วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

จากพู่กันสู่งานปั้น วุฒิชัยเซรามิคส์

จำนวนผู้เข้าชม webs counters

ไม่ว่าการแข่งขันทางธุรกิจ หรือ ภาวะเศรษฐกิจจะเหวี่ยงไหวไปทิศทางใด การยืนหยัดของสินค้าใดๆในตลาดให้มั่นคงแข็งแรงก็ไม่ง่ายนักหากไม่มีเอกลักษณ์ และแก่นแท้ของสินค้ามากพอ ศิลปะลายไทยบนชิ้นงานเซรามิคเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (Tableware) และของที่ระลึกเป็นเซรามิคลายไทย สีโทนเย็น แลดูมีคุณค่าในความเรียบง่ายของการให้สี ในแบบฉบับของวุฒิชัยเซรามิคส์ เป็นพลังดึงดูดให้ผู้ที่ชื่นชอบในศิลปะไทยต้องหยุดชมและจ่ายเงินแลกกับความเป็นเจ้าของงานชิ้นนั้นอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องอธิบายอะไร นั่นคือ เอกลักษณ์และตัวตนของสินค้าที่มีจุดยืนชัดเจน
           
วุฒิชัย พลายด้วง วัย53 ปี เจ้าของแบรนด์ และผู้ก่อตั้งโรงงานวุฒิชัยเซรามิคส์ เล่าว่า โดยพื้นเพแล้วเขาเป็นชาวนครศรีธรรมราช เข้าไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ วิทยาลัยเพาะช่าง (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) สาขาจิตรกรรม แต่เส้นทางชีวิตกว่าครึ่งชีวิตเขาคร่ำหวอดอยู่ในวงการอุตสาหกรรมเซรามิค จากโอกาสที่อาจารย์ส่งไปทำงานเป็นช่างเขียนและออกแบบลายในโรงงานอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิคที่กรุงเทพฯ สระบุรี  และเปลี่ยนแปลงตามภาวะโอกาสของหน้าที่การงานจากช่างเขียนลาย ขยับทักษะเป็นช่างทำแม่พิมพ์ จนเป็นผู้จัดการโรงงานหลายแห่งในภาคกลาง กระทั่งย้ายมาบริหารโรงงานอุตสาหกรรมเซรามิคหลายแห่งในลำปาง
           
เขาเริ่มต้นจากการใช้ทักษะงานจิตรกรรมเขียนภาพมาใช้ในงานเซรามิค และการอยู่ในโรงงานเซรามิคทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้ทุกส่วนงานในระบบอุตสาหกรรมการผลิต  ตั้งแต่วัตถุดิบ ไปจนถึงเทคโนโลยีเครื่องจักรที่เหมาะสม แต่ต้นทุนเดิมที่มีอยู่ คือความรู้และฝีมือทางศิลปะ เมื่อถึงจุดหนึ่งหลังจากทำงานให้กับโรงงานรายได้ก็จัดว่าสูงมาก แต่ชีวิตเขาต้องทุ่มเทให้กับงานและสังคม มากกว่าครอบครัว ประกอบกับความสนใจศึกษาหาคำตอบของชีวิตจากธรรมะเขาก็ค้นพบว่า เงินก็อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่แสดงถึงคุณค่าชีวิต  เขาจึงหันมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองโดยตั้งโรงงานรับจ้างผลิตแม่พิมพ์เล็กๆ ในที่ดินบ้านของเขาเอง ที่ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ (ซึ่งเป็นโรงงานปัจจุบัน) และยังรับงานออกแบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบในผลงานของเขาเรื่อยมาประมาณ 8 ปี (2540-2548) ก่อนตัดสินใจเปิดโรงงานเซรามิกเป็นของตัวเองเต็มตัว
           
“วุฒิชัยเซรามิคส์เป็นชื่อที่ครูผมตั้งให้ เพื่อเป็นแบรนด์ที่บ่งชี้ชัดว่าสินค้านี้เป็นผลงานของ"วุฒิชัย" ก่อนหน้าที่ผมจะเปิดโรงงานเซรามิคก็มีทั้งคนเชียร์ และคนที่เป็นห่วงว่าเราจะทำสินค้าแนวไหน กลัวว่าเราจะไปก๊อปปี้โรงงานที่เราเคยออกแบบให้เขาหรือลูกค้าเขา แต่ด้วยทักษะและความสามารถด้านศิลปะไทยเป็นรากเหง้า บวกกับมีประสบการณ์ด้านเทคนิคการผลิต และที่สำคัญผมมีเป้าหมายชัดเจน มีอุดมการณ์  ผมจึงออกแบบงานให้แสดงเอกลักษณ์และตัวตนของผมมากที่สุด ด้วยการใช้ศิลปะไทยมาประยุกต์ใช้ เป็นลวดลายนูนต่ำลงบนชิ้นงานอย่างประณีต ขณะเดียวกันก็ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้สามารถผลิตชิ้นงานจำนวนมากได้ในคุณภาพสูง”
           
เทคนิคการแกะแม่พิมพ์เป็นลายไทย กลายเป็นเอกลักษณ์ของ "วุฒิชัยเซรามิคส์" โดยก้าวแรกเขา ส่งผลิตภัณฑ์ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลดีเด่นในงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ส่งผลให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าในหมู่คนที่ชื่นชอบในงานศิลปะไทย
           
"สินค้าของเรามีทั้งของใช้บนโต๊ะอาหาร ไปจนถึงของที่ระลึกซึ่งกลุ่มเป้าหมายของตลาดคือ ซื้อเพื่อเป็นของขวัญ ของที่ระลึก และเป็นของใช้ในร้านอาหารโรงแรม รีสอร์ทที่เขาบริการลูกค้าระดับกลางถึงระดับบน ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดผมให้ความสำคัญกับแม่พิมพ์ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายไทย ดอกบัว และลายไทยล้านนา ผสานกับเทคนิคสูตรดินและการเผาเคลือบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผมก็ได้เทคนิคเหล่านี้มาจากโรงงานรุ่นพี่ที่เขาทำงานด้านศิลปะการเคลือบ งานของผมยิ่งเสียยิ่งได้ นั่นคือไม่มีคำว่าเสีย เพราะงานที่ผมคิดว่าเผาแล้วผิดปกติ กลับมีลูกค้าชอบเนื่องจากเป็นชิ้นงานสวยไปอีกแบบ ส่วนเรื่องราคานั้น แน่นอนว่า มูลค่าสินค้าของผม 1 เตา เมื่อเทียบปริมาณเท่ากันกับโรงงานขนาดเท่ากัน มากกว่าเกือบ 10 เท่าตัว ซึ่งมันคือการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือคุณค่าทางใจ ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อจากชอบ หรือความพึงพอใจเป็นเหตุผลหลัก" นี่คือความชัดเจนในจุดยืนด้านการตลาดของสินค้า จากวุฒิชัยเซรามิคส์
           
เมื่อเอางานศิลปะมาบวกกับอุตสาหกรรม มีการถ่ายทอดแนวคิดและการทำงานสู่คนในกระบวนการผลิตอย่างไร วุฒิชัย ตอบหนักแน่นว่า ความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจในสินค้าเป็นตัวนำทางความคิดและการทำงานให้มีคุณภาพทุกขั้นตอน เพราะโรงงานแห่งนี้ อาศัยเครื่องจักรช่วยในการผลิตรูปทรงที่ได้มาตรฐาน และมีกำลังคนเป็นตัวเสริมในขั้นตอนที่ต้องเก็บรายละเอียดของชิ้นงานซึ่งเขาเป็นผู้ถ่ายทอดและดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันเขายังใช้หลักการมีส่วนร่วมของการเป็นเจ้าของร่วมกันของสมาชิกในโรงงาน โดยการประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นประจำทุกวันก่อนเริ่มงาน ทุกคนมีส่วนช่วยดูแลรักษาเครื่องมือ และทำความสะอาดก่อนกลับบ้าน เสมือนเป็นโรงงานของตัวเอง
           
"ในเรื่องการบริหารการผลิตเราเป็นโรงงานขนาดเล็กแบบครอบครัว  ทุกคนในครอบครัวเราทำงานร่วมกันกับลูกจ้างไม่เกิน 10 คน  มีเตาเผา 4 เตา ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ที่นี่ก็จะมียอดขายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4 แสนบาท  เพื่อรักษาคุณภาพการผลิตตามกำลังคนที่เรามี และการบริหารทุน เพราะทำมากก็ต้องเหนื่อยมาก ลงทุนมากขึ้น มีปัญหาเรื่องแรงงานและการควบคุมคุณภาพ กำไรก็ไม่ได้เพิ่มมากกว่าเดิมนัก ในส่วนของการขาย ผมก็ขายส่งให้กับลูกค้าในราคาที่เขาทำกำไรได้เท่าตัว วิน วิน เราอยู่ได้เขาอยู่ดี ก็ค้าขายกันได้นาน หลักของผมคือไม่รับออเดอร์มากเกินกำลัง "ไม่รับจ้างผลิตสนองความโลภ "
           
นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่เข้ามาซื้อปลีกโดยตรงที่โรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบและติดตามผลงานออกแบบของที่ระลึก ประเภทงานปั้นองค์เทพต่างๆ ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่ศึกษาแก่นของธรรมมะ ผมจึงขายศิลปะ แต่ไม่อาศัยความเชื่อหรืออภินิหารความงมงาย  แต่ผมและทุกคนที่นี่มีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนคุณแผ่นดินให้คนไทยและคนต่างประเทศรู้จักศิลปะไทยผ่านผลิตภัณฑ์ของเรา
           
และนี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ แบรนด์ วุฒิชัยเซรามิคส์ ที่สร้างความศรัทธาในตัวสินค้ามาจากฐานวิธีคิดที่ตรงไปตรงมาแต่ลึกซึ้ง ที่วุฒิชัยกำลังปูรากฐานส่งต่องานถึงลูกสาวทั้ง 2 คน รับช่วงต่อเป็นทายาทรุ่นถัดไป สานต่อตำนาน "วุฒิชัยเซรามิคส์" ให้ระบือไปอีกนาน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1098 วันที่  30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์