วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

'อ่างแม่ตีบ' 5 ปีเสร็จ ชาวบ้านถวายฎีกา

จำนวนผู้เข้าชม website counter

ชลประทานจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เตรียมแผนสร้าง อ่างเก็บน้ำแม่ตีบหลังชาวบ้านยื่นถวายฎีกาเมื่อปี 2534  ส่งเรื่องให้ สผ.เห็นชอบ และเตรียมเริ่มสร้างในปี 2561 ใช้เวลา 5 ปีเสร็จ

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ที่ห้องประชุม 5 ทศวรรษ โรงเรียนประชารัฐธรรมคุณ อ.งาว จ.ลำปาง นายชัยพฤกษ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภองาว ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเวทีสาธารณะและการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งมีประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จำนวนกว่า 100 คนได้มาเข้าร่วมประชุม โดย นายพรชัย แสงอังศุมาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประธาน ได้กล่าวว่าตามที่ราษฎรได้มีหนังสือถึงราชการเลขาธิการ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ทางราชการพิจารณาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังแดง (แม่ตีบ) และรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. 2534 นั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตีบมาอย่างต่อเนื่อง แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่สามารถก่อสร้างโครงการได้ เพราะพื้นที่อ่างเก็บน้ำและหัวงานอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่งาวฝั่งขวา บริเวณที่เรียกว่า ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมกรมชลประทานได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือที่เรียกว่า รายงาน IEE ประกอบการพิจารณาด้วย

แต่ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2554 มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในบริเวณป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม ทำให้รายงาน IEE ที่เคยทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ไม่สามารถใช้ได้ เพราะโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตีบมีพื้นที่อยู่ในป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมถึง 3,500 ไร่ จัดอยู่ในประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตีบจึงต้องชะลอไว้  จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2558 กรมชลประทานได้รับการอนุมัติงบประมาณปี พ.ศ. 2558 (งบเงินกู้) เพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งและคุณภาพน้ำของประเทศ โดยเน้นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วน รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในพื้นทีสำคัญ โดยมีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตีบเป็นหนึ่งโครงการดังกล่าวด้วย

สำหรับอ่างเก็บน้ำแม่ตีบทางกรมชลประทานจึงได้ให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท สยาม-เทค กรุ๊ป จำกัด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ จังหวัดลำปาง ระยะเวลาการศึกษา 420 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา โดยในกระบวนการศึกษาได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการศึกษาได้จัดให้มี  การปฐมนิเทศโครงการไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ และแนวทางการศึกษาในการศึกษา ให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชนได้รับทราบ และ การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการแนวทางการศึกษาให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้รับทราบ และ การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษา ณ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านงิ้วงาม

อย่างไรก็ตาม ในการจัดประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ผลการกระทบสิ่งแวดล้อมว่า หากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตีบแล้วราษฎรจะได้รับ ผลประโยชน์จากโครงการอย่าไรบ้า จะเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรด้านใดบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือมีแนวทาง หรือมาตรการในการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร ให้ประชาชนที่อยู่ในห้องประชุมแห่งนี้ได้รับทราบ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ได้เสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาดังกล่าว โดยได้เชิญผู้ที่มีส่วนร่วมได้เสีย ทุกภาคส่วน อาทิ ราษฎรที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการ รวมทั้งราษฎรที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานราชการระดับต่างๆ สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สื่อมวลชนท้องถิ่น และประชาชนผู้สนใจโครงการ หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
           
โดยหลังจากการประชุมครั้งนี้ กรมชลประทานจะได้มอบหมายให้ที่ปรึกษานำคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากการประชุมไปปรับปรุงในรายงาน EIA ให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง และในขั้นตอนต่อไป ก็จะได้นำรายงานดังกล่าวนี้ส่งไปยังสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. พิจารณาให้ความเห็นต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2561 และใช้เวลาประมาณ 5 ปีจึงจะแล้วเสร็จดังกล่าว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1103 วันที่  4 - 10 พฤศจิกายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์