วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เหตุผลที่เราไม่ควรย้อมผ้าดำเอง

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

ข้อมูลจาก “เพจเคมีและฟิสิกส์ของสิ่งทอสีสันและอาหาร” นั้น น่าสนใจมาก ซึ่งแอดมิน ในฐานะนักเคมีสิ่งทอคนนี้ จัดว่าคร่ำหวอดในวงการย้อมสีมาก สอนวิชาการย้อมผ้ามาไม่ต่ำกว่า 15 ปี ไม่รวมประสบการณ์การย้อมผ้าอีกกว่า 30 ปี เนื่องจากที่บ้านทำกิจการโรงย้อมสีลูกไม้ โดยเขาได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการย้อมเสื้อดำใส่เองในแง่มุมที่เราเองคิดไม่ถึง เพราะไม่มีความรู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เขาอธิบายอย่างนอบน้อมและไม่ได้แสดงท่าทีอหังการที่จะสวนกระแสสังคมในยามนี้ว่า การย้อมเสื้อดำจากผ้าขาวเอง หรือการนำเสื้อสีมาย้อมทับดำนั้น จำเป็นต้องรู้จักชนิดของเส้นใยทางสิ่งทอเป็นอย่างดีก่อนจะย้อม ถ้าเราจำแนกชนิดของเส้นใยผิด ทุกอย่างก็จะผิดพลาดไปหมด และสีย้อมแต่ละชนิดที่ใช้ย้อมก็จะเลือกติดเฉพาะแต่ละเส้นใยเท่านั้น

ดังนั้น การที่เรายังไม่ชำนาญในการจำแนกเส้นใยแล้วคิดจะย้อมเอง จึงอาจเกิดความผิดพลาด น้อยที่สุดก็คือ สีไม่ติดบนผ้าเลย ซึ่งก็แค่เสียเงินและเสียเวลาเท่านั้น แต่ถ้าผิดพลาดมากขึ้นไปอีกก็ได้แก่ การที่สีติดบนผ้า แต่ตกตลอด เนื่องจากความไม่เหมาะสมของคู่สีย้อมและเส้นใย แล้วสีที่ตกนั้นก็จะพานทำให้เสื้อผ้าชุดอื่น ๆ ของเราพังไปด้วย

ปกติผ้าที่จะย้อมสีได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือขั้นสูงมีเพียงผ้าฝ้าย ป่าน ปอ ลินิน วิสโคส ขนสัตว์ ไหม และไนลอน เพราะเส้นใยเหล่านี้สามารถย้อมติดได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่อุ่น ๆ จนถึงจุดเดือดของน้ำเท่านั้น ซึ่งสีดำที่องค์กรต่าง ๆ นิยมนำมาย้อมดำให้แก่ประชาชน คือ สีซัลเฟอร์ (Sulphur Black) เนื่องจากให้สีดำสนิท สวย แต่ว่าต้องใช้สารรีดิวซ์โซเดียมซัลไฟด์ หรือที่เรียกกันว่า หินเหลือง ซึ่งก็คือเกลือของแก๊สไข่เน่า เรื่องกลิ่นจึงไม่ต้องพูดถึง

นอกจากนั้น ยังต้องมีการเติมด่างอย่างโซดาซักผ้าลงไปด้วย ซึ่งสารชนิดนี้กัดกร่อนโลหะอย่างแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อุณหภูมิสูง ดังนั้น ภาชนะที่ใช้ย้อมต้องเป็นโลหะเกรดพิเศษที่ทนสารกัดกร่อนที่อุณหภูมิสูงด้วย หากใช้หม้อที่บ้านนั่นคือจุดจบเลยทีเดียว อีกทั้งสีซัลเฟอร์ดำจะติดบนเส้นใยจากพืชเท่านั้น นั่นหมายความว่า หากเสื้อผ้าเราไม่ใช่ฝ้าย ป่าน ปอ ลินิน วิสโคส มันก็จะกลายเป็นสีเทาตุ่น ๆ เลอะ ๆ ทำให้ต้องเสียเสื้อไปฟรี ๆ แต่ปัญหาใหญ่สุดของการย้อมผ้าใส่เองก็คือ เส้นใยพอลิเอสเตอร์ เพราะเส้นใยชนิดนี้มีความแข็งแรงสูง จึงนิยมนำมาใช้เป็นเส้นด้ายเย็บผ้าทุกชนิดที่ตะเข็บ และจะย้อมติดสียากมาก ต้องใช้เครื่องมืออัดความดันที่สามารถทำให้น้ำนั้นมีจุดเดือดสูงขึ้นไปถึง 130 องศาเซลเซียส สีที่ใช้ย้อมจึงจะติด ดังนั้น การที่เราย้อมเองโดยไม่มีเครื่องมือที่ว่า เราก็จะได้เสื้อย้อมที่มีตะเข็บด้ายสีโดดเด้งขึ้นมา ไม่ยอมเป็นสีดำเหมือนสีพื้น

แอดมินเพจจึงไม่แนะนำให้ใครย้อมสีดำใส่เอง หากว่าการย้อมนั้นไม่ได้ผลดี หรือไม่สามารถทำให้ได้คุณสมบัติที่ดี เช่น สีเข้มสม่ำเสมอ สีไม่ตก หรือมีวิธีที่ครอบคลุมให้ย้อมติดหมดทั้งผ้าและเส้นด้ายให้เป็น Solid Shade (สีเดียวกันหมด) ทั้งนี้ การย้อมผ้าต้องอาศัยความชำนาญ ทั้งการจำแนกเส้นใย สีย้อม กระบวนการย้อม สารเคมี อีกทั้งการย้อมนั้น เป็นการใช้สีและสารเคมีในปริมาณสูง ซึ่งส่งผลต่อการกัดกร่อนภาชนะ ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีเกลือ กรด ด่าง สารรีดิวซ์ และสารออกซิไดซ์อื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมชนิดคาดไม่ถึง อีกทั้งช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ทุกคนต้องการย้อมผ้าพร้อม ๆ กัน อันจะส่งผลกระทบรุนแรงหากกำจัดน้ำทิ้งที่เหลือจากการย้อมด้วยการเทลงระบบสาธารณะ โดยไม่ได้ผ่านการบำบัดน้ำเสียอย่างถูกวิธี (ซึ่งวิธีที่โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ใช้ก็ต้องลงทุนสูงและมีความซับซ้อนมาก)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้แนะนำวิธีบำบัดน้ำเสียจากการย้อมผ้า โดยแบ่งเป็นวิธีบำบัดด้วยเคมี ดังนี้1. ใส่น้ำฟอกย้อมที่ใช้แล้วในถัง หรือบ่อพัก แล้วใช้สารส้มทำให้น้ำย้อมผ้าตกตะกอน 2. ปล่อยน้ำที่ใสแล้วออกสู่ผิวดิน หรือแหล่งน้ำสาธารณะ 3. ตากตะกอนให้แห้ง แล้วใส่ถุงฝังกลบ ส่วนวิธีบำบัดด้วยชีวภาพ ได้แก่ 1. ใส่น้ำฟอกย้อมที่ใช้แล้วในถัง หรือบ่อพัก แล้วใช้จุลินทรีย์อัดเม็ดผสมในน้ำ 2. ให้น้ำผ่านเข้าไปในถังที่สอง ซึ่งมีวัสดุจำพวกเถ้าแกลบ น้ำจะค่อย ๆ ซึมจากล่างขึ้นข้างบน ซึ่งจะใช้เวลา 5-7 วัน เพื่อให้น้ำย้อมผ้ามีสีจางลง หรืออาจให้น้ำย้อมผ้าไหลผ่านแปลงต้นกก หรือหญ้าแฝก 3. ปล่อยน้ำที่ใสแล้วออกสู่ผิวดิน หรือแหล่งน้ำสาธารณะ

ขณะเดียวกัน การเปื่อยยุ่ยของผ้าย้อมดำ โดยเฉพาะผ้าย้อมดำด้วยสีซัลเฟอร์สีดำ เมื่อเก็บเป็นระยะเวลานานจะสลายตัวเกิดเป็นกรดกำมะถันที่สามารถย่อยสลายผ้าฝ้ายได้ แอดมินบอกว่า เราจะไม่ค่อยเจอปัญหาผ้าดำเปื่อยขาดในกรณีที่เราใช้งานเรื่อย ๆ ในขณะที่ผ้าที่เก็บสต็อกไว้นานโดยไม่ได้ผ่านการซักเลยจะเปื่อยเร็วกว่า และกลายเป็นปัญหาเมื่อพ่อค้าแม่ค้านำมาขายให้เรานั่นเอง

สุดท้าย แอดมินเพจบอกว่า ไม่มีอะไรง่ายสำหรับการกำจัดมลภาวะไปกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะ เช่นนี้เราจึงอาจรอสักระยะ ให้กระแสเสื้อดำนิ่ง เชื่อว่าเวลานั้นคงมีทางออกที่เหมาะสม เสื้อดำคงมีการผลิตมากขึ้น ราคาก็จะถูกลง ระหว่างนี้อาจใช้ริบบินดำไปก่อนแล้วเห็นมีบางกลุ่มหันมาย้อมสีธรรมชาติจากมะเกลือ ก็ดูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ว่าแต่ ลูกมะเกลือนี่หน้าตาเป็นอย่างไรหนอ...

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1101 วันที่  21 -  27 ตุลาคม 2559)
Share:

1 ความคิดเห็น:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์