วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ฟาร์มม้าสันลมจอย สานฝันวิถีคาวบอย

จำนวนผู้เข้าชม website counter

การทำฟาร์มอาจเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคนที่ชื่นชอบชีวิตในทุ่งหญ้า สัมผัสแห่งสายลม แสงแดด เคล้ากลิ่นแอมโมเนียจางๆ สุรกิจ เสาร์ใจ วัย 42 ปีก็เช่นกัน สมัยเป็นเด็กชายวัยสิบกว่า เขาใฝ่ฝันถึงวิถีคาวบอย อาจเพราะเกิดและเติบโตในย่านที่แวดล้อมไปด้วยคนขับรถม้า สุรกิจเทียวไปบ้านเพื่อนที่เลี้ยงม้า เพื่อพาตัวเองเข้าไปใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตที่สง่างามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก กระทั่งก้าวเข้าสู่วัยทำงาน แม้มีงานประจำอยู่แล้ว สุรกิจก็ยังเลือกขับรถม้าเป็นอาชีพเสริม จากที่ใช้รถม้าของเพื่อน หลังทำงานเก็บหอมรอมริบได้ระยะหนึ่งก็ได้มีม้าเป็นของตนเองสมใจ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ฝึกขี่ม้าครั้งแรก ความฝันในวัยเด็กเริ่มได้รับการเติมเต็ม
           
ขณะเดียวกันสุรกิจก็หันมาประกอบรถม้าขายด้วย เมื่อออเดอร์ทำรถม้ามากขึ้น ความต้องการตัวม้าก็มากตาม เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ใช่ต้องการแค่รถม้า แต่ต้องการม้าไปพร้อมกัน สุรกิจจึงเริ่มออกตระเวนไปหาซื้อม้าจากชาวบ้านมาฝึกลากรถ จากนั้นก็ขายม้าคู่กับรถม้า ซึ่งเขาบอกว่า สมัยนั้น หรือราวสิบกว่าปีที่แล้ว ราคาทั้งม้าและรถม้าอยู่ที่ราวๆ 65,000 บาท นับว่าธุรกิจไปได้สวยเลยทีเดียว ชื่อของสุรกิจ หรือน้อย ลำปาง เริ่มเป็นที่รู้จักกันในแวดวงคนเลี้ยงม้า
           
สุรกิจลาออกจากงานประจำที่มั่นคง เพราะหลงใหลในวิถีอิสระเสียแล้ว เขาเริ่มหันไปสนใจม้าสำหรับขี่ เพราะมีลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งถามหา แล้วยังได้ราคาดีกว่าด้วย สุรกิจเบนเข็มจากการทำรถม้าและม้าลากรถมาหาซื้อม้าลูกผสม (ไทย+เทศ) ซึ่งเหมาะสำหรับการขี่มากกว่า โดยหลังจากได้ม้ามาแล้ว ก็จะนำมาฝึกตีวง ป้อนคำสั่ง และเมื่อขี่หลังได้ก็จะนำออกขาย ลูกค้าที่ซื้อม้าขี่นี้ ส่วนใหญ่เป็นคลับขี่ม้าแถวพัทยา หรือไม่ก็กรุงเทพฯ
           
หลังจากนั้นไม่นาน สุรกิจก็ทดลองเพาะพันธุ์ม้าเอง โดยไปหาซื้อแม่พันธุ์มาเลี้ยง แล้วนำไปผสมกับพ่อพันธุ์ดีๆ ของฟาร์มอื่น ซึ่งต่อมาก็ก้าวไปอีกขั้นด้วยการหาซื้อพ่อพันธุ์มาเลี้ยงเอง แล้วรับผสม ซึ่งนับเป็นเจ้าแรกๆ ในจังหวัดลำปางที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับม้าได้ครบวงจรเช่นนี้
           
เมื่อจำนวนม้ามีมากขึ้นถึงสิบกว่าตัว ที่เดิมบริเวณข้างวัดเจดีย์ซาวก็เริ่มคับแคบลง สุรกิจย้ายมาอยู่กับหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ ฟาร์มสันลมจอย ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-เชียงใหม่ โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ปัจจุบันฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่นับร้อยไร่แห่งนี้ รวมแล้วมีม้าสายพันธุ์ต่างๆกว่า 50 ตัว โดยเฉพาะพ่อ-แม่พันธุ์นั้น เป็นม้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งหมดเลี้ยงไว้เพื่อขาย ลูกค้าส่วนใหญ่มีอยู่ทั่วประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
           
“ราคาก็ต้องดูจากค่าใช้จ่ายในการดูแลระหว่างที่รอขายครับ บวกกับลักษณะของตัวม้า เช่น ความสมบูรณ์ ความสูง และสี ซึ่งม้าสีขาวและม้าด่างราคาจะสูงกว่า นอกจากนี้ ก็ยังขึ้นอยู่กับความสามารถและนิสัยของม้าด้วยครับ” สุรกิจพูดถึงสนนราคาของม้า ที่มีตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน ทั้งนี้ ราคาม้าจะไม่แตกต่างจากท้องตลาดมากนัก เช่น ราคาม้าลำปางจะไม่หนีจากราคาม้าจากปากช่อง หรือสระบุรีสักเท่าไร เมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อ ทางฟาร์มจะจัดส่งให้ถึงที่ ทั่วประเทศไทย เพราะมีรถสำหรับขนส่งม้าโดยเฉพาะอยู่แล้ว
           
ฟาร์มสันลมจอยมีม้าลูกผสมสายพันธุ์ดีจนถึงม้าเลือดร้อย หรือม้าพันธุ์แท้ ทว่าเป้าหมายของที่นี่ คือการเพาะพันธุ์ม้าอะราเบียน (Arabian Horse) ม้าที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทะเลทรายอาหรับ ถูกเพาะพันธุ์ขึ้นโดยชนเผ่าเบดูอิน ซึ่งไม่เพียงเป็นม้าที่สง่างาม หากยังคล่องแคล่ว อดทน และเฉลียวฉลาด เหมาะสำหรับใช้ในการแข่งขันระยะทางไกล อาทิ การขี่ม้าข้ามภูมิประเทศ (Endurance) สุรกิจเล่าถึงเป้าหมายของฟาร์มว่า ต้องการผลักดันม้าอะราเบียนของเขาให้เข้าสู่แวดวงการแข่งขันระยะทางไกล เพื่อชื่อเสียงในระดับสากล แต่ก็ยอมรับว่า เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น
           
ผู้จัดการฟาร์มพาเราเดินชมคอกม้า ม้าทุกตัวมีชื่อ และทุกตัวจะได้รับการสกรีนเจ้าของใหม่ว่าเหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงต่อหรือไม่ “ผมจะดูครับว่า ลูกค้าที่ซื้อไปจะดูแลเขาได้ดีไหม ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ดีกินดีกว่าเดิมเสียอีก” สุรกิจเล่าพลางหัวเราะ
           
สุรกิจเปิดประตูคอกเข้าไปทักทายม้าอะราเบียนวัย 2 ปี ท่าทางพ่วงพี เรียบร้อย ม้าอะราเบียนมีความพิเศษกว่าม้าสายพันธุ์อื่น คือ มีซี่โครง 17 ซี่ (ม้าพันธุ์อื่นมี 18 ซี่) มีกระดูกเชิงกราน 5 ชิ้น (ม้าพันธุ์อื่นมี 6 ชิ้น) และมีกระดูกหาง 16 ชิ้น (ม้าพันธุ์อื่นมี 18 ชิ้น) ดังนั้น เวลาวิ่งจึงต้องยกหางเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ทั้งหมดนี้ ธรรมชาติออกแบบมาก็เพื่อให้ม้าอะราเบียนสามารถมีชีวิตอยู่ได้ในดินแดนทะเลทรายอันสุดแสนทุรกันดาร
           
ฝั่งตรงข้ามกับม้าอะราเบียนคือคอกม้าแคระ ซึ่งได้รับความนิยมจากโรงแรม รีสอร์ต ที่จะซื้อไปเพื่อโชว์ความน่ารักให้กับนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีพันธุ์เธอโรเบรด พันธุ์อัปพอลลูซา และพันธุ์ลูกผสม ทุกตัวจะได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งนี้ คนดูแลก็ต้องจดจำด้วยว่า ม้าตัวไหนมีลักษณะนิสัยเฉพาะตัวอย่างไร ซึ่งแน่นอน การเปลี่ยนคนดูแลบ่อยๆ ย่อมทำให้ม้าเครียดด้วยเหมือนกัน
           
งานในฟาร์มจะเริ่มต้นตั้งแต่เช้าด้วยการให้อาหารม้า จากนั้นก็ได้เวลาปล่อยแปลง หรือปล่อยม้าออกไปวิ่ง เพื่อเป็นการออกกำลังกาย ระหว่างนั้นคนดูแลจะเก็บกวาดคอก ตัดหญ้า ก่อนเที่ยงต้องเก็บม้า ช่วงบ่ายนำม้าออกมาอาบน้ำ แปรงขน  ตกเย็นก็ให้หญ้าและอาหาร บางตัวก็นำออกมาฝึกขี่กันในช่วงนี้
           
“การทำฟาร์มม้าถ้ามีการจัดการที่ดี ธุรกิจก็ราบรื่นครับ เพราะมันจะดำเนินไปตามวิถีของการจัดการ แต่ถ้าเราวางแผนไม่ดี มันก็ยุ่งยากไม่จบไม่สิ้น” สุรกิจว่า
           
บ่ายคล้อย ทุ่งหญ้าพลิ้วด้วยแรงลมและเป็นสีเขียวจัดจากแดดจ้า ม้าสองสามตัวยืนเล็มหญ้าอยู่อย่างผ่อนคลาย ในคอกตีวง ม้าขาววิ่งควบอย่างคึกคะนอง ภาพตรงหน้าราวกับความฝันของคนที่หลงใหลในวิถีแห่งสายลม แสงแดด เพียงแต่ฝันของบางคนไม่ใช่แค่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ หากดำเนินไปตามครรลองแห่งความจริงด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1092 วันที่ 19 - 25 สิงหาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์