วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ยุคออนไลน์ไร้สติ

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter

วามรวดเร็ว และอำนาจการสื่อสารที่กระจายไปอยู่ในมือคนทั่วไป เหมือนเป็นอำนาจใหม่ที่ทรงพลังยิ่งกว่าอำนาจใดๆเท่าที่ผ่านมา ในด้านดีก็อธิบายได้ ด้วยเครื่องมือสื่อสารที่สามารถส่งผ่านภาพสาธารณะออกไปได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ในด้านร้ายก็มีการสร้างมายาคติให้ผู้คนหลงผิด เกลียดชังโดยไม่แยกแยะระบาดไปทุกหนแห่ง
           
พวกเขาใช้ความเห็น ใช้อารมณ์ความรู้สึก ยิ่งกว่าความจริง
           
วันนี้สื่อสังคมออนไลน์ จึงมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ไปแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้ เราต่างตกอยู่ภายใต้การครอบงำ การบงการ การฉุดดึงให้ตกไปอยู่ในหล่มโคลนแห่งสังคมอุดมดราม่าไปอย่างไม่มีใครอาจช่วยได้
           
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทางจะแทรกซึมเข้าไปในสายเลือดของคนไทย จนพฤติกรรมการแสดงออกทางการแสดงความคิดเห็นของคนไทยดู สุดขั้ว ด้วยพฤติกรรมที่เสพติดสื่อออนไลน์
           
สถิติที่มาพร้อมกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้โทรศัพท์มือถือธรรมดา กลายเป็นมือถือแบบสมาร์ทโฟนที่ย่อโลกทั้งใบมาอยู่ในมือในราคาไม่แพง เมื่อปี2555 มีการสำรวจพฤติกรรมการเสพสื่อ น่าตกใจที่เด็กไทยที่ใช้ไปกับสูงถึง 8-9ชั่วโมงใน 1 วัน ซึ่งอาจเทียบได้ว่าเวลาครึ่งชีวิตยามตื่นของเด็กไทย ในระยะยาวอาจส่งผลต่อเวลาในการพักผ่อนที่ลดลง และส่งผลกระทบต่อเวลาในการเรียนรู้ของเด็กให้ต้องด้อยประสิทธิภาพลงไป โดยใน 8 ชั่วโมงนี้ เด็กใช้เวลาคุยโทรศัพท์ หรือแชท Line  Facebook ส่องเรื่องดาราไอดอลผ่าน ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม  ไม่ต่ำกว่าวันละ 3 ชั่วโมง
           
แต่ที่น่าตกใจ คือ จากรายงาน สรุปสภาวการณ์เด็กและเยาวชน 15 จังหวัด ภาคเหนือ ปี 2556 พบตัวเลขที่น่าตกใจ ว่า เด็กและเยาวชนจังหวัดลำปางใช้สื่ออินเตอร์เนตและสื่อสังคมออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง !!!
           
ในปี 2557 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊คอยู่ 26 ล้านกว่าบัญชี จัดอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน และในปี 2558 พบว่า คนไทยใช้ เฟสบุ๊ค 41 ล้านคน โตขึ้น 17% คิดเป็น 60% ของประชากรไทย ส่วน Facebook Page ไทย มีมากถึง 7 แสนเพจ
           
การแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ ดูจะเป็นมาตรการทางสังคมที่ใช้ในการกดดัน บีบเค้น ที่สังคมมองว่าใช้ได้ผล แต่หากมองอีกมุมหนึ่งเราก็ต้องไม่ลืมว่าหลายความคิดเห็นออกไปในแนวรุนแรง คึกคะนอง และสร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชังจนละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น โดยที่เราไม่มีสิทธิที่จะไปทำเช่นนั้น
           
ก่อนหน้านี้มักจะมีประเด็นดราม่าดารามากมาย ที่เกิดวาทะกรรม ปะ ฉะ ดะ จนไปจบที่โรงพัก ฟ้องร้องกันตามหน้าข่าวก็เยอะ อย่างกรณี ตั๊ก บงกช ฉะแหลก กับบริษัทที่ให้บริการเช่าเหมาลำเรือยอชต์ มหากาพย์แห่งการตอบโต้จากกรณีภาพตั๊ก บงกช ในชุดว่ายน้ำวันพีช ในลีลาการโพสต์ท่าที่เธอมั่นใจตามแบบฉบับของเธอ โดยสามีเป็นผู้ถ่ายภาพ ซึ่งเรื่องราวก็ไม่ควรจะมีอะไรผิดปกติ เพราะเป็นถือเป็นช่วงเวลา และภาพนั้นเธอคิดว่าไม่ควรจะหลุดออกมาจากไลน์ของคนอื่น
           
หลายต่อหลายครั้งที่มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในโลกโซเชียล แล้วกลายมาเป็นข่าว โดยที่ข่าวนั้นไม่ได้มีคุณค่าข่าวอะไรนอกจากสนองความสะใจของผู้เสพข่าว และหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน ที่เรามักจะเห็นชาวเน็ตออกมาด่าไว้ก่อนที่ความจริงจะปรากฏ
           
กรณี ดีเจเก่ง ที่มีภาพคลิปที่ถอบรถชนเก๋งยาริสที่ถูกแชร์กระจายไปก่อนหน้านี้เป็นข่าวดังครึกโครม ทุกหัวหนังสือพิมพ์ ทีวีทุกช่อง สื่อออนไลน์ทุกชนิดรายงานสถานการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจากคลิปที่บันทึกภาพที่ดีเจเก่งถอยรถกระบะชนรถเก๋งคู่กรณีก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะดำเนินคดีและเอาผิดตามกฎหมายได้อยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ไม่จบเช่นนั้น สังคมดูเหมือนจะมีการ ล่าแม่มด ขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตว่าเคยไปประกวดอะไร ทำงานที่ไหน มีลูก เมีย ด่าทอไปถึงพ่อแม่ ราวกับว่าจะไล่ล่าไม่ให้อีกฝ่ายได้มีที่ยืนในสังคมได้อีกต่อไป
           
และล่าสุด กรณี น๊อต รถมินิ”  เจ้าของแฮชแท็ค #กราบรถ  ที่สร้างปรากฏการณ์อีกครั้ง แน่นอนว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้หนุ่มอารมณ์ร้อนชกหน้าและด่าคู่กรณีที่เฉี่ยวชนรถด้วยถ้อยคำที่รุนแรง  แต่การทำร้ายร่างกายโดยเจตนาเป็นสิ่งที่รุนแรงประกอบกับคอมเมนท์ทางโลกโซเชียลที่เต็มไปด้วยอารมณ์ จนไปกระทบถึงร้านอาหารญี่ปุ่นที่หนุ่มน็อตเป็นหุ้นส่วนที่ชาวเน็ตเข้าไปถล่มเพจของร้านด้วยถ้อยคำที่รุนแรง  รวมไปถึงด่าพ่อแม่ของหนุ่มน็อต มีคนบุกไปปาไข่ที่ร้านและที่บ้าน ซึ่งแน่นอนว่าคนรอบข้างหนุ่มน็อตไม่ได้มีความผิดและเกี่ยวข้องอะไรด้วย คล้ายจะพุ่งเป้าทำให้ชายหนุ่มคนนี้ไม่มีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป
           
และหากสังคมยังอุดมดราม่าแบบนี้เรื่อยๆ ใช้การประณามมากำจัดความชั่วแทนที่จะใช้สติและกฎหมาย แบบนี้ใครที่สร้างกระแสจุดไฟให้ติดได้ สังคมก็คงจะก้าวย่ำอยู่ที่เดิมที่ๆมีแต่วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง ตลอดไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1104 วันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์