วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

คนเกาะคากับในหลวง รัชกาลที่ 9 และโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในไทย


จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

ป็นบุญยิ่งแล้ว สำหรับคนลำปาง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงเสด็จก้าวพระบาท บนผืนดินลำปางถึง 21 ครั้งมากกว่าหลายๆจังหวัด ในจำนวน 21 ครั้งนั้น พระองค์เสด็จ ณ อำเภอเมือง 5 ครั้ง งาว 2 ครั้ง  แม่ทะ 1 ครั้ง แจ้ห่ม 3 ครั้ง และเกาะคา 3 ครั้ง      
           
ในแต่ละครั้งมีพระราชภารกิจแตกต่างกันไป สมควรบันทึกไว้ในทุกเรื่องราว เรื่องหนึ่งซึ่งนับเป็นความทรงจำที่ยากจะลบเลือน คือ คราวเสด็จเกาะคาครั้งหนึ่ง ทรงพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรงานของโรงงานน้ำตาลเกาะคา ซึ่งนับเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของประเทศไทย
           
รัตติพร มณียศ นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง  ได้รวบรวมข้อมูลจาก จำเนียร ไชยวงสา. 2557. สัมภาษณ์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ,ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น, บรรณาธิการ. 2544. ลำปาง เมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ. ลำปาง : สำนัก ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎลำปาง โรงงานน้ำตาลเกาะคา. 2557. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.khaotan.com/history.html สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม, และทองดี ปิงใจ. 2544. “โรงงานน้ำตาลเกาะคา”,ใน ลำปาง เมื่อห้วงหนึ่งศตวรรษ. หน้า 129-143. และได้เรียบเรียงขึ้นใหม่ ฉายภาพให้เห็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนลำปาง
           
รายงานชิ้นนี้ บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์การก่อเกิดของโรงงานน้ำตาลเกาะคา ว่า เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดลำปางเหมาะสมที่จะปลูกอ้อยมากที่สุด หน่วยงานรัฐบาลในสมัยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงตั้งโรงงานน้ำตาลลำปางที่อำเภอเกาะคาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใช้ชื่อว่า โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง และเริ่มพิธีเปิดฤดูหีบอ้อยเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2480
           
การผสมพันธุ์อ้อยในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2481 ที่โรงงานน้ำตาลลำปาง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยชาวฟิลิปปินส์และเจ้าหน้าที่
           
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2484 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเดินทางมาเยี่ยมโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง หรือโรงงานน้ำตาลเกาะคา และกล่าวปราศรัยแก่ชาวไร่อ้อยและเจ้าหน้าที่ของโรงงานว่า ในการตั้งโรงงานน้ำตาลของรัฐบาลนั้น มีความประสงค์จะให้โรงงานน้ำตาลอยู่ในมือคนไทยแท้ๆได้สืบสวนดูที่ที่เคยทำน้ำตาลมาแล้วหลายแห่ง เช่น ที่เมืองชลบุรีก็เห็นคนอื่นเขาปลูกอ้อยทำน้ำตาลกันทั้งนั้น
           
“ข้าพเจ้าได้ให้สืบที่นครชัยศรีดูว่ามีคนไทยปลูกอ้อยบ้างหรือไม่ ก็เห็นมีแต่คนชาติอื่นๆปลูกกันเป็นส่วนมาก ฉะนั้นจึงได้ให้เที่ยวดูที่อื่นอีกจนกระทั่งถึงอำเภอเกาะคานี้แหละดีแล้วเพราะมีคนไทยทั้งนั้นที่ปลูกอ้อย เมื่อตั้งโรงงานแล้วก็จะได้เป็นการส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยมากขึ้น เพื่อส่งโรงงานทำน้ำตาลทำการหีบเป็นน้ำตาลและเพื่อจะให้คนที่ไม่มีงานทำจะได้มีงานทำซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งบ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้า ต่อไปสิ่งสำคัญที่ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าไปได้อยู่ที่เศรษฐกิจการเงิน ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะมีโรงงานอุตสาหกรรมทำสินค้าออกไปขายต่างประเทศบ้างและเพื่อจะลดการสั่งซื้อน้ำตาลต่างประเทศให้น้อยลงได้บ้าง”
           
พระยาพหลฯ กล่าว
           
สังคมเกาะคาหลังจากการตั้งโรงงานน้ำตาลเป็นพหุสังคม คือสังคมที่คนมีวัฒนธรรมแตกต่างกันมาอยู่ร่วมกัน มีต่างประเทศเข้ามาตั้งรกรากในเกาะคา เช่น มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องของอ้อย เรื่องการเคี่ยวน้ำตาลมาจากฟิลิปปินส์และคิวบา สมัยก่อนงานฉลองปิดหีบเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของลำปางเพราะชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินค่าอ้อยและมีการฉลองกัน มีมหรสพจากกรุงเทพและต่อมากลายมาเป็นอำเภอที่สองรองจากในเมืองลำปางที่มีงานฤดูหนาว
           
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของลำปาง ที่ทำให้หวลระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
           
คนลำปางรุ่นใหม่ อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า นี่คือจังหวัดที่มีโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของประเทศไทย เป็นเรื่องที่ในวาระสำคัญเช่นนี้ ควรมีการชำระประวัติศาสตร์ บันทึกไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้และรู้สึกภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิด
           
ก้าวพระบาท ณ โรงงานน้ำตาลเกาะคาวันนั้น คงประทับอยู่ในใจคนเกาะคา และคนลำปางทุกคน แม้จะสืบทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานแล้วก็ตาม

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1102 วันที่  28  ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2559)
Share:

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมชอบมากครับ พ่อผมก็ทำงานครั้งแรกที่นี่ครับ

    ตอบลบ

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์