วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รถตู้มหาภัย !

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

อุบัติเหตุรถตู้ โรงเรียนคุ้มเกล้า สกอลา ย่านมีนบุรี เบรกแตก ทำให้รถพุ่งชนที่กั้นทาง ไฟลุก 11 ชีวิต ไหม้เกรียมอยู่ในกองเพลิง ริมถนนสายมอเตอร์เวย์ จังหวัดชลบุรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง คนที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถตู้เป็นยานพาหนะหลัก อกสั่นขวัญแขวน
           
โดยเฉพาะรถโรงเรียน เหตุรถตู้แปรสภาพเป็นกองเพลิงที่ชลบุรี สะท้านมาถึงรถตู้รับส่งนักเรียนที่ลำปาง
           
นอกจากมอเตอร์ไซด์ หนังหุ้มเหล็กที่ขึ้นชื่อว่าเป็นยานพาหนะ ที่มีอัตราเสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูงแล้ว การโดยสารรถตู้ที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก หากเกิดอุบัติเหตุก็จะมีโอกาสสูญเสียคนจำนวนมาก เกิดโศกนาฏกรรมหมู่ ที่หลายกรณียังเป็นภาพหลอนของสังคมไทย เช่น กรณีแพรวา 9 ศพ
           
รถตู้ดัดแปลงวางตั้งเก้าอี้ไว้เกิน 12 ที่นั่ง ที่มีถึง 90 % กลายเป็นข้อถกเถียงของพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กนักเรียนลำปาง ในวันที่ทุกอย่างยังเรียบร้อยดี ที่นั่งจะเกินไปบ้าง ผิดแบบไปบ้าง ก็คงไม่คิดไกลเกินเงาตัวเอง จนวันที่ความสูญเสียมาเยือน เหตุผล ความเศร้าสะเทือนใจ และถ้อยคำประเภท “รู้งี้”ก็จะตามมา
           
คนขับรถตู้นั้น ก็จัดเข้ากลุ่มได้กับประเภทคนขับรถบรรทุก คือถ้าขับรถจนเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่ตาย ก็จะต้องหนีความผิดกันไปตามระเบียบ ซึ่งความจริงไม่เคยมีระเบียบว่าชนแล้วต้องหนี
           
แต่คนที่เป็นพ่อ เป็นแม่ ถ้าวันใดต้องสูญเสียลูกเล็กๆไป ด้วยความคะนองมือ คะนองteen ของคนขับ ย่อมเศร้าโศกเสียใจ และแม้ยังไม่เกิดเหตุก็ต้องให้ปลอดภัยไว้ก่อน โดยเฉพาะรถตู้สาธารณะ รถตู้รับส่งนักเรียนที่มีสถิติอุบัติเหตุมากขึ้นทุกปี
           
ผลสำรวจจากโครงการวิจัย การประเมินคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของระบบรถโดยสารสาธารณะของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2557- มิถุนายน 2558 สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารสาธารณะสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 41
           
อีกทั้งยังสร้างความสูญเสียในชีวิตและร่างกายสูงสุดเมื่อเทียบกับรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น เฉลี่ยมีผู้บาดเจ็บประมาณ 27 รายต่อเดือน และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 9 รายต่อเดือน
           
เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ทำให้จำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นและเส้นทางการเดินรถก็ขยายทั่วประเทศ ส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุเพิ่ม
           
อีกทั้งนโยบายผ่อนปรนของรัฐที่ผ่านมา เช่น เดิมอนุญาตให้รถตู้ที่จดทะเบียนเป็นรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด 1 คัน เปลี่ยนเป็นรถตู้โดยสารระหว่างจังหวัดได้ 3 คัน หรือกำหนดให้รถตู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตสามารถให้บริการได้อย่างถูกกฎหมายด้วยการเดินรถร่วมกับองค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
           
แต่มาตรการกำกับดูแลรถตู้โดยสารสาธารณะที่มากขึ้นนั้นยังหละหลวม ขาดกลไกในการประเมินผลมาตรการ และติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐทำให้ไม่สามารถควบคุมการเพิ่มปริมาณรถและจัดระเบียบด้านความปลอดภัยได้
           
จากสถิติพบว่า รถตู้โดยสารสาธารณะที่จดทะเบียนใหม่เพิ่มจาก 512 คัน ในปี 2549 เป็น 4,560 คัน ในปี 2553 เฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 72.8 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถตู้ทะเบียนสะสมก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากเช่นกัน อีกทั้ง จำนวนรถโดยสารที่จดทะเบียนสะสมในช่วงปี 2550-2557 คิดเป็นร้อยละ 0.98 ต่อปี สูงกว่าจำนวนใบอนุญาตประกอบการที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และยังไม่รวมถึงรถตู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถตู้สาธารณะ (ป้ายดำ) ที่ยังให้บริการผู้โดยสารอยู่บนท้องถนน
           
ถึงวันนี้ รถตู้สาธารณะรูปทรงกล่องยาวๆ ที่ไม่น่าจะเกาะถนนมากนัก หากใช้ความเร็วสูง ก็ยังเป็นพาหนะขนส่งคนจำนวนมากเป็นหลักมากกว่ารถประเภทอื่น โดยเฉพาะรถนักเรียนซึ่งเกือบ 100 % ใช้รถตู้
           
วันนี้รถตู้รับ-ส่งนักเรียนลำปาง ยังท้าทายกฎหมายด้วยจำนวนที่นั่งดัดแปลงมากกว่ากำหนด หากลูบหน้าปะจมูกกันไป ก็คงลากจูงกันต่อไปได้ จนวันที่ต้องกล่าวคำว่า “เสียใจ” วันนั้นจึงอาจจะเป็นวันที่ทุกคนยอมรับปฏิบัติตามกฎหมายได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1083  วันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์