วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

ของดีมีอยู่

จำนวนผู้เข้าชม

ายกฯกิตติภูมิ นามวงศ์ บอกว่าศาลหลักเมืองใหม่ จะสร้างเสร็จไม่เกิน 3 เดือนนี้ แต่ในระหว่างสามเดือนนี้ เขาชักชวนให้คนร่วมบริจาค ในส่วนการประดับตกแต่ง เช่น งานปูนปั้นพญานาค งานแกะสลักประตู และงานติดทองคำเปลวศาลหลักเมืองทั้งหลัง
           
ตรงงานติดทองคำเปลวนี่เอง ที่มีคนเป็นห่วงว่า จะปิดทับจารึกของวัดจอมธรรม ซึ่งเป็นของจังหวัดลำพูน และมาอยู่ที่ศาลหลักเมืองช้านาน เพราะจารึกก็จะลบเลือนไป หาคุณค่าของความเป็นจารึกมิได้
           
จารึกวัดจอมธรรมนี้ ก็น่าสงสัยว่ามาอยู่ที่ศาลหลักเมืองลำปางได้อย่างไร
             
และเรื่องราวที่จารึกไว้ เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าจารึกนี้มีคุณค่าอย่างไร  
           
เพราะเท่าที่สืบค้นประวัติศาสตร์ศาลหลักเมือง ก็พบแต่เส้นทางของศาลหลักเมืองทั้งสามเสาเท่านั้น ไม่ปรากฏจารึกของวัดจอมธรรม ถึงกระนั้นการปรากฏจารึกของวัดจอมธรรมที่นี่ ก็น่าจะมีคำอธิบาย
           
ตามประวัติศาสตร์บอกว่า ความเป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญของอาณาจักรล้านนา จึงต้องมีเสาหลักเมืองเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2440 เมื่อมีการสร้างศาลากลางจังหวัด ได้นำหลักเมืองมาไว้ที่บริเวณหน้าศาลากลาง และได้มีการสร้างมณฑปครอบหลักเมืองทั้งสามในปี พ.ศ. 2511
           
ในปัจจุบันศาลหลักเมืองเป็นที่เก็บเสาหลักเมืองโบราณจากที่ต่างๆไว้ และยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดลำปาง
           
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเก่าด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
           
หลักเมืองทำด้วยไม้สัก โดยภายในศาลหลักเมือง จะมีหลักเมืองอยู่ 3 ต้น แต่ละต้นเป็นเสาไม้เนื้อแข็งขนาดหนึ่งคนโอบถากปลายแหลม ประดิษฐานอยู่ตามมุมต่างๆ ทั้งสามต้นจะมีประวัติความเป็นมาต่างกัน         
           
เสาหลักที่ 1 นำมาจากวัดปงสนุก สร้างขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. 2400 ใน สมัยเจ้าวรญาณรังสี
           
เสาหลักที่ 2 สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2416 สมัยพระเจ้าพรหมภิพงษ์ธาดา
           
เสาหลักที่ 3 นำมาจากบริเวณตลาดราชวงศ์ ข้างคุ้มราชวงศ์เก่า สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2429 สมัย เจ้านรนันท์ไชยชวลิต
           
เหตุผลที่เสาหลักทั้งสามนี้มาประดิษฐานอยู่ด้วยกัน เพราะเจ้าบุญยวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าเมืองลำปาง ได้สร้างศาลาว่าการจังหวัด ขึ้นในที่ดินที่เรียกว่า หอคำ เมื่อแล้วเสร็จจึงได้อัญเชิญเสาหลักเมืองทั้งสามมาประดิษฐานอยู่ด้วยกัน
           
ในปี พ.ศ. 2440 และในปี พ.ศ. 2511 ได้มีการสร้างมณฑปครอบเสาหลักเมืองไว้ ในบริเวณ ใกล้เคียงกันยังมี พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในอาคารทรงไทยจัตุรมุข ใกล้กับศาลหลักเมือง
           
พระพุทธรูปองค์นี้ในหลวงทรงเททองหล่อด้วยพระองค์เอง   ในปี พ.ศ. 2509 หลังจากผ่านการปลุกเสกเบิกพระเนตรแล้ว จึงพระราชทานไปประดิษฐานยังทิศทั้งสี่ของประเทศไทย โดยชาวจังหวัดลำปางจะเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อดำ เพราะสร้างจากโลหะผสมแล้วรมดำทั้งองค์
           
เหตุผลที่ไม่มีการปิดทองเหมือนพระพุทธรูปองค์อื่นๆ เพราะในหลวงทรงหล่อขึ้น เพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือพระองค์ดำ เนื่องจากพระองค์ท่านมีพระฉวีดำคล้ำ และบริเวณใกล้เคียงก็จะเป็นมณฑปของหลวงพ่อเกษม  เขมโก
           
เมื่อนายกฯกิตติภูมิ ชักชวนคนมาบริจาค เหตุผลคงไม่ได้เป็นเพราะขาดเงินอย่างเดียว แต่ต้องการให้คนลำปางได้มีส่วนร่วมภาคภูมิใจในศาลหลักเมือง ที่งดงาม เป็นสง่าราศีให้กับเมืองลำปาง
           
และสำคัญคือให้คนลำปาง บอกกับคนต่างถิ่นได้ว่า ศาลหลักเมือง ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ยืนยันว่า ลำปางนั้น ของดีมีอยู่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1096 วันที่ 16 - 22 กันยายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์