วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

หอการค้าตากเป็นพี่เลี้ยง เชื่อมเซรามิคลำปางสู่เมียนมา

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

เซรามิคลำปางตื่นตัวอาศัยเส้นทางการค้าชายแดน แม่สอด-เมียวดี บุกตลาดเมียนมา หอการค้าตากพร้อมเป็นพี่เลี้ยงเชื่อมโยงธุรกิจ นักวิชาการชี้ผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างฐานการค้าและเกาะติดต่อเนื่อง
           
จากการสัมมนาหลักสูตร เจาะลึกการค้า โลจิสติกส์ และการลงทุน ไทย-เมียนมาวันที่ 21 กันยายน 2559ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง โดยมีนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายและอนุมัติโครงการนี้และเป็นประธานเปิดงาน  มีหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดลำปาง หอการค้าจังหวัดตาก  และผู้ประกอบการเซรามิคที่เข้าร่วมโครงการและสนใจในตลาดเมียนมาร์ หรือ พม่า เข้าร่วม สัมมนาในการนี้มีนายพงศ์ชัย ตันอรุณชัย รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดตากให้ข้อมูลเจาะลึกเส้นทางยุทธศาสตร์ การค้าการลงทุนในประเทศเมียนมา ผ่านเส้นทางการค้าชายแดนแม่สอด จ.ตาก แก่ผู้ประกอบการลำปางซึ่งหอการค้าจังหวัดตากยินดีและพร้อมเป็นพี่เลี้ยงในการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างไทย เมียนมา อีกด้วย
           
นายกิตติวงศ์ สิงหเสมานนท์ที่ปรึกษาและหัวหน้าโครงการ ลำปางเมืองเซรามิค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559  ให้สัมภาษณ์ว่า ในโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมโยงกิจกรรม และสรุปผลจากโครงการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีนโยบายเปิดตลาดอุตสาหกรรมเซรามิคไปยัง เมียนมา หรือพม่า โดยนำผู้ประกอบการเซรามิคจากลำปางไปศึกษาดูงานและพบปะแลกเปลี่ยนแนวทางการค้ากับนักธุรกิจชาวเมียนมา ตามเส้นทางถนนเชื่อมชายแดนแม่สอดจังหวัดตากไปยังฝั่งเมียวดีของพม่า ไปยังเมืองผาอัน เมืองเมาะละแหม่ง รวมทั้งเมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 59  ที่ผ่านมาเพื่อช่วยส่งเสริมด้านการตลาดในอาเซียน โดยการประสานงานและนำโดยหอการค้าจังหวัดตาก ร่วมกับหอการค้าเมียวดี พม่า ซึ่งประสบผลสำเร็จค่อนข้างมากเนื่องจาก นักธุรกิจในพม่าให้ความสนใจมากหลังจากทราบว่า ลำปางอยู่ใกล้กับชายแดนพม่าและเป็นแหล่งของเซรามิคของไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเซรามิคไทยเองก็มีโอกาสไปเห็นสินค้าของตัวเองวางขายในพม่า ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าที่มีพ่อค้าคนกลางนำเข้าไปขายด้วยเช่นกัน
           
"การเชื่อมโยงธุรกิจในโครงนี้ เกิดความตื่นตัวและเกิดมิติของความหวังและโอกาสทางการค้าของกลุ่มอุตสาหกรรมเซริกอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการไปพบเห็นและเชื่อมโงผ่านองค์กรหอการค้าทั้งฝั่งไทยและพม่าเป็นความร่วมมือด้านช่องทางแลกเปลี่ยนทางการค้าที่มีความเชื่อถือสูง มีความชัดเจน และเป็นโอกาสของการค้าระหว่างผู้ผลิตถึงผู้ซื้อโดยตรง แทนรูปแบบการค้าผ่านพ่อค้าคนกลางทั่วไป ดังนั้น ความต้องการทางตลาดฝั่งพม่าที่ต้องการสินค้าเซรามิคลำปางก็สามารถสื่อสารกันทางตรง เรื่องการขนส่งและระเบียบการค้านำเข้าส่งออก ก็มีหอการค้าตากและเมียวดีเป็นพี่เลี้ยงถือว่าเป็นทางลัดได้ค่อนข้างมาก"
           
ที่ปรึกษาและหัวหน้าโครงการ ลำปางเมืองเซรามิคยังกล่าวอีกว่า โอกาสอื่นๆที่มีความเป็นไปได้และน่าจะเติบโตค่อนข้างเร็วในส่วนของลำปางกับพม่า คือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเพราะลำปางเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีพม่าเกี่ยวข้อง ลำปางมีวัดพม่ามากที่สุดของไทย หากนักธุรกิจพม่า หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมีกำลังก็สามารถเข้ามาเที่ยวลำปาง แม้ขณะนี้พม่าอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องความยุ่งยากในการทำเดินทางข้ามมาไทย แต่เชื่อว่าหากมีโครงการแลกเปลี่ยนทางการค้าโดยมีภาครัฐของทั้ง 2 ฝ่ายรับรองการใช้ใบผ่านแดนชั่วคราวก็จะเพิ่มโอกาสในการค้าและการท่องเที่ยวได้มากขึ้นและเชื่อว่าในอนาคตตลาดพม่ายังมีช่องทางการค้าที่มีโอกาสเติบโตค่อนข้างมาก ดังนั้นแม้ไม่มีโครงการของรัฐเข้ามาสนับสนุนแต่ ผู้ประกอบการในลำปางต้องสานต่อและเกาะติดตลาดนี้อย่างต่อเนื่องจึงจะช่วยให้เกิดการค้าระหว่างกันต่อไป
           
นายอนุรักษ์ นภาวรรณ ผู้บริหาร บ.อินทราเซรามิค จำกัด เผยว่า ขณะนี้อินทราเซรามิค เริ่มมีการส่งสินค้าไปขายยังพม่า บางส่วนแล้วนอกจากนี้ยังมีบางโรงงานในลำปาง เริ่มติดต่อค้าขาย ส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือเทรดเดอร์ที่ค้าขายกับพม่าบางส่วนแล้ว ในแง่ของการขนส่งค่อนข้างสะดวกเพราะมีเส้นทางถนนเชื่อมจากชายแดนไทยแม่สอดไปยังพม่าได้สะดวกแล้ว ในอนาคตมองว่า ตลาดพม่ายังมีโอกาสโตค่อนข้างมาก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1097 วันที่ 23 - 29 กันยายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์