วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ทำยังไงเมื่อต้องขับรถลุยน้ำ

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

เดี๋ยวนี้ฝนตกไม่นานน้ำก็ท่วมแล้ว ถ้าเลี่ยงไม่ได้คงต้องทำใจขับลุยน้ำกันบ้าง (หลังลุยน้ำเสร็จ เราควรตรวจเช็คให้ถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้น น้ำจะกลายเป็นมัจจุราชทำลายรถคุณ เรามีวิธีตรวจเช็ครถหลังลุยน้ำท่วม รวมถึงเทคนิคขับรถลุยน้ำเบื้องต้นมาฝาก

1. สังเกตระดับน้ำ จากรถคันหน้า การขับรถลุยน้ำ สิ่งแรกที่ต้องรู้ คือ ระดับความลึกของน้ำสังเกตง่ายๆ จากรถคันหน้า ที่มีความสูงใกล้เคียงกัน หากระดับน้ำสูงถึงชายล่างขอบประตู ก็ไม่ต้องลุยต่อ เพราะน้ำจะเข้ารถได้ ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์จะยังไม่ดับก็ตาม (ถ้าระดับน้ำยังไม่ถึงกรองอากาศ) ให้เปลี่ยนเส้นทางเป็นดีที่สุด ถ้าเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้หาพลาสติก หรือผ้ายาง มาปิดตรงบริเวณกระจังหน้ารถ เพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นน้ำเข้ามาในห้องเครื่อง

2. ขับช้าๆ ปิดแอร์ ลดกระจก หากประเมินแล้วว่า ลุยผ่านไปได้ ให้ปิดแอร์ ลดกระจกเล็กน้อย เพราะเมื่อเปิดแอร์ พัดลมระบายความร้อนระบบแอร์จะทำงาน ทำให้ใบพัดอาจปั่นไปโดนน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง โดยเฉพาะระบบไฟ และเข้ากรองอากาศ เครื่องยนต์อาจดับได้ นอกจากนี้ให้ขับช้าๆ ลดความเร็วเมื่อขับสวนกับรถคันอื่น เพราะน้ำอาจสร้างความเสียหาย ให้กับรถคันที่สวนมาได้ ในรถเกียร์ธรรมดา อย่าเหยียบคลัทช์ค้างไว้เพื่อเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ให้สูง เพราะจะทำให้คลัทช์ลื่น ให้ใช้เกียร์ต่ำสุด และรักษาความเร็วอย่างสม่ำเสมอ

3. เสียหายแน่ ถ้าน้ำเข้า การขับรถลุยน้ำ ไม่ใช่เรื่องสนุกอย่างหลายคนคิด เพราะหลังจากลุยน้ำ จะเกิดความเสียหายตามมาอย่างเงียบๆ จนถึงขั้นต้องเสียเงินมากมาย โดยไม่จำเป็น ชิ้นส่วนที่ได้รับความเสียหายโดยตรง คือ ชิ้นส่วนที่เป็นเหล็ก เช่น เหล็กตัวถังรถที่อยู่ด้านใน (พ่นกันสนิมไม่ถึง) ส่วนควบของรถที่เป็นเหล็ก หรือแม้กระทั่งน็อตต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดสนิมได้ง่าย นานเข้าจะผุ กร่อน เร็วกว่าปกติ นอกจากนี้น้ำอาจเข้าตามท่อยางที่เสื่อมสภาพ อาทิ ยางหุ้มเพลาขับ เมื่อน้ำเข้าไปผสมกับจาระบี ชิ้นส่วนภายในขึ้นสนิม ทำให้เสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว และยังมีโอกาสไหลปนเข้าไปในสารหล่อลื่นต่างๆ ได้ เช่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย เป็นต้น

4. จอดรถจมน้ำ ในกรณีที่จอดรถไว้ แล้วรถจมน้ำในระดับสูงท่วมเครื่องยนต์ ห้ามสตาร์ทรถ หรือบิดกุญแจไปตำแหน่ง ON เพราะรถยนต์มีอุปกรณ์อีเลคทรอนิค ระบบไฟฟ้า ที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ จะทำให้ช็อตเสียหายได้ ทางที่ดีที่สุดควรถอดขั้วแบทเตอรีออก เพื่อตัดระบบจ่ายไฟ นอกจากนี้ ควรเข้าอู่หรือศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายของเหลวทั้งหมด เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรค น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำหล่อเย็น เป็นต้น ส่วนช่วงล่างหรือระบบรองรับ ควรให้ช่างอัดจาระบีที่ลูกหมากใหม่ ตรวจเช็คระบบเบรคว่าผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะรถระบบเบรคแบบดุม น้ำอาจเข้าได้ ต้องถอดออกมาทำความสะอาดด้วยครับ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1086 วันที่ 8 - 14 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์