่ 28 เม.ย. ได้รับแจ้งข่าวมีฝนตกพายุลมแรง ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ รวมถึงที่สำนักงานของเราก็ดับเช่นกัน   ในพื้นที่ อ.เมือง การไฟฟ้าลำปางจะมีอยู่ 3 สถานีหลัก คือ ลำปาง 1-3   รวมจ่ายไฟได้ 20 วงจร  แต่ในวันเกิดเหตุไฟดับไปทั้งหมด 17 วงจร  ในตอนนั้นยังประเมินสถานการณ์ไม่ได้เพราะลมพายุแรงมาก ไม่สามารถส่งพนักงานออกไปตรวจสอบได้เนื่องจากไม่ปลอดภัย ต้องรอให้พายุสงบซึ่งเวลาผ่านไปแล้ว ชั่วโมง จึงออกตรวจสอบได้เวลาประมาณ  20.00 น.

·  ทั้งเมืองกว่า 300 จุด
           
จากการตรวจสอบสถานทั้ง 3 สถานี แยกเป็น ลำปาง 1 มี 10 วงจร ไฟดับไป 9 วงจร   ลำปาง 2 มี 7 วงจร ไฟดับไป 3 วงจร  ลำปาง 3 มี 3 วงจร ไฟดับไป 2 วงจร เหลือ 1 วงจรหลักคือที่ห้างเซ็นทรัลที่เดียว ซึ่งสามารถส่งไฟมาใช้ให้กับโซนหน้าโรงเรียนลำปางพาณิชยการได้ ในจุดนี้ไฟจึงไม่ดับ  ในตอนนั้นต้องรอพายุสงบลงจึงเริ่มออกเคลียร์พื้นที่ได้ โดยได้ส่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ 10 ชุด เจ้าหน้าที่กว่า 100 คน  ซึ่งพบว่ามีจุดเมนหลักที่เสียหายหนัก 26 จุด และจุดย่อยตามซอยต่างๆอีกถึง 300 จุด  จึงต้องแก้ไขในจุดเมนใหญ่ก่อนที่มีสถานที่ราชการสำคัญ เช่น โรงพยาบาล เทศบาลนครลำปาง  เรือนจำกลาง ฯลฯ  และสามารถจ่ายไฟได้ในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. จากนั้นจึงต้องเก็บรายละเอียดในซอยย่อย โดยเจ้าหน้าที่หน่วยแก้ได้ทำงานตลอดทั้งคืน ติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน เพื่อแก้ไขไฟฟ้าให้กับประชาชน  สำหรับความเสียหายอยู่ระหว่างประมาณการ ในเบื้องต้นมากกว่าล้านบาท

·     ดับ 30 ชั่วโมง  

นายประครอง ศิริภัณฑ์ หัวหน้าแผนกปฏิบัติการบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า  จุดที่มีปัญหารายย่อยตามซอกซอยต่างๆ 300 กว่าจุด   เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ อ.ห้างฉัตร  ได้ประสานเจ้าหน้าที่จาก จ.ลำพูนเข้ามาเสริม เพราะทุกครั้งจะเอาจากสำนักงานไฟฟ้าต่างอำเภอ แต่อำเภออื่นๆก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน  นอกจากนั้นยังมีจุดบ้านกล้วยม่วง สามารถจ่ายไฟได้เวลา 02.00 น.ของวันที่ 29 เม.ย.59  จากนั้นก็ได้ไปประเมินสถานการณ์ที่บ้านบ่อแฮ้ว ซอย 2  ด้านหน้าตลาด  ซึ่งได้ประเมินกำลังของพนักงานพบว่าทำงานติดต่อกันมา 2 คืนแล้ว  เสาไฟจุดดังกล่าวเป็นเสาไฟแรงสูงต้องใช้เวลานานครึ่งวัน มีสายเคเบิลอื่นๆอยู่จำนวนมาก เมื่อประเมินแล้วจึงสรุปได้ว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันในคืนนั้น  จึงได้เข้ามาดำเนินการช่วงเช้าของอีกวัน  สามารถจ่ายไฟได้ในวันที่ 30 เม.ย.59 เวลา 11.00 น.  ในจุดนี้จึงดับนานกว่าที่อื่น ประมาณ 2 วัน   

ความเห็นส่วนตัวถ้าเทียบตั้งแต่ปี 56 รอบนี้หนักกว่า เพราะจำนวนจุดเกิดเหตุเยอะ การแก้ไฟถึงแม้จะมีเสาล้ม 10 ต้นในจุดเดียวกันจะทำง่ายกว่า แต่การแก้ในแต่ละจุดที่ห่างๆ ทำให้ยากกว่าเพราะต้องใช้เวลาเดินทาง และต้องตัดไฟในจุดนั้นๆ  นายประครองกล่าว

·   เกาะคา สายไฟแรงสูงขาด เสาหัก
           
ด้านนายกมล รัตนประทีป  ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาเกาะคา เปิดเผยว่า วันที่ 28 เม.ย.59 ลมพายุพัดรุนแรงส่งผลให้ต้นไม้ล้มทับเสาไฟฟ้าหัก สายไฟฟ้าแรงสูงขาดเป็นจำนวนมาก ทำให้กระแสไฟฟ้าดับในวงกว้างหลายพื้นที่ มีต้นไม้ล้มทับสายไฟฟ้าแรงสูงขาด บริเวณถนนลำปาง-เกาะคา ทั้งขาขึ้นและขาล่อง ก่อนถึง อบจ.ลำปาง ทำให้สายไฟฟ้าแรงสูงขาด หม้อแปลงไฟฟ้าชำรุด และลมพายุพัดสายไฟฟ้าแรงสูงหลุดจากลูกถ้วย สายไฟฟ้าตกพาดคอน ทำให้ไฟฟ้าดับ บริเวณถนนสายเกาะคา-ห้างฉัตร ระหว่างบ้านจู้ดและบ้านนางเหลียว  ส่วนที่ อ.สบปราบ มีต้นไม้ล้มทับเสาไฟฟ้าหัก จำนวน ต้น สายไฟฟ้าแรงสูงขาด บริเวณบ้านแม่เตี๊ยะ(ห้วยเรือขวาง)

·       โดนรอบสอง

นายกมล กล่าวว่า วันที่ 30 เม.ย.59  เกิดลมพายุพัดแรงขึ้นอีก ทำให้เสาไฟฟ้าล้ม จำนวน 10 ต้น สายไฟฟ้าแรงสูงขาด บริเวณถนนสายเกาะคา – สบปราบ ช่วงปั้มแก๊สบ้านวังพร้าว  หลังทราบเหตุได้ระดมทีมงานก่อสร้าง ในพื้นที่ อ.เกาะคา อ.แม่ทะ อ.ห้างฉัตร อ.เถิน และทีมงานก่อสร้าง จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต จ.เชียงใหม่ ออกทำการแก้ไขระบบจำหน่ายไฟฟ้าทั้งแรงสูงและแรงต่ำ ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง ทั้งกลางวันและกลางคืน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานาน และการแก้ไขอาจจะไม่ทันท่วงที เนื่องจากเกิดเหตุการณ์พร้อมกันหลายจุด การเข้าดำเนินการแก้ไขจึงไม่สามารถเข้าดำเนินการพร้อมกันได้ อาจจะทำให้บางแห่งได้ใช้ไฟฟ้าล่าช้าไปบ้าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเกาะคา ต้องขออภัยในความขัดข้องในครั้งนี้  ทั้งนี้หากมีจุดใดที่ตกหล่นไม่ได้รับการแก้ไข ขอให้แจ้งได้ที่หน่วยแก้กระแสไฟฟ้าขัดข้อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเกาะคา ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 054-281498 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Call Center  1129

·     สบปราบเสาล้ม 22 ต้น

ผู้จัดการการไฟฟ้าฯ สาขาเกาะคา  ได้เปิดเผยอีกว่า วันที่ พ.ค.59 เวลาประมาณ 19.00 น. เกิดพายุลมพัดแรง พัดต้นไม้ล้มทับเสาไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้าแรงสูงขาดเป็นระยะทางยาว บริเวณถนนสายเกาะคา – สบปราบ ช่วงระหว่าง กม.665 – 667 รอยต่ออำเภอเกาะคา กับอำเภอสบปราบ มีเสาไฟฟ้าแรงสูงล้ม จำนวน 22 ต้น  แต่โชคดีที่ไม่มีบ้านเรือนราษฎรได้รับความเดือดร้อนมากนัก เนื่องจากจุดดังกล่าวเป็นจุดผ่านทุ่งนา  โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่จาก จ.เชียงใหม่ และอำเภอใกล้เคียง ดำเนินการแก้ไขแล้ว

·    เสริมงามน้ำป่าซัด

เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 29 เม.ย.59 ที่ผ่านมา ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและเกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ บ้านโป่งน้ำร้อน หมู่ 1 ต.เสริมกลาง อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎรที่อยู่ติดกับลำห้วยได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะเกิดเหตุชาวบ้านได้นั่งหลบฝนอยู่ภายในบ้านของตัวเอง และได้เกิดน้ำป่าทะลักอย่างฉับพลันไหลลงจากเขาสูงเข้าท่วมหมู่บ้านทันที

นายปัน วันดู ผู้ใหญ่บ้านโป่งน้ำร้อน เปิดเผยว่า หลังจากที่มีฝนตกหนักในหมู่บ้าน และบนภูเขาซึ่งเป็นป่าเข้าต้นกำเนิดลำห้วยแม่เสริม อยู่ในป่าลึกขุนแม่เสริม ขุนแม่พริก ถัดหมู่บ้านไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร เขตติดต่อ จ.ลำพูน ซึ่งขณะนั้นไม่มีสัญญาณเตือนว่าจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก จู่ๆเวลา 16.30 น.ก็ได้เกิดน้ำป่าทะลักอย่างฉับพลัน โดยพัดเอาดินโคลนกิ่งไม้ไหลทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านย่างรวดเร็ว  ซึ่งทุกคนที่มีบ้านอยู่ติดลำห้วยต่างหนีตายเอาชีวิต  และบางคนต้องรีบขนย้ายทรัพย์สินขึ้นไว้ในที่สูง  ผ่านไปสักพักระดับน้ำก็ลดลง  ก่อนจะแห้งลงไปกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

·  โดนซ้ำโดนซ้อน
           
จากเหตุการณ์พายุถล่มในหลายพื้นที่ของ จ.ลำปาง ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.59 เกิดพายุลมกรรโชกแรงในพื้นที่ ต.นาแก้ว อ.เกาะคา  มีบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายจากการเกิดพายุ 4 หมู่บ้าน รวมกว่า 100 หลังคาเรือน  ประกอบด้วย หมู่ 3  บ้านสบต๋ำ  หมู่ 6 บ้านศรีดอนมูล  หมู่ 5 บ้านจอมปิง และ หมู่ 8 บ้านพระธาตุจอมปิง  โดยที่บ้านสบต๋ำได้รับผลกระทบหนักที่สุด   ตามด้วยที่ ต.นาโป่ง อ.เถิน  เหตุเกิดวันที่ 14 เม.ย. 59  ราษฎรได้รับความเสียหาย 4 หมู่บ้าน  หลังคาปลิวเสียหาย 280 หลังคาเรือน   จากนั้นที่ ต.นาแก้ว  และต.นาแส่ง อ.เกาะคา ได้ถูกพายุถล่มเป็นรอบที่สอง เมื่อวันที่ 19 เม.ย.59  มีบ้านเรือนเสียหาย 340 หลังคาเรือน  

·  รวมกว่า 8,000 หลังคาเรือน
           
จากการข้อมูลสรุปความเสียหายวาตภัยจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ลำปาง ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.-3 พ.ค.59  พบว่ามีราษฎรได้รับผลกระทบทั้ง 12 อำเภอ ยกเว้น อ.เมืองปาน รวม  267 หมู่บ้าน  8,347  หลังคาเรือน  ราษฎรได้รับผลกระทบ 25,875 คน  และกระเบื้องเสียหาย 64,792 แผ่น
              
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1077 วันที่ 6 - 12 พฤษภาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์