วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

นศ.เทคนิคลำปางเจ๋ง สร้างเครื่องช่วยเด็กติดในรถ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

เทคนิคลำปางเจ๋ง คิดค้นอุปกรณ์ป้องกันเด็กติดในรถ สอษ.สั่งผลิต 1,000 ชุด เปิดให้วิทยาลัยเทคนิคเป็นศูนย์ติดตั้งทั่วประเทศ นักศึกษาภูมิใจได้มีส่วนช่วยเหลือเด็กและเยาวชนของชาติ
           
วิทยาลัยเทคนิคลำปาง สร้างชื่อเสียงระดับประเทศ ผลิตอุปกรณ์ป้องกันเด็กติดในรถ ติดตั้งบนรถตู้รับส่งนักเรียน โดยใช้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนภายใน และส่งสัญญาณเตือนภัยให้ดังขึ้น พร้อมส่งข้อความเข้าหมายเลขโทรศัพท์ได้ 5 หมายเลข  โครงงานดังกล่าว เกิดจากเด็กนักศึกษาที่มีแนวคิดในการช่วยเหลือเด็ก ซึ่งนักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้จบการศึกษาไปแล้ว และได้มีรุ่นน้องมาสานต่อจนประสบความสำเร็จ

อ.อรรถพร ไพฑีระกุล  หัวหน้าแผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง เปิดเผยว่า สำหรับที่มาของโครงงานเครื่องป้องกันเด็กติดในรถของวิทยาลัยเทคนิคลำปาง เริ่มต้นจากเมื่อปี 2555 นักศึกษาชั้น ปวส.2 ได้ทำโครงงานเพื่อจบการศึกษา โดยได้แนวคิดมาจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเดินทางโดยรถตู้รับเด็กนักเรียนนักศึกษา  จึงคิดประดิษฐ์อุปกรณ์นี้ขึ้น ซึ่งโครงงานชิ้นนี้ได้มีโอกาสเข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับภาค ได้เข้าร่วมประกวดเมื่อปี 2556 ที่ จ.เพชรบูรณ์ และได้รับรางวัลระดับภาค ในตอนนั้นยังไปไม่ถึงระดับประเทศเพียงแต่ได้เข้าร่วมงานเท่านั้น 

หลังจากนั้นเมื่อต้นปี 2559 ได้มีข่าวเด็กติดอยู่ในรถเสียชีวิตเกิดขึ้นอีก ทางสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอษ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดข้อมูลย้อนหลังว่ามีวิทยาลัยใดที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมีชื่อวิทยาลัยเทคนิคลำปางอยู่  จึงได้ประสานนายจิระพงษ์ แสงวนิช ผอ.วิทยาลัยเทคนิคลำปาง สั่งการมาที่แผนกอิเล็กทรอนิกส์ให้ติดตั้งระบบในรถตู้ และนำไปขยายผล เมื่อวันที่ 16 พ.ค.59 ที่ผ่านมา ทีมงานได้นำรถตู้ที่ติดตั้งระบบแล้วไปที่ สอษ. พร้อมกับได้มีการแถลงข่าวการติดตั้งระบบดังกล่าว  ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี 
           
อ.อรรถพร กล่าวว่า  ขณะนี้ สอษ.ได้มีคำสั่งให้วิทยาลัยเทคนิคเป็นฐานการผลิตทั้งหมด เบื้องต้นสั่งผลิตอุปกรณ์จำนวน 1,000 ชุด โดยทีมงานได้เข้าไปอบรมให้ความรู้กับอาจารย์ช่างอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ  ที่วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.59 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์บริการในการติดตั้งระบบดังกล่าว  ซึ่งจะมีศูนย์ฯ ประมาณ 90 แห่งทั่วประเทศ 
           
นายพงศธร วงศ์มอก และนายกิติพงษ์ สุริยะชัย นักศึกษาชั้น ปวช.3 แผนกอิเล็กทรอนิกส์ ได้อธิบายการทำงานของอุปกรณ์ว่า ในรถจะมีส่วนของกล่องวงจรควบคุมทั้งหมดเป็นลักษณะของสมองกลที่สั่งงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวภายในรถ ทันทีที่ระบบทำงานถ้ามีความเคลื่อนไหวเซ็นเซอร์จะส่งสัญญาณไปให้กล่องควบคุม จะสั่งให้ไซเรนดังและลดกระจกคนนั่งด้านซ้ายหน้าลงโดยอัตโนมัติ  ซึ่งรถต้นแบบจะเป็นในลักษณะของประตูไฟฟ้าสั่งการให้เปิดประตูได้ ส่วนรถคันอื่นที่ไม่ใช่ประตูไฟฟ้าจะเป็นการลดกระจกแทน จะทำให้ผู้อยู่ใกล้เข้าช่วยเหลือได้ทันเวลา  กรณีถ้าเป็นกระจกมือหมุนรุ่นเก่าก็จะต้องทำวงจรเพิ่มให้เป็นกระจกไฟฟ้าขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง การทำงานของระบบ เมื่อดับเครื่องรถ ดึงกุญแจออก และล็อกรถแล้วระบบจะเริ่มทำงาน หากพบความเคลื่อนไหว ระบบจะสั่งการทันทีใน 30 วินาที  จะมีเสียงสัญญาณเตือนดังเหมือนกับสัญญาณกันขโมย และจะมีการส่งข้อความอัตโนมัติไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่กำหนดไว้ 5 หมายเลขด้วยกัน พร้อมกับแจ้งพิกัดที่ตั้งของรถคันดังกล่าว  
           
สองนักศึกษา ยังได้กล่าวอีกว่า ถึงแม้ตนจะไม่ได้เป็นผู้คิดค้นอุปกรณ์นี้ขึ้นมาโดยตรง แต่ก็ภูมิใจที่ได้สานต่องานของรุ่นพี่ที่ทำไว้ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับวิทยาลัย และยังช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติด้วย
           
นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยเทคนิคลำปางยังได้ดำเนินการการจดสิทธิบัตรแล้ว อยู่ในช่วงของการจัดเตรียมเอกสารให้สอดคล้องและครอบคลุมกับโครงงานที่คิดค้นขึ้น ซึ่งคณะอาจารย์และนักศึกษามีความหวังว่า อุปกรณ์จะเป็นประโยชน์ และในอนาคตจะมีการบัญญัติในข้อกฎหมายให้มีการติดตั้งในรถตู้รับส่งนักเรียนทุกคัน เพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็กต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1080 วันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์