วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รวมพลังกูวิกฤตเซรามิก นายกใหม่ผ่าทางตัน ‘ชัยณรงค์’รับอุตฯทรุด

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ท่ามกลางเศรษฐกิจและภาพรวมของอุตสาหกรรมเซรามิกที่อยู่ในสภาวะย่ำแย่ การเปลี่ยนถ่ายตำแหน่งนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางคนปัจจุบันจึงอยู่ในความสนใจทั้งในและนอก
           
ชัยณรงค์ จุมภู หรือ ภพ เจ้าของโรงงาน เอ็มพีเซรามิค (MP CERAMIC) ปัจจุบันเป็นโรงงานผู้ผลิตกระดิ่งส่งออก ขึ้นนั่งนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางคนล่าสุดลำดับที่ 29 แม้จะอ่อนด้วยอาวุโสในวัยเพียง 45 ปี หากแต่เส้นทางการเติบโตในฐานะผู้ประกอบการเซรามิก  เป็นที่รู้จักในกลุ่มสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ATSME)ถือว่าได้รับการยอมรับและไว้วางใจให้เป็นหัวเรือใหญ่นำทัพเซรามิกลำปางให้พ้นจากช่วงธุรกิจขาลงอย่างท้าทาย
           
“ภาพรวมของอุตสาหกรรมเซรามิกตอนนี้ ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่แค่ทรง ต้องเรียกได้ว่าเกือบจะถึงทางตันเพราะจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกซบเซามาหลายปี ตลาดในประเทศเองก็นิ่งเพราะกำลังซื้อลดลง บางโรงงานยอดสั่งซื้อหาย แต่ก็มีบางส่วนที่ปรับตัวยืดหยุ่นให้อยู่ด้วยรูปแบบการทำตลาดใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผมมาจากโรงงานเล็กๆที่ยังต้องอาศัยการรวมกลุ่ม อาศัยเพื่อน และเครือข่ายในวงการเพื่อจับมือกันในภาคการผลิตและการตลาดให้เอื้อเฟื้อต่อกันแทนที่จะทำเองแบบเก่งทุกอย่างแต่เหนื่อยมาก การรวมกันเป็นสมาคมฯก็เช่นกัน ทุกคนมีความหวังว่ามาอยู่ด้วยกันจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่การมาเอาผลประโยชน์ส่วนตัว”

แผนและเป้าหมายของงานในฐานะนายกสมาคมฯจะทำอะไรบ้าง?

ผมมี 4 งานหลักที่ต้องเร่งทำแผนงานและหารือกับคณะกรรมการฯ
รวมพลรวมพลัง
           
"สิ่งแรกที่ผมทำคือเรื่องของการรวมพลรวมพลังขององค์กรให้เป็นทีมที่เข้มแข็งอีกครั้ง เรามีคนมีความสามารถเป็นกรรมการฯแต่ต้องวางแผนและแบ่งงานกันให้ชัดเจนเหมาะสม การให้เกียรติตามอาวุโสมันก็เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวผมให้ความสำคัญ เรื่องของการให้เกียรติกันในด้านการทำงานใช้โอกาสจากความเสียสละและความสามารถของกรรมการอย่างเต็มศักยภาพเราก็จะเป็นองค์กรที่แข็งแกร่ง  ปัจจุบัน สมาคมฯมีสมาชิก 143 โรงงาน และยังมีอีกกว่า 100 โรงงานขนาดเล็กที่ไม่เป็นสมาชิกแต่ยังเชื่อมโยงกันได้ รวมถึงสมาชิกสมทบซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตเช่น โรงงานขายดิน สี แร่ เครื่องมืออุตสาหกรรมเซรามิกต่างๆอีกกว่า 40 ราย ผมเชื่อว่า ทุกโรงงานยังต้องการพัฒนาและเครือข่ายทางการค้า"

ตะลุยตลาดอย่างจริงจัง

ถ้ามองแค่อุตสาหกรรมเซรามิกก็รู้ๆกันอยู่แล้วว่าเรื่องการตลาดเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ยังมีโอกาสและช่องทางการตลาดน้อยจากสาเหตุที่เจ้าของโรงงาน เป็นทั้งผู้บริหาร ผู้ดูแลงานในโรงงานและอื่นๆทุกอย่างในระบบ แค่ลูกค้ารายเดิมๆก็ไม่มีเวลาแล้วโอกาสที่จะไปออกตลาดใหม่ก็กลายเป็นเรื่องยาก หน่วยงานภาครัฐมีช่องทางมากมายให้เราไปเชื่อมโยงธุรกิจแสวงหาตลาดใหม่ๆ สมาคมฯเป็นหน่วยงานกลางที่งานต่างๆจะเชื่อมประสานเข้ามา มีสิทธิพิเศษมากมายให้ผู้ประกอบการไปร่วมงาน ดังนั้นใครที่พร้อมจะออกไปสู่โลกกว้าง ทั้งในและต่างประเทศก็จะหาทางนำกันไปให้มากที่สุด ล่าสุด 17-21มิ.ย. ที่จะถึงนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกไปมัณฑเลย์ ประเทศพม่า อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญและเป็นเรื่องยากที่พูดกันมานาน คือเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับเทรนด์การตลาดที่เปลี่ยนไป วิสัยทัศน์มุมมองใหม่ๆก็สำคัญที่ผู้ประกอบการเองต้องเข้าใจจึงจะส่งต่อหรือทำแผนงานร่วมกับนักออกแบบ นักการตลาดของโรงงาน

ผลกระทบแรงงานและวัตถุดิบ

"เรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมเซรามิกเป็นปัญหาใหญ่ที่เผชิญกันมาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่แรงงานทั่วไป จนถึงแรงงานขั้นสูงที่มีทักษะเฉพาะเหลือน้อยลงทุกวัน นักศึกษาที่จบสาขาเซรามิกก็แทบจะไม่เหลือแล้ว ส่วนแรงงานทั่วไปที่สอนงานกันเองในโรงงานก็ไหลไปอยู่ห้างสรรพสินค้าและธุรกิจขนาดใหญ่เพราะดูดีกว่าทำงานในโรงงานท้องถิ่น ส่วนเรื่องวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ดิน เหมืองแร่ต่างๆ วันนี้วัตถุดิบในการผลิตกำลังจะหมดแล้วเพราะกฎหมายสัมปทานยังไม่เปิดให้สัมปทานเพิ่มได้

เซรามิกลำปางมีชื่อเสียง แต่มีคนเรียนสาขาเซรามิกน้อยมาก

"ลำปางมีศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก แต่สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาเซรามิกก็มีน้อยมาก เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  อาชีวะศึกษาลำปาง และมีสาขาออกแบบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็มีคนมาเรียนน้อยมาก ดังนั้นบัณฑิตที่จะเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมเซรามิกจึงมีน้อยตาม จนน่าเป็นห่วงว่า นี่อาจจะเป็นเจเนอเรชั่นสุดท้ายก็ได้เพราะแต่ละโรงงานส่วนใหญ่มีพนักงานอายุมากกว่า 40 ปี เกือบทั้งนั้น"
           
ในเรื่องนี้ ชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ทุกเรื่องล้วนแต่เป็นอุปสรรคแต่ก็ยังพอมีโอกาส วิธีส่งเสริมอาจจะต้องการจัดโครงการทัศนศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจกับเด็กในการเลือกเรียนในอนาคต ผลักดันให้สถาบันการศึกษาร่วมกับโรงงานเปิดสอนแบบเรียนรู้จากสถานที่จริงจบมาก็ทำงานได้เลย ส่วนงานออกแบบดีไซน์ต่างๆ ต้องหาช่องทางให้เขาได้เข้าถึงโรงงานเพื่อรู้จักเรียนรู้กระบวนการเซรามิก จึงจะออกแบบที่สามารถผลิตและใช้งานได้จริง นอกจานี้ยังต้องจัดโครงการทัศนศึกษาในกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานขนาดเล็กๆให้ไปดู โรงงานที่ไม่เคยรู้ข้อมูลก็ใช้วัตถุดิบอย่างไม่คุ้มค่า รวมถึงการคิดราคาขายที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนจากต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเป็นที่มาของการแข่งขันราคาที่ไม่เป็นธรรมและทำลายกันเอง ซึ่งทางสมาคมฯเองอยากผลักดันให้มีศูนย์เรียนรู้เซรามิก ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างโรงงานที่มีความพร้อม สถาบันการศึกษาในลำปาง รวมถึง หน่วยงานหรือธุรกิจด้านท่องเที่ยว ในการเปิดศูนย์เรียนรู้ให้คนทั่วไปได้รู้จักเซรามิกในแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งการผลิต ศิลปะ และการท่องเที่ยวซึ่งอาจจะเป็นหนทางให้ผู้ผลิตได้พบกับลูกค้าในแง่มุมใหม่ กระตุ้นการพัฒนาที่ไม่ใช่แค่ผลิตแล้วขายส่งให้พ่อค้าคนกลางอีกต่อไป
           
มุมมองของ นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาคนใหม่ "ชัยณรงค์ จุมภู" อาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในแง่ความคิด หากแต่เขา ยังต้องการความร่วมมือจากทุกส่วนทั้งวงในและวงนอก ประกอบจิ๊กซอว์ของการพลิกฟื้นวิกฤติอุตสาหกรรมเซรามิกให้ตื่นจากภวังค์ได้หรือไม่ นับเป็นเรื่องท้าทายที่น่าจับตา 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1080 วันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์