วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ถอยทัพก่อน เขียวเหลือง สะดุดอีไอเอ ชะลอขุดลิกไนต์ ชบ.ล้อมรถบริษัท

จำนวนผู้เข้าชม website counter

เขียวเหลืองขอปิดเหมืองชั่วคราว เหตุเปิดไม่ทัน 1 ปี ตามเงื่อนไขประทานบัตร  อีกทั้งยังไม่ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกันกรณีชาวบ้านปิดล้อมรถบริษัทที่เข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากไม่พอใจที่ผิดข้อตกลงให้แจ้งล่วงหน้าก่อน 7 วัน    
           
หลังจากที่บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ได้ยื่นขออนุญาตประทานบัตร มาตั้งแต่ปี 2553 คำขอประทานบัตรที่ 4-8/2553 รวม 5 แปลง ในพื้นที่ หมู่ 1 และ หมู่ 7 ต.บ้านแหง อ.งาว    และได้รับประทานบัตรแล้วในตแปลงที่ 6/2553  พื้นที่ 291 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา เป็นพื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ ,ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 , และป่าถาวรตามมติ ครม.  ไม่มีพื้นที่ ส.ป.ก.อยู่ในเขต  ได้รับประทานบัตรที่ 30485/16138 เมื่อวันที่ 10 ส.ค.58 ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันที่ 9 ส.ค.2568  เป็นเวลา 10 ปี  และขณะนี้ผู้ถือประทานบัตรยังไม่ได้เปิดการเหมืองแต่อย่างใด
           
ล่าสุด ลานนาโพสต์ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.59 บริษัทเขียวเหลืองได้มีการยื่นขอหยุดการทำเหมือง ไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ในแปลงที่ได้รับประทานบัตร พื้นที่ 291 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา จึงได้สอบถามไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ทราบว่า  เหตุที่บริษัทเขียวเหลืองได้ยื่นขอหยุดการทำเหมือง เนื่องจากไม่สามารถเปิดเหมืองได้ทันภายใน 1 ปีตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในประทานบัตร ที่ระบุไว้ว่าเมื่อได้รับประทานบัตรแล้วต้องเปิดทำเหมืองภายใน 1 ปี  หากไม่ทำตามก็จะต้องถูกยึดประทานบัตร  แต่กรณีการขอหยุดการทำเหมืองก็ยังได้รับประทานบัตรตามกำหนด 10 ปีเช่นเดิม หากพร้อมที่จะเปิดเหมืองก็ทำเรื่องส่งเข้ามาได้ 
           
ทั้งนี้ กรณีของบริษัทเขียวเหลืองจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเงื่อนไขทางผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  ซึ่งมีหลายข้อที่ยังไม่สามารถทำได้ เช่นการต้องสร้างกองทุนขึ้นให้ครบทุกกองทุน  และการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ก็ยังติดปัญหาอยู่  ในระหว่างนี้ทางบริษัทก็ต้องดำเนินการตามมาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะขอเปิดทำเหมืองได้อีกครั้ง  แต่ก็ไม่ทราบได้ว่าทางบริษัทจะดำเนินการตาม EIA แล้วเสร็จเมื่อไร
           
สำหรับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่บริษัทเขียวเหลืองจะต้องดำเนินการโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น  แต่งตั้งคณะกรรมการให้ตรวจสอบและแก้ไขข้อขัดแย้งในรูปแบบพหุภาคี ประกอบด้วยนายอำเภองาวเป็นประธาน ตัวแทนจากโครงการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน  ตัวแทนฝ่ายไม่เห็นด้วย เสนอรายงานต่อกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ทราบปีละครั้ง  ,แต่งตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ก่อนเปิดเหมือง จากตัวแทนโครงการ ตัวแทนชาวบ้าน และหน่วยงานราชการ , จัดทำแผนช่วยเหลือชุมชน(CSR) , จัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชน ภายหลังจากได้รับอนุญาตประทานบัตร ให้เสร็จภายใน 6 เดือน , จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูพื้นที่จากการทำเหมือง ,จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน , จัดตั้งกองทุนเฝ้าระวังภาวะสุขภาพ เป็นต้น
           
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 10 ต.ค.59 ได้เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง ซึ่งเป็นกลุ่มที่คัดค้านการทำเหมืองในพื้นที่ ได้เข้าปิดล้อมรถของบริษัทเขียวเหลือง ที่ขับเข้าไปในพื้นที่จำนวน 2 คัน โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง  เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ร่วมเดินทางไปกับรถของบริษัท  ซึ่งชาวบ้านกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันเข้าไปในพื้นที่ เพื่อห้ามไม่ให้รถทั้ง 2 คันเข้าไปด้านใน พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เดินทางไปกับรถ ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมบอกเหตุผลที่เข้ามาในพื้นที่บ้านแหง แต่เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้ ชาวบ้านจึงไม่ยินยอมให้รถของบริษัทขับออกไป   ทางด้านนายชัยพฤกติ์ เชียรธาน   รักษ์นายอำเภองาว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.งาว และเจ้าหน้าที่ทหาร ต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยร่วมกัน
           
น.ส.วรรณา ลาวัลย์  สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง  เปิดเผยว่า  เหตุการณ์ในวันดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้  ทสจ.ลำปาง  พนักงานธุรการ  ได้นำหนังสือคำสั่งจากกรมป่าไม้ให้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ได้รับอนุญาตการทำเหมืองว่าปัจจุบันมีการเข้าทำประโยชน์หรือไม่อย่างไร   โดยได้นั่งมากับรถของบริษัท 2 คัน  ซึ่งปกติจะมีชาวบ้านเฝ้าเวรยามอยู่ในหมู่บ้าน  และเห็นว่ามีรถสองคันเข้ามาได้ทำการโบกให้จอดแล้ว แต่รถไม่ยอมจอด จึงได้เรียกชาวบ้านมาร่วมกันตรวจสอบว่าใครที่เข้ามาในพื้นที่ เมื่อชาวบ้านคัดค้านการทำเหมืองอยู่ จึงต้องเฝ้าระวังเพราะเกรงว่าจะมีการลักไก่เข้ามาทำอะไรในพื้นที่แล้วชาวบ้านไม่รู้  เมื่อทราบเรื่องจึงได้ติดตามเข้าไปในป่าแนวเขตพื้นที่ยื่นขอประทานบัตร พบเจ้าหน้าที่ใส่ชุดข้าราชการ พร้อมกับพนักงานของบริษัทที่มาด้วยกัน และก็มีผู้ชายใส่เสื้อลายสีเทาดำบันทึกภาพวีดีโออยู่ตลอดเวลา ขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้คุยกับชาวบ้านอยู่  ทางป่าไม้ก็ชี้แจงว่ามาตรวจสอบตามหนังสือที่ได้รับแจ้งมา แต่ชาวบ้านก็มีข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงไม่ประสานผู้ใหญ่บ้านก่อนเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากทางผู้ใหญ่บ้านได้มีการทำหนังสือแจ้งไปทางหน่วยงานราชการหลายครั้ง ว่าการจะเข้ามาในหมู่บ้านต้องแจ้งให้กับทางผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ทราบก่อน  ชาวบ้านจึงมีความรู้สึกว่าการเข้ามาโดยไม่บอกกล่าว จะมีการลักลอบทำอะไรกับทางบริษัท เพื่อเอื้อให้ผ่านขั้นตอนต่างๆ   เลยขอให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปลงบันทึกไว้ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านว่าเข้ามาในพื้นที่เพราะอะไร และทำความเข้าใจว่าครั้งหน้าขอให้แจ้งผู้ใหญ่บ้านทราบก่อน โดยทางป่าไม้ก็ไม่ทราบว่า บริษัทกับชาวบ้านได้มีข้อตกลงกัน ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็รับทราบเงื่อนไขดังกล่าว  ชาวบ้านจึงไปส่งเจ้าหน้าที่กลับไปเอารถที่จอดไว้ที่อำเภอเก่า
           
น.ส.วรรณา กล่าวต่อไปว่า   ส่วนรถบริษัท 2 คันที่เข้ามา ชาวบ้านก็ยังไม่พอใจอยู่เพราะโดนหลอก และโดนลักไก่อยู่หลายครั้ง จึงดักรถไว้อยู่ที่ด่าน โดยมีเจ้าหน้าที่จากบริษัท 6 คน และมีผู้ชายเสื้อลายสีเทาดำ 1 คน บันทึกภาพตลอด อ้างว่าเป็นนักข่าวทีวีช่องหนึ่ง แต่ในตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเป็นนักข่าวจริงหรือไม่ เพราะเห็นว่ามากับรถของบริษัท จึงบอกให้ลบภาพที่ถ่ายไว้ออกทั้งหมด แต่ชายคนนั้นไม่ยอมลบ และมีการขอให้ทางบริษัทบันทึกไว้ว่าการที่เข้ามาในพื้นที่ไม่ได้แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ  รวมทั้งไม่ให้มีการถ่ายรูป ให้ทุกคนลบรูปและภาพวีดีโอ เพราะเกรงว่าจะนำไปเป็นหลักฐานการประกอบกิจการเหมืองแร่ หรือนำไปฟ้องร้องคดีทางกฎหมาย แต่เจรจาตกลงกันไม่ได้ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจมา และนายอำเภองาวเดินทางมาพูดคุยเจรจาร่วมกัน  ทางบริษัทจึงยอมให้ลบภาพและวีดีโอทั้งหมดออก  และได้ลงบันทึกตามที่ชาวบ้านร้องขอ
           
ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง กล่าวอีกว่า  การที่ชาวบ้านออกมาคัดค้าน มีหลายกระแสว่าชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหงมีความก้าวร้าวหรืออะไรต่างๆ อยากจะบอกว่า ถ้าใครไม่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้ มองแต่ภาพที่นำเสนอออกไป ก็จะเห็นว่าชาวบ้านแหงหัวรุนแรง  แต่คนภายนอกไม่ทราบได้ว่าตลอดระยะเวลา 5 ปี กลุ่มบ้านแหงเจออะไรบ้าง  เขาไมได้มารับทราบในส่วนลึกนั้นเลย แม้แต่เราถูกฟ้องร้องมากี่คดี ทุกวันนี้ก็ยังมีคดีอยู่ ที่ชาวบ้านต้องช่วยเหลือกันเองด้วยการระดมทุน  การต่อสู้หลายครั้งทำให้ชาวบ้านต้องเสียงานเสียการ ส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ไม่ได้จะสูงมาก แต่ชาวบ้านก็ยอมที่จะออกไปสู้ เพื่อวิถีชีวิตของพวกเรา   เดิมเรามีความสุขกันอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเอาเหมืองเข้ามา แต่หลังจากที่มีเหมือง หมูบ้านที่เคยสงบก็ต้องแตกเป็นสองฝ่าย ชาวบ้านเกิดความเครียดและความกังวล กลัวเขาจะนำพื้นที่ของบ้านเราไปทำเหมืองจนได้   ขณะเดียวกันก็ไม่เคยที่ใครถามกลับว่าทางหน่วยงาน ทางบริษัทได้ทำอะไรไปบ้าง  ทั้งที่ชาวบ้านเคยร้องเรียนคัดค้านไป แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา เช่น การผ่านประชาคมหมู่บ้าน ทั้งที่ชาวบ้านกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ไม่เอาเหมือง แต่ยังเอาประชาคมเท็จไปประกอบจนได้รับใบอนุญาตจนได้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1100  วันที่  14 -  20 ตุลาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์