วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บิดเบือนรัฐธรรมนูญ ชนักปักหลังคนเมืองเหนือ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

น่าแปลกที่ความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ปรากฏในสถานที่แห่งอื่น นอกจากภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่มีข้อกล่าวหาเรื่องรัฐธรรมนูญ กับลำปาง ที่พบจดหมาย 710 ฉบับ มีเนื้อหาบิดเบือนรัฐธรรมนูญ โดยมีจุดหมายปลายทางที่จังหวัดลำพูน

เป็นจังหวัดสีแดงเข้ม ที่เลือกตั้งวันนี้ หรือปีหน้า พรรคเพื่อไทย ย่อมปักธงไว้อย่างไม่ต้องสงสัย

ข้อกล่าวหาเรื่องรัฐธรรมนูญปลอมที่เชียงใหม่นั้น อาจเป็นที่เข้าใจได้แล้ว หลังจากพบว่ามีเพียงความเห็นแย้งรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ยื่นให้กับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์แล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่ข้อหาบิดเบือนรัฐธรรมนูญนี่สิ ต้องสงสัย

ประการหนึ่ง โลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีการสื่อสาร ก้าวหน้า ทันสมัย การเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ที่ถูกต้อง ครบถ้วนไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ กับคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางพอสมควร

ครู ก. ครู ข. ครู ค.ก็ทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ อย่างคึกคัก แม้จะไม่เป็นที่รับรู้มากนักว่า เบี้ยเลี้ยงครูวันละ 200 บาท จะมีมรรค มีผลในการสร้างความรู้ที่แท้ของร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร

การบิดเบือนรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ยกเว้นกลุ่มประชาชนที่เขามีความคิด เชื่อและศรัทธาการเมืองฝ่ายหนึ่งเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว คนที่เขาฟังย่อมเป็นฝ่ายค้านรัฐธรรมนูญ

ประการหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ในบางประเด็น ที่ทหารลำปาง และ กกตลำปาง.กล่าวหาว่า บิดเบือนก็น่าสนใจว่าถ้าอ่านตัวบท สะกดคำภาษาไทยกันตรงไปตรงมาแล้ว ก็อาจทำให้เข้าใจเช่นนั้นได้จริงๆ เช่น  สิทธิในการรักษาพยาบาลที่รัฐธรรมนูญ พูดเฉพาะ”ผู้ยากไร้” เท่านั้น เท่ากับเป็นการยกเลิกการรักษาพยาบาลฟรี และ 30 บาทรักษาทุกโรค 

แม้ว่าในความเป็นจริง สิทธิที่ประชาชนมีอยู่แต่เดิม ก็คงใช้สิทธินั้นได้ต่อไป เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ประเด็นเรื่องให้วุฒิสมาชิกสรรหา เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถึงแม้ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็มีคำถามพ่วงของ สนช.ที่รับมาจาก สปท.ว่า “ควรให้วุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่” กรณีจึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เป็นการตีความของฝ่ายตรงข้าม คสช.ที่มีความเป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะเป็นเจตนาบิดเบือน

หากเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้ประชาชนลงประชามติ บรรยากาศก่อนหน้าการลงประชามติ ไม่ได้วุ่นวายสับสนเท่าวันนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 ประชาชนลงมติรับรองราว 60 % ไม่รับประมาณ 40 %  สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่าน เพราะจนใกล้จะถึงวันประชามติแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้รับข้อมูล ข่าวสาร ฝ่ายเดียวมาตลอด

ในขณะที่ความเห็นแตกต่าง เหมือนมีร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ค้ำคออยู่

กกต.เพิ่งตื่นตัว จัดให้มีเวทีกลาง ที่เปิดพื้นที่ให้กับความเห็นของทุกฝ่าย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โค้งสุดท้ายแล้ว เหลือเวลาอีกสัปดาห์เศษ ที่คนลำปางจะได้ใช้สิทธิในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นย่อมต้องมาจากความคิดอ่านของเขาเอง และบรรดาปลายแถวของอำนาจทั้งหลาย อย่าได้ดูแคลนคนลำปาง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1088 วันที่ 22 - 28 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์