วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

นอร์ทเทอร์นสยามซีดแลค ธุรกิจเปลี่ยนมือพ่อสู่ลูก

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

สายป่านที่ยาวไกลของครอบครัวพ่อค้าชาวจีนในลำปางตระกูล สัชฌะไชยที่รู้จักกันกว้างขวางในวงค้าขายในลำปางมานานกว่า 30 ปี  เติบโตในธุรกิจค้าครั่งมาจนถึงอุตสาหกรรมเชลแลค(Shellac)ผงาดขึ้นเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับต้นๆของประเทศไทยใต้ปีกของ ชัยศรี-พ.ญ.อภิญญาสัชฌะไชยซึ่งถือเป็นเถ้าแก่รุ่นที่สองที่บุกเบิกการค้าเข้าสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรม บ่มเพาะความแข็งแกร่งพร้อมส่งต่อทายาทรุ่นที่ 3 สยายปีกเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมเชื่อมโยงอย่างเป็นแบบแผน
           
ชัยศรี สัชฌะไชยCEO บริษัท นอร์ทเทอร์นสยามซีดแลค จำกัด เผยว่าจากประสบการณ์ค้าครั่งของครอบครัวตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ทำให้มองเห็นโอกาสในธุรกิจค้าครั่ง ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในยุค 30-40 ปีก่อน เพราะการค้าครั่งต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอด วงจรธุรกิจมีความซับซ้อน แต่ด้วยประสบการณ์สร้างความมั่นใจในเส้นทางธุรกิจสายนี้จึงเปิดโรงงานรับซื้อ-ขายครั่งมีเป้าหมายคือแปรรูป จากครั่งดิบเป็นครั่งเม็ดสู่ตลาดส่งออก ภายใต้ชื่อ บริษัท นอร์ทเทอร์นสยามซีดแลด จำกัดกำลังการผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 ตัน
           
“ยุคแรกสมัยพ่อแม่ผมค้าขายครั่งดิบชั่งกิโลให้พ่อค้าคนกลางในประเทศไทยใช้ครั่งไปใช้เป็นวัตถุดิบเคลือบในอุตสาหกรรมไม้ ในต่างประเทศก็นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆการค้าขายส่วนใหญ่ผ่านพ่อค้าคนกลางชาวอินเดีย แต่ทำได้ระยะหนึ่งเราก็พอจะรู้วงจรว่าตลาดอยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้ซื้อทั้งในและส่งออกไปต่างประเทศ เราก็พัฒนาตัวเองให้ก้าวไปถึงผู้ซื้อด้วยตัวเอง ตัดวงจรคนกลางออก ด้วยการใช้ช่องทางการสื่อสารที่พัฒนาในช่วง 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์และโซเชียลมีเดียทั้งหลายอีกทั้งเราไปพบลูกค้าที่ต่างประเทศด้วยตัวเอง ทำให้เราได้ลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อตรงไม่ผ่านคนกลางเป็นหนทางของความยั่งยืนที่มีตลาดรองรับที่แน่นอน ยุคผมก็เริ่มแปรรูปเป็นครั่งเม็ดและเชลแลคใช้ในอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ แต่พอมายุคนี้ ในตลาดโลกเขาค้าขายครั่งสำเร็จรูปเป็นเกล็ด และเป็นผง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง น้ำหอมต่าง สิ่งที่เราต้องทำคือตามตลาดและเทคโนโลยีให้ทัน พัฒนาตัวเองให้สามารถถือส่วนแบ่งตลาดนั้นให้เร็ว”
           
นั่นคือที่มาของการสยายปีกโรงงานอุตสาหกรรมครั่ง ของนอร์ทเทอร์นสยามซีดแลค สู่อภิชัย สัชฌะไชยทายาทรุ่นที่ 3ที่ต่อยอดธุรกิจโดยขยายพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมแชลแลคชนิดเกล็ด เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเคลือบในอุตสาหกรรมอาหาร และยา
           
“การใช้ช่องทางการสื่อสารเป็นเครื่องมือการตลาดเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาไปสู่การค้าระหว่างประเทศกับผู้ซื้อโดยตรง นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการตามเทรนด์ของตลาดโลก ซึ่งขณะนี้หันมาใช้ครั่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเป็นสารเคลือบอาหารและยา มีงานวิจัยหลายประเทศใช้ครั่งในกระบวนการผลิตน้ำหอม เป็นต้น เมื่อเรามองเห็นเทรนด์ของตลาดโลก ก็หันกลับมาพัฒนาตัวเองโดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้จากงานวิจัยซึ่งนักวิจัยไทยก็สามารถพัฒนาเครื่องจักรแบบที่มีคุณภาพไม่ต่างจากของญี่ปุ่น เยอรมันโดยที่ต้นทุนไม่สูงทำให้โรงงานมีกำลังที่จะทำได้ เราจึงตัดสินใจลงทุนขยายโรงงานผลิตเชลแลคชนิดเกล็ด เพื่อรองรับตลาดในอนาคต”อภิชัยเผยถึงแผนขยายธุรกิจในฐานะผู้สืบทอดรุ่นที่ 3
           
การขยายธุรกิจภาคผลิตเชลแลคชนิดเกล็ดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของแผนการขยายธุรกิจในยุคการเปลี่ยนถ่ายการบริหาร โดยภารกิจภายใต้อุตสาหกรรมครั่ง ยังมีแผนงานธุรกิจเชื่อมโยง ไปพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการนำน้ำทิ้งจากโรงงานครั่งทั้งหมด ใช้ในปลูกหญ้าเนเปียด้านหลังโรงงานพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ และที่ไร่ตำบลห้วยหลอ อำเภอแม่ทะ อีกร่วม 50 ไร่ และนำหญ้าเนเปียไปเลี้ยงวัวในฟาร์มวัวเนื้อขุน ที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 80 ตัว เพื่อสร้างสายพันธุ์วัวเนื้อขุนคุณภาพสูง รองรับแผนธุรกิจใหม่ที่เนื้อโคขุนกำลังมีความต้องการสูงในอนาคต
           
แม้ในระบบธุรกิจในตระกูล สัชฌะไชย จะมีรากฐานจากอุตสาหกรรมแต่ก็ยังมี ธุรกิจเล็กๆในสายทายาทอีก 2 ส่วนคือโรงงานสีข้าวโพด ใน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง นับเป็นโรงงานข้าวโพดแห่งแรกๆของลำปาง  ขณะนี้กำลังก่อตั้งธุรกิจฟิสเนส และ ฟู่หลงซาลาเปา ใกล้สี่แยก อสมท.ลำปาง ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว โดยมี คุณแม่ พ.ญ.อภิญญา สัชฌะไชยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเสมือนศูนย์กลางเชื่อมโยงทุกส่วนของธุรกิจครอบครัวให้เติบโตอย่างรอบคอบและมั่นคง
           
ชัยศรี สัชฌะไชยกล่าวว่าธุรกิจในตระกูล สัชฌะไชย สั่งสมประสบการณ์และผ่องถ่ายการบริหารมาแบบธุรกิจ "กงสี" แต่มีรูปแบบการส่งต่อแนวคิดการบริหารงานในครอบครัวกันอย่างเป็นระบบ โดยทุกคนในครอบครัวจะบริหารงานในธุรกิจที่มีตำแหน่งหน้าที่ และผลตอบแทนในรูปแบบบริษัท มีการประชุมหารือเฉพาะผู้บริหารในระบบธุรกิจลักษณะของการกึ่งพบปะหารือกันในครอบครัวสัปดาห์ละครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลความคืบหน้าการบริหารงานแต่ละส่วนเพื่อเชื่อมโยงเกื้อหนุนรวมถึงแก้ปัญหาในทิศทางเดียวกัน
           
“กงสีเป็นเหมือนดาบสองคมที่ต้องระวัง เพราะมีกงสีมากมายที่เจ๊งเพราะบริหารไม่เป็นระบบ คนในครอบครัวร่วมทำธุรกิจด้วยกัน มักมีปัญหาการไม่ลงรอย หรือการทำงานที่ขาดวินัยทางธุรกิจ ดังนั้นต้องแยกแยะเรื่องของครอบครัว เรื่องส่วนตัวออกจากระบบริหารงาน”
           
ขณะที่ อภิชัย สัชฌะไชย กล่าวปิดท้ายว่า รากฐานของธุรกิจกงสีที่มองเห็นการเติบโตทิศทางเดียวกัน ย่อมเปิดโอกาสในการเติบโต การส่งต่ออำนาจบริหารที่มีความเป็นอิสระ ภายใต้การดูแลกันอย่างใกล้ชิดมีการรับรู้แลกเปลี่ยนกันแบบกึ่งทางการและไม่ทางการ คนรุ่นเก่าก็มากประสบการณ์ แต่คนรุ่นใหม่เขาก็เร็วในเรื่องของการก้าวตามทันโลก เมื่อสองอย่างมารวมกันใช้ศักยภาพในด้านดีให้ธุรกิจเดินด้วยศักยภาพที่แท้จริง
           
เส้นทางของโรงงานครั่งเล็กๆในลำปางสู่หนทางผู้ส่งออกระดับประเทศ มูลค่าการส่งออกหลักร้อยล้านไม่ได้มาง่ายๆเพียงแค่ซื้อมาขายไป หากแต่การให้ความสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ มองหาโอกาสและกล้าลงทุนภายใต้การบริหารแบบกงสี ตระกูลสัชฌะชัย นับได้ว่าเป็นหนึ่งในท้องถิ่นลำปางผงาดอยู่ท่ามกลางสนามการค้าระดับโลกที่น่าจับตา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1084 วันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์