วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559

เห็ด รสเลิศและลวงโลก

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ประเทศไทยนับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของเห็ดรานานาชนิด ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษ ปัจจุบันมีการสำรวจพบเห็ดทั่วโลกราว 14,000-15,000 ชนิด โดยพบในประเทศไทยประมาณ 1,500 ชนิด ในจำนวนนี้มีมากกว่า 647 ชนิดที่กินได้
           
ฤดูฝนเป็นช่วงที่เราจะได้ลิ้มรสเห็ดจากธรรมชาติ ตามริมถนน หรือในตลาด จึงมักจะเห็นชาวบ้านเก็บเห็ดนานาชนิดมาวางขาย ใครรู้จักเห็ดก็ได้เปรียบหน่อย ตรงที่สามารถเดินดุ่มเข้าไปซื้อได้อย่างไม่ลังเล แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าเจ้าเชื้อราตรงหน้านั่นกินได้จริง ๆ หรือ
           
เห็ดกินได้ในธรรมชาติภาคเหนือ
           
เห็ดขมิ้น เห็ดขมิ้นน้อย - หมวกเห็ดสีเหลืองเข้มถึงเหลืองอมส้ม เมื่อบานเป็นรูปปากแตร ขอบหมวกบิดเป็นคลื่น กลางหมวกบุ๋มลงลึก ด้านล่างสีเหลืองอ่อน ผิวเรียบ หรือมีสันนูนเล็กน้อย
           
เห็ดขมิ้นใหญ่ –ลักษณะคล้ายเห็ดขมิ้น ต่างกันตรงที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายดอกขจร หมวกเห็ดเป็นกรวยลึก สีเหลืองเข้ม ก้านสั้นกว่าเห็ดขมิ้น
           
เห็ดระโงกขาว เห็ดไข่ห่านขาว –หมวกรูปกลม หรือรูปไข่ เมื่อบานเป็นรูปกระทะคว่ำ ผิวเรียบเป็นมัน เมื่อได้รับความชื้นจะหนืด ขอบเป็นริ้ว มีวงแหวนใกล้กับหมวกดอก โคนก้านมีเยื่อหุ้มหนา อีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกัน คือ เห็ดระโงกเหลือง เห็ดไข่เหลือง หรือเห็ดระโงกน้ำตาลอมเหลือง ต่างกันที่หมวกเห็ดมีสีเหลืองสด
           
เห็ดโคน เห็ดปลวก - ลักษณะเด่น คือ หมวกคล้ายรูปกรวย หรือรูประฆังคว่ำ กึ่งกลางหมวกนูนเป็นติ่งแหลมสีน้ำตาลเรื่อ เป็นเห็ดที่นิยมกินกันมากและมีราคาแพง ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงกำลัง แก้บิด แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไอ ละลายเสมหะ
           
เห็ดถ่าน –ลักษณะเด่น คือ หมวกกลมคล้ายร่มสีขาว เมื่อได้รับความชื้นจะหนืด หากสัมผัส หรือฉีกขาดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ หรือสีน้ำตาลคล้ำ นิยมนำมาทำอาหารร่วมกับเห็ดอื่น ๆ
           
เห็ดลม เห็ดกระด้าง เห็ดขอน เห็ดบด –ลักษณะเด่น คือ หมวกเป็นรูปกรวยลึก สีขาวนวลอมน้ำตาลอ่อน เนื้อบาง ก้านเหนียวแข็ง สีน้ำตาลอ่อน
           
เห็ดน้ำแป้ง –หมวกเห็ดรูปกระทะคว่ำ กลางหมวกบุ๋มลง ผิวแตกเป็นเกล็ด เมื่อบานเกล็ดเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ขอบหมวกฉีก ครีบห่าง
           
เห็ดหน้าม่วง เห็ดหน้าม่อย –ลักษณะเด่น คือ หมวกเห็ดรูปกระทะคว่ำ มีหลายสี ทั้งเขียวอ่อนอมเหลืองและม่วงเรื่อ
           
เห็ดตะไคล เห็ดหล่มกระเขียว หมวกเห็ดสีเขียวหม่นอมน้ำตาลอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่กึ่งกลางหมวกจะเว้าลง มีกลิ่นเฉพาะตัว
           
เห็ดแดงน้ำหมาก –หมวกเห็ดรูปกระทะคว่ำ สีแดงถึงแดงเข้มและแดงอมส้ม ครีบสีขาว ไม่ติดกับก้าน เป็นเห็ดมีพิษ แต่ไม่รุนแรง ควรนำมาทำให้สุกก่อนกิน
           
เห็ดตับเต่า เห็ดผึ้ง เห็ดน้ำผึ้ง –ลักษณะเด่น คือ หมวกนูนเป็นรูปกระทะคว่ำ เนื้อหนา สีน้ำตาลคล้ำ มีขนละเอียดคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม กลางหมวกเว้าเล็กน้อย เมื่อได้รับความชื้นจะเป็นเมือกลื่น ใต้หมวกเป็นรูพรุนเล็ก ๆ สีเหลือง ก้านอวบอ้วนสีน้ำตาลอมเหลือง เป็นเห็ดที่มีประโยชน์มาก
           
เห็ดขอนขาว –หมวกดอกเป็นรูปกรวยตื้น ๆ สีขาวถึงขาวอมน้ำตาล ขอบหมวกงุ้มลงเล็กน้อย กึ่งกลางบุ๋ม มีเกล็ดสีขาวปกคลุม ครีบสีขาว ก้านรูปทรงกระบอกสีขาว เนื้อเหนียว แต่กลิ่นหอมและมีประโยชน์มาก
           
เห็ดตีนแรด เห็ดตับเต่าขาว –ลักษณะเด่น คือ หมวกเป็นรูปกระทะคว่ำ สีขาวนวลปนน้ำตาลเรื่อ เนื้อหนา ครีบถี่ ก้านสีขาวนวล โคนก้านรูปทรงกระบอก นิยมนำมาย่างกินอย่างอร่อย มีประโยชน์มาก
           
เห็ดพิษร้าย
           
เห็ดเกล็ดขาว เห็ดเกล็ดดาว – เป็นเห็ดพิษร้ายแรง มีสารที่มีผลต่อระบบประสาท ทำให้มึนเมา เพ้อฝัน หลับนาน และอาจถึงตายได้
           
เห็ดสุกรมัณฑวะ – เห็ดพิษร้ายแรง ทำให้ตายได้
           
เห็ดไข่ตายซาก เห็ดระโงกหิน – มีลักษณะคล้ายกับเห็ดไข่ห่านขาว หรือเห็ดระโงกขาวที่เป็นเห็ดกินได้ ต่างกันที่เยื่อหุ้มดอกของเห็ดไข่ห่านขาวจะแผ่กางออก ขอบหมวกดอกเป็นริ้ว ซึ่งจะเห็ดได้ชัดตอนที่เพิ่งโผล่จากเยื่อหุ้มเห็ดชนิดนี้มีสารพิษทำลายตับ ทำให้ปวดท้อง อาเจียน จากนั้นอาการจะหายไปและกำเริบมากจนทำให้ตายได้ภายในเวลา 4-6 ชั่วโมง
           
เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่เป็ด – เป็นเห็ดพิษรุนแรงถึงตาย มีพิษเช่นเดียวกับเห็ดไข่ตายซาก
           
เห็ดหัวกรวด เห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน เห็ดกระโดงตีนต่ำ – ทำให้มึนเมา อาเจียน
           
เห็ดขี้วัว – มีสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้ประสาทหลอน มึนเมา ปัจจุบันมีการนำมาสกัดทำเป็นยานอนหลับ
           
เห็ดหมึก เห็ดถั่ว – หากกินกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้หน้าแดง คลื่นเหียน อาเจียน กระวนกระวาย แขนขาไม่มีแรง มีพิษต่อระบบประสาท
           
เห็ดสมองวัว – ถ้ากินดิบจะมีพิษกับระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทส่วนกลาง ตับ และไต แต่ในต่างประเทศนิยมนำมากินโดยทำให้สุกก่อน ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายช็อกโกแลต
           
เห็ดเกล็ดแดง – ทำให้ประสาทหลอน
           
เห็ดยวงขนุน – มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน
           
เห็ดขี้ควาย –เป็นเห็ดพิษที่ร้ายแรงมาก ทำให้ประสาทหลอน มึนเมา ถ้ากินมากอาจทำให้สมองพิการและตายได้
           
เห็ดไข่หงส์ – ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน
           
เห็ดปะการัง – มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียน ท้องเสีย จุกเสียด
           
เห็ดก็เหมือนกับอาหารนานาชนิดบนโลกที่มีทั้งประโยชน์และโทษ จริงอยู่ที่เราอาจมีวิธีทดสอบเห็ดมีพิษหลายรูปแบบ ทางที่ดีควรกินเห็ดที่เก็บจากผู้มีประสบการณ์ชำนาญ และที่สำคัญ ควรรู้ว่าเมื่อกินเห็ดพิษเข้าไป ขั้นแรก คือ รีบล้วงคอให้อาเจียนเอาเห็ดออกมาให้หมด ดื่มน้ำต้มสุกผสมผงถ่านเพื่อดูดซับสารพิษ จากนั้นรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1094 วันที่ 2 - 8 กันยายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์