วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โฆษณาแฝง อิทธิพลแฝงรัฐ

จำนวนผู้เข้าชม webs counters

ขึ้นชื่อว่าการโฆษณาย่อมหมายถึงการทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า ธุรกิจ หรือแม้แต่ตัวบุคคล ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นการโฆษณามักจะอยู่ในแวดวงธุรกิจเพื่อเสริมเรื่องยอดขาย แต่มาวันนี้บุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นนายกทุกระดับ รัฐมนตรี รัฐมนโท หรือแม้แต่ฝ่ายปกครองก็มักจะใช้เงินหลวงมีทำการโฆษณาแฝงโดยที่ประชาชนไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกยัดเยียดเนื้อหาการโฆษณาอย่างเนียนๆ
           
แล้วโฆษณาแฝงคืออะไร ??
           
โฆษณาแฝง หมายถึง การปรากฏของผลิตภัณฑ์ หรือตราสินค้าและบริการ เข้าไปในส่วนที่เป็นเนื้อหารายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว ละคร สารคดี เพลง เกมโชว์ เรียลลิตี้ ฯลฯ ที่เราๆท่านๆเห็นปรากฏอยู่ในจอเงินและจอแก้ว หรือแม้แต่ในหนังสือพิมพ์เองก็ตาม
           
โฆษณาแฝงแตกต่างจากโฆษณาปกติตรงไหน ???
           
ตอบง่ายๆก็คือ เวลาเรานั่งดูโทรทัศน์แล้วพักโฆษณา ก็จะเป็นโฆษณาตรง มีการขายสินค้า หรือบริการกันอย่างโจ่งแจ้ง ดังนั้นผู้บริโภคจะรู้ตัวว่านี่คือ “การโฆษณา” และหลีกเลี่ยงที่จะรับชม รับฟังได้ โดยการเปลี่ยนช่องหรือลุกไปทำอย่างอื่นชั่วคราว พอรายการที่เราสนใจออกอากาศ เราก็กลับมานั่งดูต่อ อะไรประมาณนี้ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “โฆษณาแฝง” ยิ่งรายการใดที่มีเรทติ้งดีก็มักจะมีการโลโก้ สินค้ามาตั้งวางอย่างเนียนๆ โดยที่เราเองก็ไม่ทันสังเกตแต่กลับกลายเป็นความคุ้นชินที่ได้เห็น อย่างเช่นในรายการเล่าข่าว ส่วนใหญ่ที่เราจะเห็นก็คือแก้วกาแฟสีแดงวางอยู่ เคยเห็นพิธีกร นักเล่าข่าวหยิบขึ้นมาดื่มน้ำกันหรือไม่ รวมถึงคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่วางอยู่กลางโต๊ะปรากฎโลโก้ยี่ห้อใหญ่โตอย่างชัดเจน สุดท้ายนักเล่าข่าวก็อ่านข่าวจากกระดาษที่อยู่ตรงหน้าแต่ผู้ชมจะซึมซับยี่ห้อของสินค้าทุกวัน...ทุกวัน
           
ระยะหลังการโฆษณาแฝง ยิ่งแฝงเข้ามามากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ละคร” ไม่ว่าจะเป็นละครหลังข่าว ละครตอนเย็น หรือละครซิทคอม จะมีการแฝงให้ดารานักแสดงหยิบเครื่องดื่มที่เห็นโลโก้ ชื่อสินค้าชัดเจน โทรศัพท์มือถือของนักแสดงจะใช้ยี่ห้อเดียวกันซึ่งมันผิดธรรมชาติของความเป็นจริงมาก หนักกว่านั้นคือ ละครซิทคอม ที่มักจะมีการเซตฉากให้มีร้านขายของชำซึ่งจะจัดวางสินค้าแผ่หลาและตัวละครก็มักจะมารวมตัวกันเมาท์มอยกันสารพัด คนดูก็ดำขำๆกันไปแต่หารู้ไม่ว่าเรากำลัง “ถูกยัดเยียด” โดยที่เราไม่รู้ตัว
           
ที่เลวร้ายกว่านั้นมิติของการโฆษณาแฝงคืบคลานมายังหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรี รวมถึงฝ่ายปกครองตัวเอ้ทั้งหลายที่มักจะใช้งบประมาณหลวง ประชาสัมพันธ์ผลงานตัวเองแบบเนียนๆ
           
ปี 2557 นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ในสมัยนั้น สั่งการเข้มทุกส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ห้ามผลาญภาษีประชาชน ขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์แอบแฝงโฆษณาตัวเอง ย้ำเทศบาลนครเชียงใหม่ และ อบจ.จัดการปลดป้ายที่เคยมีอยู่เดิมให้หมด เพื่อจัดระเบียบป้าย กำจัดทัศนอุจาด ต้อนรับฤดูท่องเที่ยว และกำชับขอความร่วมมือไม่ให้มีการนำเอางบประมาณที่เป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายจัดทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่มีการขึ้นรูปของผู้บริหารหน่วยงาน หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่บนป้ายด้วย ซึ่งเข้าลักษณะการโฆษณาแฝง และประชาสัมพันธ์ตัวเองมากกว่าและยังบอกอีกว่าหากจะมีการทำป้ายใดๆ ก็ขอความร่วมมือไม่ต้องมีการขึ้นรูปเช่นเดียวกัน อย่างมากก็เพียงขึ้นชื่อ และตำแหน่งก็เพียงพอแล้ว ตลอดจนไม่มีความจำเป็นต้องทำป้ายขนาดใหญ่ด้วย หากจะมีการประชาสัมพันธ์การทำงาน หรือผลงานใดๆ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่ตัวบุคคล
           
จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดสักกี่คนที่จะออกมาพูดเช่นนี้
           
แม้ว่า โฆษณาแฝงแม้จะไม่ส่งผลกระทบด้านลบ แต่กลับ ทรงอิทธิพลเหลือหลายในจิตใต้สำนึก เพราะได้เห็นทุกวัน ได้ยินทุกวัน เหมือนสมัยก่อนที่โปรโมตเพลงทุกช่องโทรทัศน์ วิทยุ คนได้ยินบ่อยๆก็ร้องตามได้ แล้วนับประสาอะไรก็ผู้หลักปักใหญ่ที่ใช้เงินหลวงโปรโมทตัวเอง และหากการโปรโมทตัวเองนั้นมีวาระซ้อนเร้นแอบแฝงเพื่อผลในอนาคต เมื่อนั้น สตง.จะตรวจสอบได้หรือไม่ จะว่าไปแล้วก่อนหน้านี่ลำปางก็มีตัวอย่างให้เห็นมาหลายครั้งแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะลืมเลือนกันไปจนเรื่องเดิมๆกลับมาอีกครั้ง
           
การโปรโมทตัวเองที่ดีที่สุดคือการลงมือทำแล้วให้ประจักษ์ด้วยผลงาน จะยั่งยืนกว่าการใช้เงินหลวงในการสร้างภาพ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1085 วันที่ 1 - 7 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์