วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สื่อเหนือหนุน สภาวิชาชีพ ใช้กม.คุมเข้มสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม website counter

คณะกรรมาธิการสื่อ สปท.เดินสายฟังความเห็นสื่อ นักวิชาการ ภาคประชาสังคมภาคเหนือ สื่อหนังสือพิมพ์ ออนไลน์ วิทยุ กระจายเสียง โทรทัศน์ หนุนสภาร่มใหญ่คุมเข้มสื่อ ขณะที่กลุ่มหนังสือพิมพ์ ภาคพลเมือง เชื่อสื่อภูมิภาคยังไม่พร้อมที่จะดูแลกันเอง
           
ในการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปสื่อในยุคหลอมรวม โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)  เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นี้ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็น ร่วมกันในการผลักดันให้เกิดสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อให้มีองค์กรกำกับดูแลสื่อที่มี “สภาพบังคับ” ในสถานการณ์ที่องค์กรวิชาชีพที่มีอยู่ทั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ไม่สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการ และบรรณาธิการลานนาโพสต์เปิดเผยว่า  การประชุมครั้งนี้ เป็นการเดินสายรับฟังความเห็นครั้งแรก หลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จสิ้น โดยเป็นกฎหมายที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่โต้แย้งกันอยู่ เนื่องจากการมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเปิดโอกาสให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อได้ ในขณะเดียวกันสังคมก็เรียกร้องให้จัดการสื่อที่ละเมิดจริยธรรมอย่างเด็ดขาด มีการลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งภายใต้บริบทของสังคม และโครงสร้างการทำงานของสภาวิชาชืพที่มีอยู่ไม่สามารถทำได้
           
“ยังมีรายละเอียดอีกมาก ที่ต้องพูดคุย ฟังความเห็นกัน เพราะเมื่อสื่อบอกว่าคุมกันเองได้ แต่สื่อก็ยังละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีหลักประกันอะไรสำหรับผู้บริโภคที่จะมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะไม่ถูกละเมิดอีก ถ้าคำตอบไม่ชัดเจน เราคงปฏิเสธยากที่จะยอมรับให้มีกฏหมายมาเป็นกลไกเสริมให้สามารถบังคับกันได้ หรือให้สภาวิชาชีพมีเขี้ยวเล็บมากขึ้น แทนที่จะเป็นเสือกระดาษอย่างที่สังคมตั้งข้อสงสัย แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องออกแบบให้สภาวิชาชีพที่มีอยู่ หรือจะตั้งขึ้นใหม่ในอนาคต มีความเข้มแข็งในการกำกับ ดูแลกันเอง ให้เขามีบทบาทเต็มที่ในการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน หรือจัดการให้มีการลงโทษกันเอง สภาวิชาชีพใหญ่ที่จะตั้งขึ้นนี้จะเข้าไปมีบทบาท ต่อเมื่อเขาทำกันเต็มที่แล้ว ยังจัดการไม่ได้ พูดง่ายๆก็เหมือนการทำหน้าที่เป็นศาลสูงนั่นเอง”
           
นายจักร์กฤษ กล่าวและว่า ในการฟังความเห็นทั้งสามกลุ่ม คือกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภค ตัวแทนภาคประชาชน และนักวิชาการ ต่างมีความเห็นว่า กลไกที่มีอยู่ไม่สามารถบังคับให้สื่อปฏิบัติเคร่งครัดตามหลักจริยธรรมได้ นอกจากการมีกฎหมายแล้ว กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ ยังมีความเห็นว่า สภาวิชาชีพนี้ควรมีอำนาจในการเพิกถอนบัตรประจำตัวผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ใบรับรองสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และอาจรวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในกรณีฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงด้วย
           
ขณะเดียวกัน กลุ่มสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ก็มีความเห็นที่สอดคล้องกัน คือ เห็นด้วยในอำนาจเพิกถอนบัตรประจำตัว หรือใบรับรองสมาชิก โดยจะต้องมีกฎ กติกา กระบวนการชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่จะถึงขั้นการเพิกถอน และจะต้องมีกำหนดระยะเวลาในการเพิกถอน ความเห็นนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งสามกลุ่ม แตกต่างเพียงกลุ่มผู้บริโภคเสนอให้มีการขอรับใบอนุญาตสื่อมวลชน มีการสอบใบอนุญาตสื่อมวลชน อีกทั้งให้เพิ่มบทกำหนดโทษและมีสภาพบังคับใช้ได้จริง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1079 วันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์