วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สื่อออนไลน์ ผู้ร้ายตัวจริง !

จำนวนผู้เข้าชม website counter

กิดอะไรขึ้นกับโลกยุคออนไลน์ เมื่อคนต่อแถวยาวเหยียดเพื่อที่จะซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับในหลวง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่ให้พื้นที่ทั้งเรื่องราวของในหลวง และภาพพระราชกรณียกิจ 40 หน้าเต็มโดยไม่มีโฆษณา
           
อาจด้วยสถานการณ์ที่อ่อนไหวอย่างยิ่งของสื่อออนไลน์ ที่กลายเป็นแหล่งปล่อยข่าวเท็จ ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวที่ไม่มีที่มา อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิด Hate Speech จำนวนมาก จน ขบวนการล่าแม่มด ระบาดไปทั่ว และขณะที่สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล กรมประชาสัมพันธ์ อสมท. และ กสทช. คล้ายอยู่ใต้ร่างเงาของทีวีพูล ที่ต้องคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน แม้จะมีอิสระอยู่บ้างก็ตาม แต่สื่อที่ได้รับการตอบรับอย่างน่ายินดีและมีการแข่งขันในการนำเสนอภาพและข่าวที่ดีที่สุด มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในกลุ่มสื่อด้วยกัน กลับเป็น สื่อหนังสือพิมพ์ที่ทุกคนบอกว่าตายแล้ว
           
ไม่เคยมีครั้งใดที่คนอ่านหนังสือพิมพ์ จะต้องช่วงชิงกันซื้อหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับหลักๆ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ฉบับกลางๆ และฉบับเล็ก จนหมดแผงในเวลาอันรวดเร็ว เพียงข้ามคืนหนังสือพิมพ์ฉบับที่ตีพิมพ์ภาพช่วงวันสวรรคต และเรื่องราวงานพระราชพิธี กลายเป็นหนังสือหายากที่ใครได้ครอบครอง จะเก็บ และหวงแหนไว้เหมือนสมบัติอันล้ำค่า
           
นาทีทองของหนังสือพิมพ์เช่นนี้ จะมีต่อเนื่องไปยาวนาน ด้วยข่าวในพระราชสำนัก ข่าวในหลวงองค์ใหม่ และอีกหลายเรื่องราวประวัติศาสตร์ยุคเปลี่ยนผ่านรัชกาล
           
ไม่เพียงหนังสือพิมพ์ในเมืองใหญ่  หนังสือพิมพ์บ้านนอก อย่าง ลานนาโพสต์ที่ออกแบบหน้าตาไม่แตกต่างไปจากหนังสือพิมพ์ฉบับหลัก นำเสนอข่าวและภาพในหลวง ในบริบทของจังหวัดลำปาง ในเวลาเดียวกับหนังสือส่วนกลาง ก็ขายหมดแผงในเวลาอันรวดเร็วด้วย
           
ยังไม่อาจเป็นทฤษฏีที่อธิบายปรากฏการณ์ความสำเร็จของสื่อหนังสือพิมพ์ ที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการทั้งหลาย ทำนายว่าไม่มีอนาคตแล้ว แต่คงบอกได้เพียง ความเชื่อถือ และความวางใจของผู้คนยังคงอยู่ที่สื่อหนังสือพิมพ์ และบอกได้ว่าภาพและข่าวประวัติศาสตร์แห่งความสูญเสียของคนไทยทั้งแผ่นดิน ที่พิมพ์ลงไปบนกระดาษนั้น ยังขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์แห่งชีวิตของทุกคนตลอดไป อย่างไม่มีวันลบเลือน
           
ในความคุ้นเคย และความเชื่อถือที่มีต่อสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์แม้สังคมจะตอบรับ การมาถึงของสื่อสังคมออนไลน์ด้วยความยินดีก่อนหน้านี้  เนื่องเพราะบทบาทในการเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลัง และการเข้าถึงของคนทุกชนชั้น พังทลาย “อำนาจการสื่อสาร” ที่เคยอยู่ในความยึดครองของสื่อวิชาชีพมานาน และแม้จะมีข้อสังเกตุถึงด้านร้ายของสื่อออนไลน์ ที่กลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ และทุจริตชน  แต่ครั้งนี้ด้านร้ายของสื่อออนไลน์ได้ปรากฏตัวชัดเจนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบทบาทของการผลิต ประทุษวาจา หรือ Hate Speech ในบรรยากาศที่คนไทยทั้งชาติอยู่ในภาวะโศกเศร้าครั้งใหญ่
           
หากเป็นสื่ออาชีพเขาต้องตระหนักว่า พื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่พื้นที่ส่วนบุคคล ภาพ เสียง ข้อความที่ปรากฏจะถูกบันทึกไว้ และมีผลในทางกฎหมาย
           
และเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องยึดถือข้อเท็จจริง มีความถูกต้อง แม่นยำ ครบถ้วนและรอบด้าน  สำคัญที่สุดคือต้องหลีกเลี่ยงการสร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชัง ยั่วยุ ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง ดังนั้น ไม่ว่าพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรียุติธรรม จะเห็นว่า  มาตรการทางกฎหมายยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้มาตรการทางสังคม กับคนบางกลุ่มหรือไม่ เขาก็จะไม่แตกต่างไปจากอุทาร สนิทวงศ์ นายสถานียานเกราะ ที่ยั่วยุให้คนไทยฆ่ากันเอง โดยการสร้างวาทกรรม “ผู้ก่อความไม่สงบ” ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม
           
บ้านเมืองมีขื่อ มีแป มีกฎหมายไว้จัดการผู้ละเมิดกฎหมาย หาใช่บ้านป่า เมืองเถื่อน ที่คนจะลุกฆ่าฟันกันเอง ทำร้าย ทำทารุณกรรมกันเองได้ไม่ การทบทวนบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ การเรียนรู้เท่าทัน และแยกแยะได้ระหว่าง “จริง”และ “เท็จ” อาจเป็นเรื่องจำเป็นในสถานการณ์แห่งความวุ่นวายสับสน การประกอบสร้างความเลวร้ายให้กับเพื่อนร่วมชาติ ด้วยสีเสื้อ ด้วยถ้อยคำ ด้วยกริยาท่าที จนสร้าง “ความโกรธแค้นรวมหมู่” สร้างขบวนการล่าแม่มดเต็มบ้าน เต็มเมือง นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์
           
เมื่อถึงวันที่สื่อสังคมออนไลน์ ได้เปิดเผยตัวตนด้านร้ายของมัน โดยเฉพาะการเป็นโรงงานผลิตวาทกรรมแห่งความคลั่งแค้น คนก็เริ่มหวลคิดถึงสื่อที่เชื่อถือ วางใจได้  มีหลักการ มีความรับผิดชอบ  นั่นคือสื่อหนังสือพิมพ์ แม้จะไม่รวดเร็ว ฉับไว แต่นี่คือสื่อที่ยั่งยืน และเป็นหลังอิงที่วางใจได้ตลอดไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1101 วันที่  21 -  27 ตุลาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์