วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559

อภิสิทธิ์ชน คนข่าวเมืองกรุง !

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ลันที่ TCIJ แสดงข้อมูลสื่อ 19 ราย รับเงินจากบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ อย่างซีพีเอฟ  กระหึ่มแห่งคำถามก็เกิดขึ้นกับวงการสื่อ กับความเชื่อถือในสื่อทั้งระบบ ความเชื่อถือที่นับว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่ค่ายิ่งในวิชาชีพสื่อ
           
นั่นเป็นเหตุผลสามัญของคนที่อยู่ในบทบาทองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่มีหน้าที่กำกับ ดูแลจริยธรรมโดยตรง ที่ต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด โปร่งใส ตรงไปตรงมา จึงเป็นที่มาของคณะกรรมการอิสระ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและรอบด้าน
           
เพื่อความเป็นธรรมทั้งสื่อที่ถูกกล่าวหาทั้ง 19 ราย และซีพีเอฟ ที่ถูกอ้างว่ามีการจ่ายเงิน จ่ายทองกันด้วยวิธีพิเศษ
           
ผมเกิดและเติบโตในวงการสื่อ ยุค 18 อรหันต์ ได้รู้ได้เห็นพฤติกรรมของนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่บางคน ที่ทำมาหากิน รับเงินรับทองจากผู้มีอำนาจ ยุคต่อมาก็เป็นนักธุรกิจ บริษัทเอกชนบางแห่ง ที่จ่ายเงินให้นักข่าว ไปจนกระทั่งระดับบรรณาธิการ เป็นรายเดือน หรือแม้ไม่ได้จ่ายกันเป็นเดือน ยามขัดสนก็ขอความช่วยเหลือกันได้ตลอด ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว จะแตกต่างก็เพียงครั้งนี้ มีหลักฐานอ้างอิงเท่านั้น
           
แต่หลักฐานนั้น ก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะปรักปรำฝ่ายใดได้ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระ ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงจากคณะกรรมการ และผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายอื่นๆ ที่จะต้องสอบสวนเรื่องนี้ อย่างรอบคอบ และระมัดระวัง
           
จากเดิมที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน 6 เดือน ก็ล่วงเลยเวลามานานปี จนผมไม่ได้อยู่ในตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติอีกแล้ว ถึงกระนั้น ประธานสภา กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติชุดต่อมา ก็ยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยถือว่าเป็นภารกิจสำคัญในหลักการดูแลกันเอง
           
จนกระทั่งได้ผลสรุปอย่างไม่เป็นทางการไม่นานวันมานี้
           
ผลสรุปที่ยืนยันว่า เป็นการจ่ายกันเป็นค่าโฆษณาจริง
           
แต่ประเด็นสำคัญที่ทุกคนอยากรู้ และก็เป็นความเสี่ยงของคณะกรรมการสภาวิชาชีพทั้งสอง คือการเปิดเผยชื่อสื่อมวลชนทั้ง 19 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงินโดยวิธีที่ไม่ชอบจาก ซีพีเอฟ
           
ผลสรุปเบื้องต้นของคณะกรรมการสอบสวน คือมีหลักฐานอ้างอิงได้ว่าเป็นการจ่ายและรับเงินเป็นค่าโฆษณาจริง แต่กรณีเป็นที่น่าสงสัยว่า เป็นการใช้สถานะของนักข่าวหรือคนที่มีชื่อเสียง เพื่อให้ได้มาซึ่งโฆษณาเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ เพราะในหลายกรณีนักข่าวหรือแม้แต่ผู้บริหารองค์กรสื่อ ก็ก้าวข้ามเข้าไปในพื้นที่การหาโฆษณา โดยใช้ตำแหน่ง หน้าที่นำทางให้ฝ่ายโฆษณา
           
เส้นแบ่งระหว่างกองบรรณาธิการ กับฝ่ายหาโฆษณา เส้นแบ่งระหว่างการทำหน้าที่สื่อมวลชน ที่เป็นอิสระ กับการที่ใช้อภิสิทธิ์ความเป็นสื่อที่มีชื่อเสียง ไปเจรจาขอโฆษณา และให้ฝ่ายโฆษณาตามไปปิดการขายนั้น อยู่ตรงไหน
           
ระหว่างพื้นที่ของสื่อ กับสิทธิพิเศษและผลประโยชน์ทับซ้อน มีความชัดเจนในความคิดของสื่อที่พยายามแสดงราคาของสื่อที่มีหลักการมากน้อย เพียงใด มีความละอายบ้างหรือไม่ ที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ตามหลังมา แต่เขาก็จำยอมต้องให้โฆษณา
           
เพราะเจ้าของกิจการ ให้โฆษณามิใช่ด้วยความเชื่อถือในสื่อนั้นๆ  แต่เขาให้เพราะความเกรงใจ เพราะความเป็นสื่อที่สำคัญว่าตัวเองมีอิทธิพล
           
หรือจำเป็นต้องนิยาม ให้ชัดเจนระหว่าง "พื้นที่สื่อ" กับพื้นที่โฆษณา" ซึ่งมีนัยสำคัญแตกต่างกัน เช่นข้อสังเกตุของ ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
           
สำหรับสื่อที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และได้แสดงเอกสารหลักฐานว่าเป็นการจ่ายและรับเงินในการโฆษณาจริง ขณะนี้มีเพียงรายเดียวคือคุณณ กาฬ เลาหะวิไลย ผู้บริหารกลุ่มโพสต์ ซึ่งได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ และยอมรับความจริงตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้แล้ว
           
ในส่วนของคณะกรรรมการสภาวิชาชีพทั้งสอง คือ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อาจจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นเดียวกับมติชน ที่ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องได้แถลงไปก่อนที่คณะกรรมการชุดใหญ่จะมีมติ
           
อย่างไรก็ตาม หากมีกรณีที่เป็นความผิด กรรมการสภาวิชาชีพจะต้องยืนยันความเป็นอิสระ และแสดงความกล้าหาญในการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่หวาดหวั่นสิ่งใด เพราะนี่จะเป็นการแสดงความศักดิ์สิทธิิ์ในการกำกับ ดูแลกันเองได้อย่างแท้จริง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1094 วันที่ 2 - 8 กันยายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์