วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แหงนมองจักรวาล ในวิหารวัดประตูต้นผึ้ง

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

วัดประตูต้นผึ้งย่านท่ามะโอเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีพุทธศาสนิกชนหลั่งไหลกันมาไม่ขาดสาย เพราะต่างเลื่อมใสศรัทธาพระอธิการณรงค์ ปภากโร เจ้าอาวาส วัดเล็ก ๆ แห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2380 ในสมัยเจ้าน้อยขัตติยะ บุตรเจ้าคำโสม โดยชื่อวัดมาจากชื่อประตูเข้าเวียงเหนือ คือประตูต้นผึ้ง ซึ่งเป็นประตูที่อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด
           
เราแหวกผ่านสาธุชนล้นหลามเข้ามาในวิหารที่เงียบสงบ ก้มกราบพระประธานปางมารวิชัย แล้วไม่ลืมแหงนมองขึ้นไปบนเพดานที่ซึ่งจักรวาลของคนสมัยก่อนสอดแทรกคำสอนสงบนิ่งอยู่บนนั้น
           
คติจักรวาลเป็นแนวคิดที่เข้ามาพร้อมกับการเผยแผ่ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ จนเป็นที่ยอมรับของผู้คนในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ชาวพุทธในสังคมไทยถ่ายทอดแนวคิดคติจักรวาลด้วยวรรณกรรมและศิลปกรรม เพื่อช่วยปลูกฝังความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม การละเว้นกรรมชั่ว สร้างกรรมดี ส่งผลให้สังคมสงบร่มเย็นเรื่อยมาทั้งนี้ จักรวาลในคติความเชื่อของชาวพุทธ หมายถึง ปริมณฑลแห่งภพภูมิทั้งสาม หรือไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งเป็นการแสดงสถานะชีวิตของสรรพสัตว์ในจักรวาล การจะไปเกิดในสถานะชีวิตระดับใด ขึ้นอยู่กับกรรมดีกรรมชั่วของตน สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วนเวียนอยู่ใน 3 ภูมิไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า “วัฏสงสาร” ซึ่งพระพุทธศาสนามีหนทางหลุดพ้นออกจากวัฏสงสารไปสู่นิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

งานศิลปกรรมล้านนาอาศัยเนื้อหาคติจักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนาเช่นนี้ มาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ ถ่ายทอดจินตนาการ ผ่านรูปทรงสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความลึกซึ้งของหลักพุทธธรรม ดังเช่น งานพุทธศิลป์เพื่อแสดงภาพจักรวาลและดวงดาวในวิหารล้านนา ซึ่งพบเห็นได้ในหลาย ๆ วัด
           
วิหารวัดประตูต้นผึ้ง คือหนึ่งในที่ที่เราจะพบการแสดงภาพดวงดาวบนท้องฟ้าปรากฏบนดาวเพดานอย่างน่าชมซึ่งเราคงไม่มีทางรู้ว่า วัสดุสีทองบนเพดานที่มีภาษาพม่ากำกับอยู่นั้น มีความหมายว่าอย่างไร หากกวิชาการโครงการล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้ตีความเอาไว้ว่า ภาพจักรวาลในวิหารแห่งนี้สอดคล้องกับคัมภีร์ใบลาน ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการถ่ายทอดในเชิงทำนายทายทักตามราศี ส่งผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมตามคติความเชื่อและเรื่องเล่าสอนใจกันมาถึงปัจจุบันเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ ตลอดจนเป็นเรื่องการทำนายถึงอนาคต การให้แนวทางในการทำบุญเพื่อทำนุบำรุงศาสนา เช่น สร้างเสนาสนะ สถานที่สาธารณประโยชน์ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ เพื่อรับอานิสงส์จากการสร้างตามตำนานดาวช้าง ระสีเจ็ดตน โดยแบ่งตามปีเกิด วันเกิด เป็นต้น
           
ในการเรียงลำดับดาวฤกษ์ทั้ง 27 กลุ่มบนท้องฟ้าบนเพดานวิหารวัดประตูต้นผึ้ง ตามคัมภีร์ใบลานเรื่องมูลฤกษ์และสังขยาฤกษ์ กลางเพดานเขียนว่า “ลักขณฤกษ์ ๒๗ ตัว ๑๒ รวายสี” ที่เรียงจากด้านทิศตะวันออกของวิหารเวียนมาทางขวามือถึงทิศตะวันตก แล้ววกกลับมาจบกลุ่มดาวฤกษ์ที่ 27 ด้านซ้ายของเพดานวิหารทิศตะวันออก ในลักษณะการเวียนประทักษิณ เริ่มจาก 1 อัศวินี 2 ภรณี 3 กฤตติกา 4 โรหิณี 5 มฤคศิระ 6 อารทรา 7 ปุนัพสุ 8 ปุษยา 9 อาศเลษา 10 มฆา 11 บุรพผลคุณี 12 อุตรผลคุณี 13 หัฏฐา 14 จิตระ 15 สวาสติ 16 วิศาขา 17 อนุราธะ 18 เชษฐา 19 มูละ 20 บุรพาษาฒะ 21 อุตรษาฒะ 22 ศราวณะ 23 ธนิษฐา 24 ศตภิษัช 25 ปุรพภัทรบท 26 อุตรภัทรบท 27 เรวัตติ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่สัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ คือ นกยูง ส่วนพระจันทร์ คือ กระต่าย
           
นอกจากนี้ ก็ยังมีภาพแสดงกลุ่มดาวฤกษ์เรียงตัวกัน จากด้านบนของภาพคือทิศตะวันออก ส่วนด้านล่างคือทิศตะวันตก ประกอบด้วยดาวฤกษ์กลุ่มที่ 10 มาฆา 11 ปุพพมัคคุณี 13 อาสาฬห 14 จิตร 15 สวัสสติ 18 เชฎฐะ 19 มลหถี 27 อนุราธะ พร้อมชื่อราศี กันยรวาสี (กันย์) ตุลลรวายสี (ตุลย์) ประจิกรวายสี (พิจิก) ธนูรวายสร (ธนู)
           
หลังจากแหงนมองท้องฟ้าในวิหารได้สักพัก เราก็ตระหนักดีว่าคงไม่สามารถเข้าใจความเป็นไปในจักรวาลได้ทั้งหมด แต่ที่แน่ ๆ การดูดาวคือการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจักรวาล เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเวลา ทิศทาง ความเชื่อ ฤกษ์ยาม หรือแม้แต่เคราะห์กรรม อีกทั้งยังยืนยันด้วยว่า ธรรมมะกับธรรมชาติมีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1086 วันที่ 8 - 14 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์