วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ปลาน็อค จอก !

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

าว 3 ปีแล้วที่จอกหูหนู รุกเข้าไปลอยเต็มผืนน้ำจาง แม่ทะ และปีนี้ปลาขนาดใหญ่หลายพันธุ์ ลอยปริ่มน้ำ คล้ายขาดอากาศหายใจ หลายตัวตายเกลื่อน นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ปลาน็อค  หรือ Fish Kill   เป็นปรากฏการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ บางพลี สมุทรปราการ รังสิต ปทุมธานี และที่อื่นๆ
           
ปรากฏการณ์ปลาน็อคนั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติบางส่วน  แต่ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของมนุษย์ เป็นผลมาจากการปล่อยปละละเลยให้วัชพืชบุกผืนน้ำ อีกทั้งการปล่อยน้ำเสียลงผืนน้ำทั้งจากชาวบ้าน และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการซ้ำเติมภาวะน้ำเสียให้หนักหน่วงรุนแรงมากขึ้น   
           
ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า บริเวณที่ปลาตายอยู่ที่จุดอนุรักษ์พันธ์สัตว์น้ำ เขตอภัยทาน ท้ายฝ้ายกั้นน้ำบ้านน้ำโท้ง หมู่ 1 ต.นาครัว อ.แม่ทะ มีปลาขนาดใหญ่ลอยตายจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วท้องน้ำ น้ำมีสีออกเขียวขุ่น มีฟอง และบริเวณฝายมีคราบสีขาวจับตัวเป็นทางยาวทั่วฝายตรงจุดที่น้ำไหลผ่าน         
           
“ปลาน็อคน้ำเกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5  กรกฏาคมที่ผ่านมา  ในพื้นที่มีฝนตกลงมาแต่ไม่มากน้ำ น้ำเพิ่มปริมาณขึ้นนิดหน่อย แต่ที่ผ่านมาน้ำนิ่งไม่มีการไหล เพราะแม่เมาะก็ไม่ได้ปล่อยน้ำมาให้ ที่นั่นไม่มีน้ำเช่นกัน  เมื่อฝนตกลงมาก็ส่งผลดีแก่เกษตรกรทำนาข้าว แต่ส่งผลทำให้ปลาน้อยใหญ่ลอยตัวขึ้นมาผิวน้ำและชาวบ้านต่างแห่แหนกันไปจับมาขายและปรุงเป็นอาหารจำนวนมาก..”
           
อำพล สายก้อน ชาวบ้านน้ำโท้ง เล่าให้ฟัง
           
ประมง เชียงราย อธิบายสาเหตุปลาน็อคน้ำในเชิงวิชาการว่า ปกติอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ฝนตก เกิดการหมักหมมของเศษอาหาร หรือเกิดอากาศปิด หรือเกิดจากสารพิษที่ไหลลงบ่อ นั่นเป็นกรณีปลาเลี้ยง
           
ในกรณีสารพิษจากธรรมชาติ เกิดจากการเน่าของทุ่งหญ้าในที่ลุ่มขบวนการเน่าของหญ้า จะเกิดสารต่างๆ  ที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก หากมีการจัดระบายน้ำที่ไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากต่อแหล่งน้ำ ทั้งในเชิงธุรกิจและนิเวศวิทยา
           
สำหรับกรณีแม่น้ำจาง สาเหตุหลักน่าจะมาจากการไหลเข้ามาและทับถมอยู่ในลำน้ำของจอกหูหนู  ร่วมกับภาวะเกิดสารพิษเพราะการเน่าของสิ่งมีชีวิต หรือ การหมักหมมของตะกอน หรือเกิดจากการขุ่นของแหล่งน้ำทำให้การสังเคราะห์แสงของพืชน้ำน้อยลง  หรือเกิดจากฝนตกหนักมีการชะล้างของเสียจากผิวดินลงสู่แม่น้ำก็จะทำให้เกิดการใช้ออกซิเจนจำนวนมากของของเสียเหล่านั้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ปลาตายได้ทั้งสิ้น
           
ปลาที่พร้อมใจกันตาย ไม่ได้มีเฉพาะแหล่งน้ำจืดเท่านั้น แต่น้ำทะเลก็พบปรากฏการณ์ปลาตายเกยหาดจำนวนมากด้วย จากสาเหตุสำคัญที่เรียกว่า น้ำเปลี่ยนสี
           
อาจจะคล้ายๆกับจอก เมื่อสาหร่าย และพืชน้ำเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สาหร่ายที่หนาแน่น จะไปกั้นแสงอาทิตย์ ให้ส่องผ่านลงไปใต้น้ำได้น้อย ทำให้พืชที่อาศัยอยู่ใต้น้ำตายเพราะไม่สามารถสังเคราะห์แสง และสร้างอาหารได้ เมื่อพืชน้ำตาย ก็จะทำให้สัตว์อื่นที่กินพืชน้ำเป็นอาหาร ตายตามไปด้วยเพราะไม่มีแหล่งอาหาร
           
และเมื่อสาหร่ายตาย และถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ซึ่งใช้ออกซิเจนในการย่อยสลาย จะทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำลดลง เกิดเป็นภาวะน้ำขาดออกซิเจนขึ้น สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ ก็จะตายในที่สุด เพราะไม่มีออกซิเจนในการหายใจ
           
ปรากฎการณ์น้ำเปลี่ยนสีในทะเล  จะมีลักษณะเป็นตะกอนแขวนลอยในน้ำ เป็นหย่อม หรือแถบยาว มีแนวตามทิศทางของกระแสลมและคลื่น  ชาวประมงเรียกว่า "ขี้ปลาวาฬ" ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำบางชนิดได้
           
ปลาตายที่ท้องทะเลเกิดจากสาหร่าย ปลาตายที่แม่น้ำเกิดจากจอก แต่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำได้ ถ้ามนุษย์ให้ความใส่ใจบ้าง ปลาก็อาจรอดตาย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1087 วันที่ 15 - 21 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์