วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โลกเปลี่ยนโรงพิมพ์ปรับ ‘ฉับแกละ’ใกล้อวสาน

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ในตึกแถวหัวมุมละแวกวัดเชตวัน โรงพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่งเปิดดำเนินการมาร่วม40 ปีแล้วเห็นจะได้ นับจากวันที่ใช้ตัวเรียงพิมพ์ เปลี่ยนผ่านมาถึงระบบออฟเซ็ตซึ่งเป็นมาตรฐานการพิมพ์ที่นิยมใช้กันทั่วไป เพราะให้งานพิมพ์ที่สวยงาม มีความคล่องตัวในการจัดอาร์ตเวิร์กไม่ว่าจะออกแบบอย่างไรก็พิมพ์ได้ไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญ คือ รวดเร็วและแทบจะไม่ผิดพลาด
           
คุณสมบัติเหล่านี้ดูจะตรงกันข้ามกับการพิมพ์แบบเรียงพิมพ์ที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความประณีตอักษรแต่ละตัวต้องเรียงเป็นคำให้แม่นยำ เมื่อเข้าเครื่องพิมพ์แล้วก็ยังต้องคอยดูไม่ให้แรงพิมพ์มากเกินไปจนหมึกเลอะ เป็นความละเอียดอ่อนที่ช่างเรียงพิมพ์ทุกคนต้องยึดถือ
           
“จริง ๆ แล้วทุกวันนี้เรายังใช้ตัวเรียงพิมพ์อยู่นะคะ แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่ใช้กับงานทำปกใบเสร็จ การ์ด หรืองานที่มียอดพิมพ์น้อย ๆ”สุรีย์ พิชญกุล เจ้าของลำปางการพิมพ์ โรงพิมพ์เล็กๆ แห่งนี้เล่าพลางยิ้ม
           
การเรียงพิมพ์เป็นหน้าที่ของชนิกา ต้องสู้ ผู้ประจำอยู่หน้าแท่นตีธงมากว่า 20 ปีแล้ว เธอจะขึ้นไปบนชั้นสอง เปิดลิ้นชักในตู้ไม้เก่าคร่ำคร่า ตัวตะกั่วมากมายถูกจัดแบ่งอยู่ในช่อง ตามตำแหน่งพยัญชนะ สระ จากนั้นก็เลือกตัวอักษรเหล่านั้นมาเรียงพิมพ์ แล้วนำลงมาเข้าแท่นพิมพ์ที่ตั้งอยู่ชั้นล่าง
           
น่าดีใจอยู่บ้างที่เทคนิคการพิมพ์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีโอกาสได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อความจากผู้ส่งสารไปถึงผู้รับสารอย่างซื่อตรงในยุคที่เทคโนโลยีการพิมพ์แบบใหม่ ถูกนำมาใช้จนแทบไม่เหลือโรงพิมพ์แบบเรียงพิมพ์ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักอีกแล้ว
           
“ตัวพิมพ์ตะกั่วจำนวนไม่น้อยก็สึกกร่อนไปตามอายุการใช้งานทำให้บางตัวไม่ชัด ต้องเสียเวลามาคอยเปลี่ยน” สุรีย์ชี้แจง นั่นเป็นเหตุผลเพียงพอที่ธุรกิจในครอบครัวจะหันมาหาทางเลือกที่ดีกว่า นั่นก็คือการพิมพ์แบบออฟเซ็ต
           
ย้อนกลับไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2518-2519 สุรีย์และสามีเปิดโรงพิมพ์ลำปางการพิมพ์ เพื่อรองรับงานพิมพ์หนังสือพิมพ์เอกราช ซึ่งขณะนั้นเป็นของแม่สามี คือ แม่เล็ก พิชญกุล หนังสือพิมพ์เอกราชเป็นหนังสือพิมพ์ในยุคแรกของเมืองลำปาง และกำลังเตรียมที่จะเปลี่ยนจากพิมพ์แบบเรียงพิมพ์มาเป็นระบบออฟเซ็ต ซึ่งการตั้งลำปางการพิมพ์ขึ้นมาก็เพื่อการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้
           
ระบบออฟเซ็ต หมายถึง การพิมพ์ที่ไม่ใช้แรงกดระหว่างแท่นพิมพ์ ตัวพิมพ์ กับกระดาษ แต่ใช้คุณสมบัติทางเคมีของหมึกและน้ำมาทำให้เกิดภาพและตัวอักษรบนกระดาษ ได้ในเรื่องคุณภาพของงานและความเร็วในการพิมพ์ ที่สำคัญก็คือ การพิมพ์ระบบนี้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวตะกั่ว เพราะต้องการเพียงถ่ายทอดตัวอักษรลงบนแบบหรืออาร์ตเวิร์ก แล้วนำไปถ่ายลงบนแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นเพลตสังกะสีบางๆ
           
' การก้าวเข้ามาของออฟเซ็ตจึงเป็นสัญญาณว่า ชีวิตของตัวตะกั่วใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดลงแล้ว '

สามีของสุรีย์เดินทางไปประเทศเยอรมนี ต้นตำรับแห่งการพิมพ์ของโลก เพื่อไปดูแท่นพิมพ์ระบบออฟเซ็ตด้วยตนเอง ก่อนจะสั่งมาใช้และติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย แท่นพิมพ์ถูกส่งลงเรือมา ใช้เวลา 2-3 เดือนกว่าจะถึงท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ จากนั้นจึงนำขึ้นรถบรรทุกมายังเมืองลำปาง
 
กิจการของลำปางการพิมพ์เติบโตตามลำดับ หนังสือพิมพ์เอกราชก็ย้ายมาพิมพ์ที่นี่ ธุรกิจโรงพิมพ์เฟื่องฟูถึงขีดสุด ก่อนจะเริ่มแผ่วลงเมื่อโรงพิมพ์ยิ่งมากขึ้น แต่งานพิมพ์กลับน้อยลง

เรื่องนี้สุรีย์มองว่ามีหลายปัจจัย ตั้งแต่เรื่องการแชร์ส่วนแบ่งการตลาด รวมถึงการที่ห้างร้านสำนักงานต่างๆ ลดการสั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน หันไปใช้เครื่องทุ่นแรงที่สะดวกสบายและลดค่าใช้จ่ายอย่างเครื่องพิมพ์กระดาษต่อเนื่อง ส่วนลูกค้าที่เคยมาสั่งทำการ์ดงานศพ งานแต่ง ก็หันไปหาการพิมพ์ดิจิตอล ซึ่งเป็นการพิมพ์ที่ใช้เครื่องพิมพ์ หรือปรินเตอร์ต่อพ่วงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ สามารถสั่งพิมพ์ได้โดยตรงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับการพิมพ์ในปริมาณไม่มาก เช่น นามบัตร โบรชัวร์ และการ์ดต่าง ๆ

แม้งานจะน้อยลง แต่สุรีย์ก็ไม่คิดจะก้าวไปสู่ระบบที่ทันสมัยกว่า เพราะนั่นหมายถึงเงินลงทุนอีกมหาศาล ที่จะหมดไปกับเทคโนโลยีที่ไม่มีวันตามทัน

บ่ายคล้อย เสียงแท่นพิมพ์เงียบลงหลังครางกระหึ่มมาตลอดช่วงเช้า ชนิกาหันมาตรวจนับงานพิมพ์ที่เพิ่งออกมาจากแท่นตีธง ซึ่งทำหน้าที่วิ่งตัวเลขและทำปรุ ส่วนแก้ว แก้วสุข ช่างเครื่องประจำเครื่องออฟเซ็ต เพิ่งจะได้แกะห่อข้าวกลางวัน ขณะที่สุรีย์เข้าไปในออฟฟิศ เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมออกแบบอาร์ตเวิร์ก กลิ่นหมึกล่องลอยบางเบาออกมาจากแท่นพิมพ์ใหญ่สีดำมะเมื่อมรอคอยลูกค้าประจำที่คุ้นเคยกันดีมาใช้บริการอาจเพียงเท่านี้สำหรับกิจการโรงพิมพ์ขนาดเล็กจะขับเคลื่อนต่ออย่างเงียบๆ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1086 วันที่ 8 - 14 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์