วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คืนสู่อดีตที่วัดพระธาตุหมื่นครื้น


จำนวนผู้เข้าชม website counter

หากไม่มีคนงานกำลังก่อสร้างอุโบสถ วัดพระธาตุหมื่นครื้นกลางสัปดาห์คงเงียบเหงากว่านี้ ภาพวิหารเก่าที่คงเหลือเพียงแนวของผนังก่ออิฐและพระพุทธรูปปูนปั้นไร้เศียร กับองค์เจดีย์ล้านนาแปดเหลี่ยมทางด้านหลัง ก็คงชวนให้ใครสักคนย้อนความรู้สึกนึกคิดไปถึงอดีต เมื่อครั้งที่วัดโบราณแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1223 หรือกว่า 1,336 ปีมาแล้ว ทำให้วัดพระธาตุหมื่นครื้นเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งของเมืองลำปางและทำให้การมาชมวัดแห่งนี้น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น

วัดพระธาตุหมื่นครื้นตั้งอยู่ที่บ้านวังหม้อพัฒนา ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมืองฯ ในส่วนของวิหารเก่าและองค์พระธาตุเจดีย์ดูขรึมขลัง แม้ตกหล่นความสมบูรณ์แบบไปด้วยกาลเวลา ทว่าก็ยังคงหลงเหลือเค้าของความงาม นับเป็นวัดนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเช่นเดียวกับวัดป่าพร้าว ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ปัจจุบันวัดป่าพร้าวเหลือเพียงซากเจดีย์ที่มีโครงเหล็กค้ำยันล้อมรอบเพื่อพยุงโครงสร้างไว้ไม่ให้พังครืน ดูเหมือนว่าเมืองลำปางของเราจะมีวัดและเจดีย์ร้างอยู่หลายแห่ง แต่วัดพระธาตุหมื่นครื้นแม้จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี แต่ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาเป็นระยะ
           
ปี พ.ศ. 2535 เมื่อทางราชการกับคณะศรัทธาได้ร่วมกันสำรวจยอดองค์พระธาตุเจดีย์ที่หักพัง ก็ได้พบพระธาตุถึง 301 องค์ ประกอบไปด้วยพระธาตุของพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และพระสิวลี ขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด นอกจากนี้ ยังมีแก้วประดับ 79 เม็ด พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร 3 องค์ และพิมพ์พระทำด้วยเงินแท้อีกจำนวนหนึ่ง
           
วัดพระธาตุหมื่นครื้นคงเป็นที่รู้จักของคณะศรัทธาแค่บางกลุ่มหากในปี พ.ศ. 2554 ไม่เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักติดต่อกันยาวนานจนกระทั่งองค์พระธาตุเจดีย์ที่โครงสร้างทำด้วยอิฐมอญเก่าแก่พังทลายลงมาเสียหายจำนวนมาก ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปทั่วประเทศ ทำให้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจวัดเล็ก ๆ กระทั่งในปีถัดมาสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ดำเนินการขุดสำรวจบริเวณรอบองค์พระธาตุเจดีย์และวิหารเก่า เพื่อบูรณะและขุดตรวจสอบชั้นวัฒนธรรม นำมาซึ่งการค้นพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น เศษกระเบื้องดินเผาในสมัยล้านนาตอนต้น ไหโบราณ และตะปูจีน ที่คาดว่าเป็นของที่นำเข้ามาใช้ในการก่อสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วยังพบพระพุทธรูปเก่าแก่ขนาดใหญ่ พร้อมด้วยแจกันคล้ายจะบรรจุอัฐิไว้ด้านใน นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบแนวกำแพงแก้วโบราณอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ยังขุดเจอปฏิมากรรมรูปเศียรเณรโบราณครึ่งใบหน้า ที่มีรูปแบบการปั้นคล้ายตุ๊กตา
           
ถึงแม้บริเวณวิหารเก่าจะมีป้ายห้ามผู้หญิงขึ้นไปเฉกเช่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกหลายแห่งในดินแดนล้านนา ทว่าการได้ถอยห่างออกมามองภาพเบื้องหน้าบางทีก็ได้มุมมองที่กว้างขึ้น แต่ในเบื้องลึกแล้ว น่าเสียดายที่ในวัดไม่มีการบอกรายละเอียดด้านต่าง ๆ ไว้ ทั้งประวัติความเป็นมาของวัด ที่มาของชื่อ “หมื่นครื้น” รายละเอียดขององค์พระธาตุเจดีย์และวิหารเก่า ตลอดจนผลการตรวจสอบโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบกรมศิลปากรได้ข้อสรุปแล้วหรือยัง ซึ่งก็เชื่อเหลือเกินว่า คนที่มีหัวใจรักโบราณสถานหลายคนก็คงอยากรู้

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1084 วันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์