วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

คสช.ยึดคืนผืนป่า สะดุดซังข้าวโพด!

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ที่ดูแข็งขัน เอาจริงเอาจัง อาจเป็นงานที่ทำให้ “ขาลง” ของรัฐบาล คสช.ยังพอมีความชอบธรรมหลงเหลืออยู่ เมื่อเทียบกับรัฐบาลพลเรือน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสงสัยของชาวบ้าน ก็คือ ในขณะที่เด็ดขาด ชัดเจน สำหรับผู้บุกรุกทำลายป่ารายอื่นๆ แต่ไร่ข้าวโพดที่เป็นต้นตอสำคัญของหมอกควัน ดูคล้ายไม่ได้อยู่ในเป้าหมายในการโค่นล้ม และยึดคืนเลย
           
หรืออาจเป็นเพียงภาพมายา ?
           
ภารกิจทวงคืนผืนป่า เริ่มตั้งแต่มีการยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ว่าด้วยเรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน
           
นับจากวันที่ คสช. เข้ามาและประกาศเอาจริงเอาจังกับขบวนการมอดไม้ที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และตั้งเป้าหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า จะเห็นข่าวการจับกุมผู้กระทำผิดได้บ่อย เฉพาะในพื้นที่ลำปางมีทั้งที่ออกข่าวและไม่เป็นข่าวทุกสัปดาห์

จังหวัดลำปางมีเรื่องร้องเรียนกับการบุกรุกป่าจำนวนมาก เนื่องจากจังหวัดลำปางมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 33 แห่ง  มีอุทยานแห่งชาติ 8 แห่ง มีพื้นที่ป่า 5,976,037.50 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 76.29 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด (ข้อมูลกรมป่าไม้ปี 2551) จัดเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย รองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก

ข้อมูลจากกรมป่าไม้ ปี 2556 จังหวัดลำปางมีพื้นที่ป่า 5,526,700.36 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 70.81 ซึ่งหากเทียบกับพื้นที่ป่าที่เรามีในปี 2551 เห็นได้ว่าในระยะเวลาเพียง 5 ปี พื้นที่ป่าของลำปางหายไปถึงร้อยละ 5.5 คิดเป็นพื้นที่ป่าราว 4แสน 5หมื่นไร่โดยประมาณ

นั่นหมายความว่า หากนำภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยของปีเก่าและปีใหม่มาเปรียบเทียบกัน ก็จะสามารถหาพื้นที่ที่ป่าถูกบุกรุกไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าเป็นการทำมาหากิน หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถเข้าไปจัดการดูแลได้

ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างโยนภาระ แล้วอ้างว่า ไม่มีคนร้องเรียน เมื่อไม่มีคนร้องเรียนก็ไม่สามารถดำเนินการได้!!!

ป่าไม้เป็น สมบัติของชาติ นั่นเป็นหน้าที่ของ ข้าราชการ ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้าของแผ่นดินดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้คนบางกลุ่มมาปล้นทรัพย์ของแผ่นดินไปต่อหน้าต่อตา

สาเหตุของการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่ารู้กันอยู่เต็มอกว่า มาจากกลุ่มนายทุน หรือ ผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์จากป่าไม้และที่ดินเข้ามาว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่ไปตัดไม้ในป่า รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อครอบครองที่ดินและที่อยู่อาศัยของราษฎร รวมถึงการขยายพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกการเกษตร

ในเวลาเพียง 5 ปี ป่าไม้เรา ถูกปล้นไปต่อหน้าต่อตา แปรสภาพเป็นเงินเข้ากระเป๋าคนมีสีไปก็ไม่น้อย

พื้นที่ล่อแหลมและน่าเป็นห่วงในจังหวัดลำปาง ไม่ว่าจะเป็น อำเภอวังเหนือ แจ้ห่ม เมืองปาน เถิน และงาว หากไม่ดำเนินการอย่างจริงจังพื้นที่ป่าในจังหวัดลำปางก็จะหมดไปในไม่ช้า

การรุกคืบของ คสช.ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2558 ที่บอกว่าเป็นวันดีเดย์ในภารกิจ ทวงคืนผืนป่าของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พุ่งเป้า สวนยางพาราที่รุกป่าเป็นอันดับแรก โดยตั้งเป้ายึดคืน 6 แสนไร่ ในปี 2558 และอีก 9 แสนไร่ ในปี 2559 จะเป็นวิมานในอากาศหรือไม่

และหลังจากที่ดีเดย์ภารกิจทวงคืนผืนป่า ก็มีปรากฏการณ์ ชาวอีสาน 12 จังหวัด ร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล หลังได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า  ถูกไล่ออกจากพื้นที่ทำกิน-อยู่มาแต่อดีต ทั้งที่มีฐานะยากจนแต่กลับถูกนิยามว่าเป็น นายทุนบุกรุกพื้นที่

กรณีจังหวัดสกลนคร ที่ประกาศสนองรับนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยยุทธการขอคืนผืนป่าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จังหวัดสกลนคร เนื้อที่กว่า 15,700 ไร่  ระบุว่ายุทธการครั้งนี้จะไม่เน้นการทวงคืนผืนป่าจากผู้ยากจน แต่จะเน้นการทวงคืนผืนป่าจากนายทุน ทว่า ปฏิบัติการดังกล่าวกลับไม่เปิดเผยว่ามีผู้ใดบ้างที่ถูกระบุว่าเป็นนายทุน ในขณะที่ชาวบ้านยังคงถูกไล่ออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

คสช. ประกาศกร้าวเอาจริงกับผู้ที่บุกรุกป่า ตัดไม้ทำลายป่า ประกาศนโยบายจัดการกับนายทุนอย่างจริงจัง มาวันนี้เริ่มชักไม่แน่ใจว่าความตั้งใจนั้นจะยังคงมีอยู่หรือไม่ เพราะดูเหมือนฝ่ายที่เอาจริงมีน้อยกว่าฝ่ายที่ สร้างภาพยึดคืนผืนป่าล้มต้นยางพาราทั่วประเทศ แต่กลับปล่อยให้ พวกบุกรุกป่าปลูกข้าวโพดลอยนวล

บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่ามันมี เบื้องหลังอะไรที่ทำให้ข้าวโพดได้รับสิทธิพิเศษในการบุกรุกป่า

หมายเหตุ สภาพพื้นที่ป่า ปี พ.ศ.2556 ได้มาจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชตบันทึกภาพระหว่างปี 2555-2556 จำนวน 124 ภาพ ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทย 304,267,992.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 94.05 ของพื้นที่ ประเทศ และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat8 บันทึกภาพ ปี 2556 ครอบคลุมพื้นที่ 19,250,868.81 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.95

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1099 วันที่  7 -  13 ตุลาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์