วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

ปรากฏการณ์จับ “เหี้ย” กับบทบาทสื่อไทย

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

ฏิบัติการกวาดล้าง เหี้ยสวนลุม ของกรุงเทพมหานคร และสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สร้างความตกตื่นให้กับสังคมไทยไม่น้อย  เพราะสื่อให้ความสำคัญติดตามทำข่าวใกล้ชิด
           
เหี้ยที่ถูกจับ หรือกำลังหนีการไล่ล่า จนกระทั่งสิ้นอิสรภาพถูกมัดตีน มัดหัว มัดหาง  ถูกจับจ้องด้วยกล้องโทรทัศน์หลายสิบตัว ด้วยกล้องถ่ายภาพนับร้อย ที่ยิงใส่ราวปืนกล
           
หลายคนตั้งคำถามว่า ข่าวการจับเหี้ย มีคุณค่าข่าวถึงขนาดคนทำทีวีระดมกันมา เป็นกองทัพย่อยๆ เพื่อเก็บรายละเอียดให้มากที่สุด เก็บภาพในมุมที่ดีที่สุด ชัดที่สุด แม้ในยามปกติ คนทั่วไปพยายามหลีกเลี่ยงเหี้ย ไม่อยากเห็น ไม่อยากดู แต่ครั้นเรื่องราวของเหี้ย ถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่ คล้ายฉากบู๊ในหนัง  ไม่ใช่ระหว่าง “คน” กับ “คน” แต่เป็นการตามล่าของ “คน” กับ “เหี้ย”
           
ในแง่วิชาการ ข่าวระดมกำลังจับเหี้ยสวมลุมครั้งนี้  มีคุณค่าในเชิงข่าวแน่นอน  เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า คนกับเหี้ยสวนลุมนั้น อยู่ร่วมกันมาช้านาน สวนสาธารณะที่มีแหล่งน้ำหลายแห่งก็มีเหี้ย แต่วันหนึ่งคนก็รู้สึกเดือดร้อนรำคาญกับการอยู่ร่วมกับเหี้ย เดินตัดหน้ารถจักรยานบ้าง  เดินตัดหน้าคนที่กำลังเดิน หรือนั่งพักผ่อนบ้าง  จึงเป็นที่มาของการปราบเหี้ย
           
เอเอฟพี ยังสนับสนุนความเชื่อว่าข่าวนี้เป็นข่าวสำคัญยิ่งของสังคมไทย ด้วยการรายงานว่า มีการกวาดล้างตัวเหี้ยออกจากสวนลุม เพราะมันเป็นตัวการทำลายระบบนิเวศ ขโมยอาหารและยัง เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย
           
แต่ประเด็นก็คือ มันเป็นข่าวที่มีความสำคัญมากกว่าข่าวอื่นๆที่เกิดขึ้นในสังคมนี้หรือไม่ สื่อไทยไม่ได้ให้ความสนใจข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวคุณภาพชีวิต ข่าวคนเล็กคนน้อยของประเทศนี้  ข่าวคนชายขอบ ข่าวสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องการความเข้าใจและส่งผลกระทบมากกว่า ข่าวคนวิตกจริตเรื่องเกมโปเกมอน ข่าวยกทัพจับเหี้ย ที่วูบวาบและจะหายไปอย่างรวดเร็ว
           
เพราะช่องอื่นไป ช่องนี้ก็ต้องไป เพราะนี่เป็นข่าวประเภทที่เรียกว่าเร้าอารมณ์ ชาวบ้านสนใจ  และมันตอบสนองสัญชาติญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ดังนั้น จึงไม่มีใครใช้หัวคิดอย่างเพียงพอ ว่าสภาพที่ต้องแข่งขันกันเพื่อทำข่าวประเภทนี้  มันมีคุณค่ามากพอสำหรับผุ้บริโภคข่าวสาร หรือมันตอบสนองเป้าหมายเรทติ้ง อันเป็นความอยู่รอดของสื่อนาทีนี้
           
ประเด็นต่อมาก็คือ หนังสือพิมพ์ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวนี้มากนัก จะใช้พาดหัวด้วยคำไหน เหี้ย ตัวเหี้ย วรนุส หรือตัวเงินตัวทอง  และโทรทัศน์ส่วนใหญ่ที่ยกทัพกันไปทำข่าวนี้ จะเขียน Scripts  ให้ผู้ประกาศ อ่านออกเสียงว่าอย่างไร จับเหี้ย จับวรนุส หรือจับตัวเงินตัวทอง
           
ความเป็นจริงเมื่อพูดถึงคำว่า “เหี้ย” เราอาจมีความรู้สึกว่า มันเป็นคำหยาบที่ไม่ควรพูดจา หรือใช้เป็นคำด่าทอกัน แต่ก็น่าแปลกอย่างยิ่ง คำว่าเหี้ย กลับเป็นคำที่แสดงได้ทั้งความเกลียดชัง และรักใคร่สนิทสนมกันเป็นพิเศษ เช่น ทักทายเพื่อนสนิทว่า “ไอ้เหี้ย” คนถูกทักจะรู้สึกดีถ้าเขาสนิทและไม่มีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน
           
แต่คนทั่วไปอาจรู้สึกไม่ค่อยยินดีนัก ที่ถูกเรียกว่า “ไอ้เหี้ย” ซึ่งเป็นคนละคำ คนละความหมายกับคำว่า “ตัวเหี้ย” ซึ่งหมายถึงสัตว์ชนิดหนึ่งในตระกูลสัตว์เลื้อยคลาน  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบท ของแต่ละคน แต่ละสถานการณ์
           
คำว่าเหี้ย มาจากคำว่าหีนในภาษาบาลี  แปลว่าต่ำช้า ต่อมากลายเป็นเหี้ย และเป็นคำที่ชาวบ้านยุคเก่าก่อน เรียกสัตว์ชนิดนี้ ที่ชอบเข้ามาลักกินไก่   คำๆนี้จึงสั่งสมอยู่ในความรู้สึกของคนไทยมาช้านาน ว่าเป็นคำที่ใช้เรียกขานสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
           
นี่เป็นเรื่องสมมติอีกเรื่องหนึ่งในสังคมไทย เป็นมายาคติที่ความจริงเหี้ยนั้น ไม่ได้เป็นสัตว์ที่เลวร้าย พวกมันช่วยสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ ด้วยการจัดการของเน่าเสีย หนังใช้ทำกระเป๋า เข็มขัดได้เหมือนหนังจระเข้
           
บางทีมนุษย์บางคนนี่เองที่อาจเรียกว่า “เหี้ย”ตัวจริง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1097 วันที่ 23 - 29 กันยายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์