วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บ้านหลุก บ้านร้าง

จำนวนผู้เข้าชม webs counters

ล้ายเป็นบ้านลับแลที่คนทั่วไป เข้าไม่ถึง หมู่บ้านกลุ่มแกะสลักไม้ยอดฝีมือบ้านหลุก อ.แม่ทะ ร้างผู้คนมาหลายปีแล้ว  ทั่วบริเวณเงียบสงัดราวป่าช้า นานๆถึงจะมีผู้คนผ่านไปมา
           
นี่เป็นเพราะฝีมือช่างตกต่ำจนสู้ช่างแกะสลักไม้จากถิ่นอื่นไม่ได้ หรือเหตุผลอื่นใด
           
คำตอบก็คือ การขาดการบริหารจัดการ ขาดความใส่ใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขาดการตลาด ขาดการประชาสัมพันธ์ “ของดีที่มีอยู่” ของจังหวัดลำปาง  ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่
           
อาจกล่าวได้ว่า ระยะเวลา 3 ปีหลังมานี้ ยาวนานก็จริง แต่ไม่นานพอที่จะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในลำปาง ได้เข้าใจและรับรู้ว่า งานฝีมือแกะสลักไม้ที่บ้านหลุก ซึ่งเปรียบได้กับบ้านถวาย 2 ที่หางดง เชียงใหม่นั้น อยู่ในภาวะที่นิ่งสนิท ไม่ไหวติง มีลมหายใจ แต่ไร้ชีวิต
           
มีเสียงสะท้อนที่หลากหลาย หลัง “ลานนาโพสต์” รายงานสถานการณ์ล่าสุดของบ้านหลุก ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งพัฒนาการจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด เยี่ยมเยียนและรับทราบปัญหาในพื้นที่ จัดการเปิดตลาดสัญจร  จัดกิจกรรมดึงนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดการให้บ้านหลุกอยู่ริมทาง
           
แม้จะเป็นความคึกคัก ตื่นตัว หลังภาวะซบเซายาวนาน แต่ก็นับว่าความซบเซาของบ้านหลุก ได้ปลุกจิตวิญญาณลำปางขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะหากบ้านหลุกเป็นแห่งผลิตสินค้าแกะสลักไม้ให้บ้านถวาย หากความมั่นใจในฝีมือแกะสลักสกุลช่างลำปางไม่แพ้ใคร การตลาดสมัยก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูดดึงคนให้มาบ้านหลุก
           
ข้อแรกก่อนที่ จะใช้การตลาดสมัยใหม่ เป็นหลักในการบริหารบ้านหลุก จะต้องมี Story หรือตำนานความเป็นบ้านหลุกให้คนได้เข้าใจถึงที่มา ที่ไปก่อน และหากเดินเรื่องโดยมีประวัติศาสตร์เป็นตัวนำ ก็ต้องถามว่า ต้นกำเนิดบ้านหลุก มีความเป็นมาอย่างไร
           
ลองเปรียบเทียบ Story ของบ้านถวาย...
           
เมื่อราว พ.ศ.2500 – 2505 คนบ้านถวาย ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี พ่อโจ๋มา อิ่นแก้ว พ่อหมานแดง พันธุสา และพ่อเฮือน พินธุมารต์ ไปหางานการทำในตัวเมืองเชียงใหม่ และได้ไปที่ร้านน้อมศิลป์ ถนนวัวลาย ซึ่งเป็นร้านไม้แกะสลัก พวกเขาขอลองแกะสลักไม้ จนสามารถทำได้ และกลายเป็นช่างแกะสลักมีฝีมือของร้านน้อมศิลป์
           
ในที่สุดทั้งสามคนก็เปลี่ยนอาชีพจากการรับจ้างทั่วไป มาเป็นช่างแกะสลักไม้ และนำอาชีพนั้น กลับมาสอนคนบ้านถวาย จนกระทั่งพัฒนามาเป็นเครื่องไม้ และสินค้าที่หลากหลาย ภายใต้แบรนด์บ้านถวายในวันนี้  วันนี้ที่มีการนำการตลาดสมัยใหม่ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ช่วยให้แบรนด์บ้านถวาย เป็นชื่อที่คุ้นหูของคนทั่วไป
           
บ้านหลุกจะแตกต่างอย่างไร  ทุกสถานที่ย่อมมี Story ของตัวเอง หากร้อยเรียงให้งดงามหมดจด เรื่องของบ้านหลุกก็อาจน่าสนใจไม่แพ้เรื่องบ้านถวาย ใช้สื่อสังคมออนไลน์ แสดงรายละเอียดสินค้า ราคา วิธีจัดส่ง บ้านหลุกก็จะมีชีวิตชีวาขึ้น และจะกลับมาเป็นบ้านถวาย 2 อย่างไม่ยากเย็น
           
คนลำปางทั้งระบบ คงกำลังเอาใจช่วยบ้านหลุก ของดีที่มีอยู่ และเคยถูกมองข้ามไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1085 วันที่ 1 - 7 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์