วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สื่อสองบทบาท ในสถานการณ์อ่อนไหว

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ารขู่คาร์บอมบ์กรุงเทพ และกระแสข่าวสำคัญที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วในสื่อสังคมออนไลน์ ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสื่อมวลชน ในเชิงวิชาการ ข่าวทั้งสองเรื่อง มีคุณค่าข่าวแน่นอน แต่ก็มีประเด็นละเอียดอ่อนที่สื่อต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักว่า ควรนำเสนอหรือไม่ อย่างไร
           
เป็นเหตุการณ์และบทเรียน สำหรับการทำข่าวของสื่อในสถานการณ์อ่อนไหว ที่ยังต้องการความเข้าใจในหลักการ และการเข้าถึงความรู้สึกหวั่นไหวของผู้คน  ในฐานะที่เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อเช่นเดียวกัน มิใช่ในฐานะสื่อที่ต้องการเพียงขายข่าวและภาพ
           
เหตุร้าย หรือกระแสข่าวลือที่เกิดขึ้นนั้น มีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง ที่การทำหน้าที่ของสื่ออาจทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย หรือช่วยให้สติแก่สังคม โดยไม่กระพือข่าวร้าย ข่าวลวงนี้ให้เกิดภาวะวุ่นวาย สับสนมากขึ้น
           
เพราะด้านหนึ่งสื่อต้องทำหน้าที่ในทางวิชาชีพ คือการรายงานข่าว แต่ในอีกด้านหนึ่งสื่อก็คือคนไทยคนหนึ่งที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมนี้ เช่นเดียวกับคนทั่วไป
           
การทำซ้ำซึ่งภาพและข่าว คือการซ้ำเติมเหตุการณ์ เช่นเดียวกับการยกระดับการสร้างความรุนแรง เป็นการก่อการร้าย ย่อมกลายเป็นเครื่องมือของผู้กระทำให้ฮึกเหิม สำคัญผิด และพยายามขยายความรุนแรงให้มากขึ้น
           
หน้าที่และบทบาทของสื่อในยามนี้ คือการรายงานข่าวและภาพ ตามข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน โดยไม่ด่วนสรุปว่าเป็นฝ่ายไหน หรือใครเป็นผู้บงการ อีกทั้งย้ำเตือนมิให้สังคมตื่นกลัว จนเกินเหตุ เพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้ลงมือกระทำความรุนแรงต้องการ หรือมิฉะนั้นก็ยกเว้นการนำเสนอไปเลย จนกว่าจะปรากฏความจริงอย่างเป็นทางการ
           
สติของสังคม และการทำหน้าที่อย่างระมัดระวังของสื่อ จะช่วยให้เราผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้
           
ความจริงเราเคยมีบทเรียน ปรากฏการณ์ระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์เมื่อปีก่อน เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับการรายงานข่าวในสถานการณ์รุนแรง ที่ต้องยอมรับว่า ผู้ก่อเหตุเลือกใช้บริเวณที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญและการท่องเที่ยวของประเทศ เช่นเดียวกับเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม
           
การขยายผลด้วยภาพและข่าวเหตุการณ์ของสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างครึกโครม ก็เท่ากับช่วยกระพือข่าวให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีความมั่นคง ปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางยิ่ง
           
จะคาดเดาได้ว่า ผลต่อเนื่องจะเป็นอย่างไร แต่ด้วยคุณค่าข่าว และบทบาทหน้าที่ นายประตูข่าวสารก็ย่อมปฏิเสธในการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน รอบด้านไม่ได้
           
แต่ประเด็นสำคัญคือสื่อได้เสนอข่าวและภาพโศกนาฏกรรมกลางกรุงครั้งนั้นอย่างไร โดยไม่บกพร่องในหน้าที่ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบในฐานะคนไทยคนหนึ่งด้วย
           
บทเรียนความรับผิดชอบข้อแรก ก็คือ ต้องแยกบทบาทความเป็นคนข่าว และอคติส่วนตัวออกจากกัน เช่น นักข่าวมีความโน้มเอียงหรือมีทัศนคติทางการเมืองไปในทางหนึ่งทางใด หรือมีความเชื่อสำเร็จรูปเหมือนกับกลุ่มสุดโต่งฝ่ายหนึ่งที่ว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้นที่ใด จะต้องเป็นฝีมือของผู้สูญเสียอำนาจคนนั้น
ซึ่งเราไม่อาจจะใช้อคติส่วนตัว บนพื้นที่สาธารณะ
           
ประการต่อมา การเสนอข่าวและภาพผู้สูญเสีย ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นคนชาติภาษาไหน
           
และต้องไม่ซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมความยากลำบาก ความทุกข์ทรมาน ด้วยการนำเสนอภาพศพญาติของเขาในสภาพอเนจอนาถ หรือนำเสนอภาพศพซ้ำๆ ในสื่อโทรทัศน์
           
นอกจากนั้น ควรตรวจสอบที่มาหรือแหล่งข่าวให้ชัดเจน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี ในการขยายความขัดแย้งด้วยข่าวลวงต่างๆผ่านสื่อสังคมออนไลน์
           
สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และการสื่อสารในกรอบจริยธรรม คือผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค แพร่และแชร์ภาพผู้เสียชีวิต หรือการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง เช่น การด่า บริภาษ ด้วยภาษาหยาบคาย รุนแรง กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
           
เส้นแบ่งระหว่างสื่ออาชีพ กับผู้ที่เป็นเพียงผู้ใช้สื่อ อาจแยกแบ่งได้ชัดเจน จากปรากฏการณ์ครั้งนั้น และควรจะได้นิยามความเป็นสื่อแต่ละประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันสื่อ และเป็นหลักให้เขาจำแนกได้ว่าจะให้ความเชื่อถือสื่อแต่ละประเภทอย่างไร
           
นอกจากสื่อสังคมออนไลน์แล้ว สื่อต่างประเทศ อาจมีบางบทความ หรือมีบทวิเคราะห์ที่พยายามเชื่อมโยงกับหลายๆเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง สื่อไทยต้องระมัดระวังไม่ให้ เป็นเครื่องมือขยายความ ที่จะสร้างปัญหาความขัดแย้งในหมู่คนไทยให้มากขึ้น
           
ทั้งหมดเป็นโศกนาฏกรรมของสังคมไทย ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของสื่อจะต้องรายงานข่าวตามปกติ อย่างครบถ้วน รอบด้าน
           
แต่ขณะเดียวกันสื่อก็ต้องใช้ความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีความเข้าใจในบทบาทของสื่อที่ต้องรักชาติบ้านเมืองเหมือนกับคนอื่นๆด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1100  วันที่  14 -  20 ตุลาคม 2559)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์