วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559

หมอโบราณ ตำนานมีชีวิต

จำนวนผู้เข้าชม webs counters

วิรัตน์ ธิช่างทอง วัย 72 ปี บรรจงจัดยาสมุนไพรลงในกระจาด ความรู้เรื่องการรักษาแบบพื้นบ้านจากพ่อ ตกผลึกกลายเป็นประสบการณ์ยาวนานกว่า 40 ปี นับจากวันที่เริ่มตระเวนออกไปเยียวยาคนป่วยไข้ โดยใช้ทั้งวิทยาคมและสมุนไพรที่ได้รับถ่ายทอดมาจากผู้เฒ่าหลายรุ่นในครอบครัว

“แรก ๆ ไม่อยากเป็นเหมือนพ่อหรอก” ลุงวิรัตน์โคลงศีรษะ“เห็นพ่อไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะมีคนมาเรียกไปรักษาตอนดึก ๆ แต่ช่วงบวชเรียนพ่อบังคับให้ศึกษาพวกวิทยาคมกับตำราหมอพื้นบ้านด้วย ก็เลยได้วิชาติดตัวมาตั้งแต่ตอนนั้น”
           
ทั้งนี้ หมอพื้นบ้านที่ใช้วิทยาคมจะต้องยึดมั่นในสัจจจะ ไม่ดื่มเหล้าเด็ดขาด นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อห้ามยิบย่อยอีก เช่น ห้ามไปช่วยงานในงานศพ ห้ามกินอาหารและน้ำในงานศพ สิ่งเหล่านี้หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่ยึดถืออย่างเคร่งครัด
           
ช่วงชีวิตในวัยกลางคนของลุงวิรัตน์ กลางวันทำงานประจำรับเหมาก่อสร้าง ตกเย็นจะเปิดสมุดจดคิวคนป่วยว่าวันนี้จะต้องไปรักษาใคร ที่ไหน ไม่เพียงในละแวกบ้านพิชัย หมู่ 1 ที่ลุงวิรัตน์อาศัยอยู่ แต่บางทีไปไกลถึงอำเภอเสริมงาม อำเภอเกาะคา สมัยนั้นอาศัยการบอกต่อแบบปากต่อปาก หมอพื้นบ้านคนไหนรักษาดีจะเป็นที่รู้กัน
           
“กระดูกหัก ช้ำใน เป็นตุ่ม เป็นเริม งูสวัด ไฟลามทุ่ง ปวดเมื่อยต่าง ๆ จะรักษาด้วยน้ำมนต์และสมุนไพร ซึ่งเป็นสูตรของพ่อที่บันทึกไว้” ลุงวิรัตน์เล่า“น้ำมนต์ก็ทำไว้ สมุนไพรส่วนใหญ่หาในละแวกบ้านนี่แหละ ยกเว้นบางชนิดต้องไปเอาในป่า”
           
ก่อนอื่นญาติคนป่วยต้องเตรียมขันตั้ง ประกอบด้วยสวยดอก 8 สวย หมากพลู 8 ชุด หมาก 8 ก้อม (ขด) เบี้ย 1,200 ข้าวเปียก / ข้าวสาร ผ้าขาว / ผ้าแดง เงิน 5 บาทสลึง เทียนคู่บาท / คู่เฟื้อง และเหล้าขาว 1 ขวด จากนั้นลุงวิรัตน์จะทำพิธีตั้งขัน แล้วจึงรักษา หากใครหายป่วยก็จะมานำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย มาดำหัว บางทีก็นำเงินใส่ซองมามอบให้
           
“เราไม่เคยเรียกร้องเงินค่ารักษา ทำเพื่อสะสมบุญ” ชายชรายิ้ม “บางราย เรารักษาคนป่วยอยู่ ญาติก็มาขอกุญแจมอเตอร์ไซค์ ที่แท้เขาเอาไปเติมน้ำมันให้ บางคนซื้อกับข้าวใส่ไว้ให้ที่หน้ารถ มีรายหนึ่งให้ไปรักษาคนขาหักถึงในโรงพยาบาล เราก็อายหมอเหมือนกัน หมอเขาก็ดีนะ เขาบอกว่าลุงรักษาของลุงไปเถอะ ผมก็รักษาแบบของผม” ลุงวิรัตน์ว่า
           
“การรักษาแบบพื้นบ้าน จิตของคนป่วยกับจิตของเราต้องสื่อถึงกันด้วยนะ บางวันกลับบ้านมาเหนื่อยมาก เหมือนเราใช้กำลังภายในไปเยอะ ต้องสวดมนต์ นั่งสมาธิ”
           
เมื่อเวลาผ่านไป หมอที่รักษาด้วยสมุนไพรมีมากขึ้น คนก็เฮโลไปทดลองใช้บริการ ประกอบกับวิทยาการการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น การรักษาด้วยแพทย์แผนใหม่เริ่มเข้าถึงชาวบ้าน เกิดอุบัติเหตุรถกู้ภัย รถพยาบาล ก็ไปรับมาส่งถึงโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที แล้วยังมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถ บทบาทความสำคัญของหมอพื้นบ้านจึงเริ่มลดน้อยถอยลง       “ตอนนี้บทบาทของเราก็คือหลังจากคนป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่เขายังไม่หาย นั่นล่ะเขาจะคิดถึงเรา สมุนไพรนี่ ข้อเสียคือมันหายช้า ต้องรักษากันนาน แต่พอหายก็หายขาดเลย มันดีตรงนี้” ลุงวิรัตน์เอื้อมมือไปจัดกระจาดยา

“ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมาตามให้ไปรักษาอยู่ อย่างตอนนี้รักษาคนเป็นฝีกับโดนไฟลวก บางคนมาหาที่บ้านเพื่อถามเรื่องสมุนไพร มีอาการอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องกินสมุนไพรชนิดไหน เราก็บอกให้ บางคนกลับไปหาเอง บางคนมาขอที่เรา ถ้ามีก็ให้ไปเลย”

ลุงวิรัตน์ยังพาไปรู้จักยายบัวเงา ไทยรินทร์ วัย 89 ปี ซึ่งจะว่าไปก็เป็นญาติกันห่าง ๆ ยายบัวเงาเคยเป็นผู้ช่วยหมอตำแย อันที่จริงเพื่อนของยายเป็นหมอตำแย แต่ก็มักจะมาเรียกยายไปเป็นผู้ช่วยเสมอ ยายบัวเงาจึงทำคลอดเป็น บ่อยครั้งกลางค่ำกลางคืนก็มักมีคนมาตามยายบัวเงาไปทำคลอดเสมอ

“สมัยก่อนไปหาหมอลำบาก ชาวบ้านแถวนี้ต้องคลอดกันเองทั้งนั้น เขามาเรียกดึกดื่นแค่ไหนก็ต้องไป” หญิงชราร่างผอม ท่าทางใจดี เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงเนิบช้า ช่วงเวลานั้นยายบัวเงาอายุ 30 กว่า ๆ ยายจะเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือทำคลอด ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก แค่ด้ายสำหรับมัดสายสะดือและมีดสั้นคม ๆ บาง ๆ สำหรับตัดสายสะดือเด็กเท่านั้น ไม่มีหรอกแอลกอฮอร์ หรือยาฆ่าเชื้อโรค แม้แต่หยูกยาใด ๆ

“พอไปถึงก็ให้แม่นอนหงาย ยกเข่าขึ้น ผูกเชือกไว้ด้านบนเพื่อให้เขาจับยึดเวลาเบ่ง” ยายบัวเงาเล่า เรานึกภาพตามเหมือนฉากในหนังไทยสมัยเก่า ขาดก็แต่ฉากที่หมอตำแยไล่พ่อไปต้มน้ำเท่านั้น ซึ่งยายบัวเงาบอกว่า ไม่ใช้น้ำร้อน แต่ใช้น้ำธรรมดาอาบน้ำให้เด็กจะดีกว่า

“ถ้าดูแล้วคลอดยาก ยายจะไม่ให้แม่เบ่งนาน จะช่วยเขาด้วยการเอานิ้วสอดเข้าไปในช่องคลอด พอจังหวะแม่เบ่งเราจะกวาดช่องคลอด ซึ่งจะช่วยให้ตัวเด็กหลุดออกมาได้ง่าย” แม้จะดูเสียวไส้ แต่นี่คือเรื่องจริงที่หมอตำแยต้องประเมินสถานการณ์คับขัน เพื่อช่วยให้ทั้งแม่และเด็กปลอดภัย

เมื่อเด็กน้อยออกมาแล้ว ยายบัวเงาจะใช้ด้ายที่เตรียมมา มัดสายสะดือ โดยมัดหัว-ท้ายก่อน แล้วใช้มีดที่เตรียมมาตัดตรงกลาง โดยเหลือความยาวไว้ประมาณ 2 ข้อนิ้ว จากนั้นนำเด็กไปล้างเนื้อล้างตัวจนสะอาด ห่อผ้าให้อบอุ่น ญาติ ๆ จะนำเด็กไปนอนในกระด้งราว 3-4 วัน ตามความเชื่อโบราณ เพื่อป้องกันผีกระหังจะมาขโมยเด็กน้อยไป

หลังจากดูแลทั้งแม่และเด็กเรียบร้อย ก็เป็นอันหมดหน้าที่ของหมอตำแย เมื่อแม่เด็กเริ่มฟื้นตัว หรือเดินได้แล้ว ก็จะพากันมาหายายบัวเงา พร้อมกับนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาดำหัว หากใครมีฐานะจะให้เงินตอบแทนสูงถึง 100 บาท แต่โดยทั่วไปจะให้กัน 20-30 บาท

ทุกวันนี้การแพทย์แผนใหม่ทำให้ชีวิตของเราลดความสุ่มเสี่ยงลง แต่ใช่หรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่พ่อแม่ของเรา ก็พึ่งพาหมอพื้นบ้านอย่างลุงวิรัตน์และผู้ช่วยหมอตำแยอย่างยายบัวเงา

ลุงวิรัตน์แม้จะเป็นหมอพื้นบ้าน แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านแพทย์แผนใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังเชื่อมั่นในสิ่งที่คนโบราณเชื่อ ในท้าย ๆ ของบทสนทนา ลุงกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เพราะคนโบราณนั้น ท่านคิดมาดีแล้ว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1089  วันที่ 29 กรกฎาคม  - 4 สิงหาคม 2559)
           


           


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์