วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

บ้านหลุยส์ อบร่ำงำอดีต

จำนวนผู้เข้าชม website counter

บ้านหลุยส์แม้เก่าแก่ร่วม 100 ปี และถูกทิ้งร้าง แต่ก็ยังคงเค้าความงามไม่เสื่อมคลาย นี่คือบ้านของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ บุตรชายของแอนนา แฮเรียตเลียวโนเวนส์ ครูชาวอังกฤษในราชสำนักสยาม และได้กลายมาเป็นตัวละครเอกแสนโด่งดังในละครเพลงเรื่อง The King and Iซึ่งก็สร้างจากหนังสือนวนิยายชื่อ Anna and The King of Siam (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1944) ภายหลังก็ยังมีภาพยนตร์เรื่อง Anna and The King ซึ่งนำแสดงโดยโจว เหวินฟะและโจดี ฟอสเตอร์ โดยทั้งสองเรื่องถูกแบนในไทย กลายเป็นภาพยนตร์ต้องห้ามที่ถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน
           
แหม่มแอนนา ม่ายสาวชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1831-1915  พร้อมลูกชาย คือ เด็กชายหลุยส์ วัย 7 ปีเดินทางเข้ามาอยู่ในสยามเมื่อปี พ.ศ. 2405 ในฐานะครูสอนหนังสือในราชสำนัก รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ช่วงนั้นสยามกำลังถูกกดดันจากประเทศตะวันตกให้เปิดประเทศ จึงต้องมีการให้การศึกษาสมัยใหม่แก่พระราชโอรสและพระราชธิดา หนึ่งในนั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังทรงพระเยาว์รุ่นราวคราวเดียวกับเด็กชายหลุยส์ ซึ่งก็มีโอกาสได้เรียนหนังสือและวิ่งเล่นอยู่ในพระราชวังด้วยกัน

หลังเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศในยุโรป หลุยส์กลับมาแผ่นดินสยามอีกครั้งในวัย 27 ปี ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และอาศัยสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับราชสำนักจนได้เป็นผู้ดูแลการบุกเบิกกิจการป่าไม้สักในภาคเหนือ ขณะอายุ 29 ปี เขาไปอยู่ที่เมืองระแหง (ตาก) จากตาก มาเชียงใหม่ และในที่สุดก็มาอยู่ลำปางในปี พ.ศ. 2445 ช่วงเวลานั้นพวกฝรั่งต่างก็ได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นชนชั้นพิเศษที่มีสายสัมพันธ์ทั้งกับราชสำนักสยามและเจ้าผู้ครองนครแห่งล้านนา ก่อนจะก่อตั้งบริษัทหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ของตนเองในปี พ.ศ. 2448  ซึ่งนอกจากกิจการเกี่ยวกับไม้สักแล้ว บริษัทหลุยส์ฯ ก็ยังทำธุรกิจอื่นไปด้วย เช่น เป็นตัวแทนจำหน่ายปูนซีเมนต์ แชมเปญ วิสกี เครื่องพิมพ์ดีดและผลิตภัณฑ์วิศวกรรม รวมถึงตัวแทนของบริษัทประกันภัยหลายแห่ง

หลุยส์จึงเป็นฝรั่งทำไม้เมืองลำปางยุคแรก ๆ ชีวิตของพ่อเลี้ยงฝรั่งทำไม้นั้น โชกโชนมาก หัวหกก้นขวิดร่วมกับเพื่อนฝรั่งทำไม้อีกคนที่เชียงใหม่ เรื่องราวของหลุยส์ถูกรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือ หรือแม้แต่คนเชียงใหม่ก็ยังนำบางแง่มุมของฝรั่งทำไม้ 2 คนนี้ มาขับเป็นจ๊อยซอเพลงพื้นเมืองกันสนุก

กล่าวกันว่า ภรรยาคนแรกของหลุยส์เสียชีวิต ส่วนภรรยาคนที่สองชื่อเรต้า เธอหลงใหลบรรยากาศเมืองลำปางอย่างมาก บ้านหลุยส์มีคนรับใช้ 2 คน ซึ่งเจ้านายเชียงใหม่ส่งมาให้เป็นของขวัญ ?!

ในปี พ.ศ. 2462 หลุยส์เสียชีวิตที่อังกฤษในช่วงที่โรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาด บริษัทของเขาได้รวมกิจการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท Getz

ส่วนบ้านพักของเขาที่อยู่ตรงหน้าเราขณะนี้ คาดว่าน่าจะสร้างถัดจากปี พ.ศ. 2448 ไม่นาน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2482 เมื่อกรมป่าไม้รับมอบโอนกิจการทำไม้ของบริษัทบริติช บอร์เนียว จำกัด และบริษัทแอล. ที. เลียวโนเวนส์ จำกัด มาเป็นสมบัติของรัฐนั้น บ้านหลังนี้ก็มีอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 77 ปีปัจจุบันอยู่ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน

บ้านหลุยส์เป็นเรือนปั้นหยายื่นมุขแปดเหลี่ยมครึ่งปูนครึ่งไม้ จากภายนอกดูขรึมขลัง ใหญ่โต หรูหรา แม้ยามนี้โล่งไร้ซึ่งชีวิตชีวา แต่ความงามของแผ่นไม้แกะสลักเหนือบานประตูก็ยังมองเพลินจนลืมความวังเวงภายในบ้านไปได้ ชั้นล่างของบ้านเป็นปูนก่ออย่างหนา จึงน่าจะช่วยกันความร้อนและความหนาวของเมืองลำปางในอดีตได้อย่างดี ขึ้นบันไดไปชั้นบนมีทางเดินเลียบด้านข้าง ชั้นบนเป็นงานไม้ล้วน ๆ ทางเดินแคบ ๆ นั้นนำผ่านห้องทั้งสามไปสู่บริเวณโถง ซึ่งเป็นมุขแปดเหลี่ยมที่ยื่นออกไปทางด้านหน้านั่นเอง ช่องเปิดและช่องระบายอากาศเป็นบานเกล็ดไม้ทั้งหมดบนเพดานเล่นลวดลายแผ่นไม้เรียงเป็นแปดเหลี่ยมแปลกตา

ในอดีต ผู้เป็นเจ้าของคงมีความสุขในบ้านหลังนี้ บนผนังคงประดับด้วยกรอบรูปมากมาย บนโต๊ะวางแจกันปักดอกไม้รื่นรมย์ จิบชายามบ่าย มื้อค่ำที่เลิศหรู เสียงพูดคุยหัวเราะไม่เคยจางหาย กระทั่งถึงวันที่มันถูกทิ้งร้าง เพราะเจ้าของไม่มีวันได้กลับมา

ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ บ้านหลุยส์ยังคงยืนหยัดอย่างท้าทายแดดฝนและยังยึดโยงอยู่กับเรื่องราวในอดีตให้สืบค้นไปได้หลายแง่มุม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มาถึงยุครุ่งเรืองของการทำไม้เมืองลำปาง ชีวิตนายห้างฝรั่งที่หรูหรา แน่นอน มีหลายคนแอบหวังว่าสักวันบ้านหลุยส์จะได้รับการบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในย่านท่ามะโอที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา น่าแวะชม มากกว่าจะปล่อยทิ้งให้ผุพังล่มสลายไปกับกาลเวลา

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1099 วันที่  7 -  13 ตุลาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์