วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รักพี่ เกลียดน้อง

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ระชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา สำหรับคนลำปาง ไม่เรียกว่ารักพี่เสียดายน้อง เหมือนคนจังหวัดอื่นๆ ที่เลือกรับทั้งสองประเด็น แต่การตัดสินใจเลือกว่าจะรับหรือไม่นั้น กลับดำเนินไปในลักษณะที่เรียกว่า รักพี่แต่เกลียดน้อง
           
คนลำปางรับร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ 51.7 : 48.3 % แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับคำถามพ่วง ที่ว่าให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สัดส่วน 48.51 : 51.49 % ในทางทฤษฏีอาจอธิบายได้ว่า คนลำปางต้องการประชาธิปไตย ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว  แต่ไม่ต้องการให้วุฒิสมาชิกสรรหา 250 คน มามีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าอยู่นอกกติกา
           
ตัวเลขประชามติยังบอกอีกว่า ถึงแม้จะมีการให้ข้อมูลด้านเดียว ในช่วงโค้งสุดท้าย คือข้อมูลในด้าน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านครู ข. ครู ค. รวมทั้งคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัด ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถกินแดนของคนเสื้อแดงได้มากนัก ดูจากตัวเลขแพ้ ชนะซึ่งห่างกันไม่มาก
           
ห่างกันไม่มาก ยังพอเข้าใจได้ แต่ที่เท่ากัน 50 % ในประเด็นที่ 1 ที่อำเภอเถิน  ด้วยคะแนนเสียง รับและไม่รับ 13,430 เท่ากันพอดี แม้อาจเป็นไปได้ แต่ต้องมีคำถาม และ กกต.จังหวัดควรจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด ด้วยหลักฐานเอกสาร จำนวนผู้มีสิทธิ และการลงประชามติให้สิ้นสงสัย
           
เป็นความสงสัยที่มิใช่เฉพาะที่จังหวัดลำปางเท่านั้น  หากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ก็มีคนสงสัยว่า การลงประชามติครั้งนี้  อาจมีเงื่อนงำ จนต้องให้มีการสอบสวนทวนความกันให้แน่ชัด เช่น ความเคลื่อนไหวของนายศรีสุวรรณ จรรยา
           
ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบสวนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุทำให้การไปลงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรม
           
คงหาหลักฐานยาก ในกระแสสังคมที่คนสองฟากยอมรับประชามติแม้ว่าตัวเองจะไม่เห็นด้วย เช่น ท่าทีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ประชามติเรื่องตัวเลข ก็ยังน่าพิเคราะห์ว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ กับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า คะแนนเสียงรับไม่รับ ในขอบเขตทั่วประเทศจะต่างกันไม่มาก
           
อีกทั้งเสียงในภาคเหนือ ที่น่าจะออกมาในลักษณะเดียวกับเสียงในภาคอีสานที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เฉพาะลำปาง  ประชามติไม่รับอยู่ในอำเภอเมือง แม่เมาะ แจ้ห่ม และเถิน  เขตเมืองนั้นอาจพออธิบายได้ว่า เป็นกลุ่มคนชั้นกลาง ที่มีความคิด ทัศนคติ ไม่ต่างจากคนกรุงเทพ ในปีกของ  คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.
           
แต่พอถึงคำถามพ่วง เถิน หายไป เป็นไม่เห็นด้วย ซึ่งน่าจะพออนุโลมด้วยเหตุผลที่กล่าวแล้วข้างต้น
           
นอกจากตัวเลข รับ ไม่รับร่าง และคำถามพ่วงแล้ว คนที่กาไม่ครบช่อง คือเห็นด้วยกับร่าง แต่ไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยปล่อยให้เป็นช่องว่างไว้ ดังนั้น เสียงที่หายไป คล้ายเป็นโนโหวต คือไม่มีความเห็น และไม่ลงประชามติ ประเด็นที่ 1 จะหายไป 20,000 เสียง ประเด็นที่ 2 ราว 50,000 เสียง นี่ก็ย่อมมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน
           
ประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงยังสรุปไม่ได้ว่า เจตจำนงของประชาชนที่กระทำผ่านกากบาท ทั้งสองประเด็นนี้ คือการสนับสนุนอำนาจทหารให้ดำรงอยู่ต่อไป หรือต้องการเพียงเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อกำจัดทหารให้หมดไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1091 วันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์