วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

โลกละมุนของคนรักกาแฟ

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
           
แดดบ่ายระอุอ้าว แทรกด้วยเสียงอึกทึกของยวดยานใจกลางเมืองลำปาง ทว่าเมื่อเปิดประตูเข้าไปในร้านกาแฟริมถนนบุญวาทย์ แม้จะเป็นห้องเล็ก ๆ เพียงคูหาเดียว แต่แอร์เย็นฉ่ำ เสียงพูดคุยเพียงพึมพำ และความหอมละมุนของกลิ่นกาแฟ ก็ทำให้รู้สึกราวกับว่า นี่คือโลกอีกใบที่ทับซ้อนอยู่ในโลกอันวุ่นวายภายนอก
           
เป็นที่รู้กันดีว่า ทุกวันนี้เมืองลำปางนั้น แทบทุกถนน แม้แต่ตามตรอกซอกซอย ล้วนเต็มไปด้วยร้านกาแฟ เฉพาะในเขตเทศบาลนครลำปาง มีร้านกาแฟและซุ้มกาแฟไม่ต่ำกว่า100 ร้าน บางร้านตั้งราคาขายให้ลูกค้าจ่ายได้ง่าย ๆ ขณะที่บางร้านเจ้าของใช้ประสบการณ์จากเมืองนอกมาเปิดร้านเล็ก ๆ ชงเอง ขายเอง ด้วยเชื่อมั่นว่า แม้ลำปางจะเป็นเมืองเล็ก ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ แต่ถ้าร้านกาแฟเจ๋งจริง ก็ต้องอยู่ได้ ร้านของเขาจึงไม่ใช่ขายกาแฟคุณภาพ ทว่าเนี้ยบในทุกรายละเอียด และแน่นอน ราคาย่อมสูงตามไปด้วย ซึ่งคอกาแฟบางกลุ่มก็พร้อมจะจ่าย เพื่อแลกกับกาแฟดี ๆ ที่ชงอย่างประณีต โดยเจ้าของร้านผู้รักกาแฟ เข้าใจความซับซ้อนของกาแฟ และพร้อมตอบทุกข้อสงสัยในเรื่องกาแฟ

กาแฟเป็นพืชพื้นเมืองของอาบีซีเนียและอาราเบีย ถูกค้นพบในราวศตวรรษที่ 5 ที่ประเทศอาราเบีย สมัยนั้นไม่มีใครให้ความสนใจนัก จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 9 คนรักกาแฟคงเคยได้ยินเรื่องของคนเลี้ยงแพะชาวอาราเบียชื่อคาลดี ที่นำแพะออกไปเลี้ยง แล้วแพะบังเอิญไปกินผลและใบกาแฟเข้า จนคึกคะนองผิดปกติ คาลดีนำเรื่องนี้ไปเล่าให้พระมุสเล็มองค์หนึ่งฟัง ท่านจึงไปเก็บผลกาแฟมากะเทาะเปลือก แล้วเอาเมล็ดไปคั่ว จากนั้นก็ต้มในน้ำร้อนดื่ม ปรากฏว่า รู้สึกกระปรี้กระเปร่าดี จึงได้บอกต่อ ๆ กันไป ชาวอาราเบียจึงรู้จักกาแฟมากขึ้น จากนั้นกาแฟก็เริ่มแพร่หลายไปยังชาวอิตาเลียน ดัตช์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และกระบวนการผลิตกาแฟก็ได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาต่อมา
           
ตามบันทึกของพระสารศาสตร์พลขันธ์ (นายเจรินี ชาวอิตาเลียน) เมื่อปี พ.ศ. 2454 กล่าวว่า ประเทศไทยปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2393 ส่วนพันธุ์โรบัสตานั้น มีชาวไทยมุสลิมคนหนึ่ง ชื่อ นายตีหมุน เป็นผู้นำมาปลูกคนแรกที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2447 ก่อนจะแพร่หลายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย
           
ปัจจุบันทั่วโลกมีกาแฟอยู่มากกว่า 6,000 พันธุ์ แต่มีเพียง 2 พันธุ์เท่านั้น ที่ได้รับความนิยมปลูกเป็นการค้า นั่นคือ พันธุ์อาราบิกาและพันธุ์โรบัสตา
           
กาแฟพันธุ์อาราบิกาเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณประเทศเอธิโอเปีย เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศค่อนข้างเย็น กาแฟพันธุ์นี้มีคุณภาพดี รสชาติหอมหวนชวนดื่ม และมีความเป็นกรดเล็กน้อย ปลูกกันมากบนพื้นที่สูง 1,500-2,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง โดยจะมีปริมาณคาเฟอีนร้อยละ 0.5-1.4
           
กาแฟโรบัสตาเป็นพันธุ์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีมาก เป็นกาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิมแถบศูนย์สูตร มีรสชาติเข้มข้น ทนทานโรคมากกว่าพันธุ์อาราบิกา สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพอากาศอบอุ่นกว่า สามารถปลูกได้ดีตั้งแต่ระดับทะเลปานกลาง ไปจนถึงระดับ 1,200 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง กาแฟโรบัสตาต้องการความชุ่มชื้นและฝนที่ตกอย่างสม่ำเสมอ ชอบร่มเงา โดยจะมีปริมาณคาเฟอีนร้อยละ 1.7-4.0  
           
ระหว่างคอกาแฟสายอาราบิกากับสายโรบัสตายังมีดรามาออกมาเรื่อย ๆ ไม่นับสายสุขภาพอย่างกาแฟออร์แกนิกกับไม่ออร์แกนิก เรื่องนี้ เจ้าของร้านกาแฟเล็ก ๆ ริมถนนบุญวาทย์บอกว่า ลูกค้าของเขาส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งไม่แคร์เรื่องนี้ ทว่าสนใจในเรื่องกระบวนการมากกว่า พร้อมกับเสริมว่า การคั่วจนเกือบไหม้นั่นต่างหากคือเรื่องที่ควรกังวล เพราะนั่นหมายความว่าคุณกินคาร์บอนเข้าไปทุกวัน
           
ขณะที่อีกฟากหนึ่งของประเทศไทย มีกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในวิถีของโรบัสตา ที่บ้านบกกราย หมู่บ้านเล็ก ๆ ในหุบเขาอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง หากดูในแผนที่โลก จะพบว่าที่นี่ตั้งอยู่ในระนาบเหนือเส้นศูนย์สูตรเดียวกับแหล่งกาแฟที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลกอย่างเคนยา บราซิล และโคลัมเบีย 
           
ในนามของก้อง วัลเลย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสตามาเนิ่นนาน นอกจา
กกาแฟจะปลอดสารเคมีแล้ว ยังคั่วในกระทะแบบโบราณที่อุณหภูมิไม่ถึง 400 องศาฯ ไม้พายที่ใช้ในการคนเมล็ดกาแฟยังทำจากไม้อบเชย (ไม้ประจำจังหวัดระนอง) อีกทั้งการผสมกาแฟโรบัสตาหลายสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์เมล็ดเล็ก เมล็ดใหญ่ และเมล็ดโทนในการคั่วรวมกันแต่ละครั้ง เป็นการเบลนด์โดยธรรมชาติ ทำให้กาแฟที่นี่มีเอกลักษณ์
           
นอกจากจะได้คั่วเอง ชงเอง ดื่มเอง ที่นี่ยังมีชาดอกกาแฟ (Coffee Blossom) เป็นตัวชูโรง ใครได้จิบสักครั้งเป็นต้องติดใจในความหอมละมุน เจือรสหวานนิด ๆ ชาดอกกาแฟไม่มีคาเฟอีน แต่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จิบได้เรื่อย ๆ ไม่มีเบื่อ
           
ไม่มีกาแฟของใครดีกว่าของใคร เพียงแต่ลักษณะเฉพาะตัวต่างกัน บาริสตาชาวอิตาเลียนคนหนึ่งกล่าวไว้ ไม่เพียงเป็นพืชที่เก่าแก่ของโลก เมล็ดกาแฟยังต้องผ่านกระบวนการอันซับซ้อนกว่าจะกลายมาเป็นเครื่องดื่มของคนทั่วโลก และมันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า นอกจากรสชาติแล้ว บรรยากาศในร้านกาแฟก็ได้สร้างสายสัมพันธ์แบบหลวม ๆ ดึงดูดคอกาแฟให้กลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1083  วันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์