วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ตื่นข่าวสนามบินใหม่ หลุมพรางดันใช้งบศึกษา

จำนวนผู้เข้าชม website counter
           
จากกรณีข่าวเกี่ยวกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ในพื้นที่ลำปาง  ซึ่งมีทั้งข่าวจากสื่อมวลชนทั่วไปและเสียงวิพากษ์วิจารณ์วงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จังหวัดลำปางอย่างกว้างขวาง ผู้สื่อข่าวลานนาBizweek รายงานว่า ขณะนี้ประเด็นดังกล่าว กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์กันหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีข่าวเกี่ยวกับการหาพื้นที่สร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ตามที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) ได้พิจารณาผลักดันให้มี โครงการศึกษาและออกแบบเบื้องต้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติในภาคเหนือ โดยได้เรียกชื่อโครงการสนามบินแห่งใหม่ดังกล่าวว่า “สนามบินนานาชาติพระนางจามเทวี” ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ สำรวจศึกษาออกแบบราว 130 ล้านบาท
           
โดยก่อนหน้านี้ในที่ประชุม (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 มีการถกเถียงและมีข้อเสนอค่อนข้างหลากหลายในเรื่องของแหล่งที่ตั้ง ว่าสนามบินแห่งใหม่ดังกล่าวควรจะตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน หรือลำปาง โดยรื้อเอาข้อมูลเดิมของแต่ละจังหวัดที่เคยมีการทำโครงการเกี่ยวกับสนามบินขึ้นมาเทียบเคียงเพื่อหาจุดดีจุดเด่นที่เหมาะสมจะเป็นสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ซึ่งภาคเอกชนจังหวัดลำปางก็ได้เสนอพื้นที่อำเภอห้างฉัตร จ.ลำปาง ไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกเช่นกัน
           
ในประเด็นนี้ทำให้ มีประชาชนออกมา แสดงความคิดเห็น ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างกว้างขวาง และล่าสุดนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้พูดผ่านรายการวิทยุ ผู้ว่าพบประชาชน ว่า จะไม่มีโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในลำปาง ยิ่งทำให้มีการแสดงความเห็นเกี่ยวข้องไปหลายทิศทาง
           
แหล่งข่าวที่ เกี่ยวข้องใน กรอ.ลำปาง ระบุว่า เรื่องนี้ หากมองอย่างละเอียด เป็นเพียงเรื่องของการผลักดันเพื่อใช้งบประมาณในการศึกษา ซึ่งมีตัวเลขเกี่ยวข้องหลักร้อยล้านบาท แต่ผลประโยชน์ หรือผลกระทบยังมิได้ตกกับท้องถิ่นใด เพราะเป็นเพียงการใช้เงินหลวงเพื่อสำรวจ ศึกษาว่าจะสร้างที่ไหน อย่างไรให้เหมาะสม เช่นเดียวกับโครงการศึกษา รถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟทางคู่ ซึ่งศึกษาหาข้อมูล แล้วอาจจะมีโครงการสร้างหรือไม่มีก็ได้ อย่างน้อยก็ได้ศึกษาแล้วว่า ควรสร้างหรือไม่ อย่างไร หากมีข้อมูลมากพอชี้วัดได้ว่าต้องสร้าง อย่างนั้นอย่างนี้ ต้องไปผ่านกระบวนการงบประมาณ มหาศาลซึ่งต้องดูว่า ใครจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอีกชั้นหนึ่ง
           
"เรื่องนี้มันเป็นเหมือนข่าวกระแสที่พูดกันปากต่อปาก เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว และพูดโดยผู้ที่ไม่มีข้อมูลมากพอในการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนเรื่องที่มีผู้ใหญ่ในจังหวัดหลายท่านพูดถึงประเด็นนี้ก็ ไม่ใช่สร้างกระแส แต่อาจจะเป็นความเห็นที่มีข้อมูลสนับสนุน ในประเด็นนี้จึงสร้างความสับสนในสังคมลำปาง ทั้งกลุ่มนักธุรกิจหรือผู้ที่มีแนวโน้มจะลงทุนด้านต่างๆในลำปาง ต่างก็ รอดูข้อมูล แต่บางส่วนก็เชื่อข้อมูลที่เป็นเหมือนตกหลุมพรางข่าว เรื่องสนามบินลำปางแห่งใหม่เป็นเรื่องไกลตัวมาก และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของกลุ่มคนระดับสูงเท่านั้น แต่เรื่องที่คนลำปางควรให้ความสนใจและช่วยกันผลักดัน คือเรื่องการปรับปรุงพัฒนาสนามบินเดิมของลำปางที่มีโอกาสพัฒนาได้อีกมากให้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่ก่อนมากกว่า" แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในระดับจังหวัดรายหนึ่งกล่าว
           
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากกรณีข่าว เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาสนามบินลำปางปัจจุบันนั้นได้สอบถามไปยัง นายเรืองยุทธ นิตยานนท์ผู้อำนวยการท่าอากาศยานลำปางได้ความว่า ตามที่จังหวัดลำปางได้ผลักดันให้รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม อนุมัติงบประมาณเพื่อขยายรันเวย์สนามบินลำปาง รองรับการขยายตัวเที่ยวบินในอนาคตนั้นกระทรวงคมนาคมได้อนุมัติงบประมาณไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผูกพัน ปี 2559-2560 วงเงิน 95 ล้านบาท  เพื่อเพิ่มศักยภาพของลานจอดเครื่องบินเพิ่ม ให้รองรับการลงจอดของเครื่องบินได้มากขึ้น  รองรับสายการบินขนาดใหญ่ได้ ที่ในอนาคต ขณะนี้คาดว่าน่าจะอยู่ในระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งในรายละเอียดกรมเป็นผู้กำหนดและอนุมัติทุกขั้นตอน
           
"เรื่องของสนามบินลำปาง ผมมีความเห็นว่า เรื่องสนามบินแห่งใหม่หรืออะไรต่างๆยังเป็นเรื่องที่ห่างไกลมาก แต่คนลำปางก็ให้ความสนใจค่อนข้างมาก ในส่วนของ ท่าอากาศยานลำปางขณะนี้ก็มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาสอบถามทั้งเกี่ยวกับ การขยายรันเวย์ การเวนคืนที่ดิน ค่อนข้างมากนับว่าเป็นประเด็นที่คนลำปางตื่นตัวและให้ความสนใจมากเรื่องหนึ่งทีเดียว" ผู้อำนวยการท่าอากาศยานลำปางกล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1077 วันที่ 6 - 12 พฤษภาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์