วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

นักท่องเที่ยวGen Y ใส่ใจความธรรมดา

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

ช่วงวันหยุดยาว เช้า ๆ ไปตลาดรัษฎาฯ แทบไม่มีที่เดิน เถลไถลจะไปกินข้าวมันไก่คนก็แน่น ทะเบียนรถจากต่างจังหวัดจอดเรียงกันเป็นพืด เลยไปร้านกาแฟเจ้าประจำ โอย...รอนานชะมัด เจอแต่ลูกค้าหน้าตาไม่คุ้น แต่งตัวเกร๋ ๆ ยกมือถือถ่ายภาพ แล้วก็แชร์กันอุตลุด
           
ตลาดบ้าน ๆร้านข้าวมันไก่หอนาฬิกา ร้านกาแฟ แม้แต่สถานีรถไฟ ฟังดูธรรมด๊าธรรมดา ทว่าในยุคนี้มันได้กลายเป็นจุดที่ต้องแวะสำหรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว ว่าแต่มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาไม่เข้าวัด เล่นน้ำตก ช็อปปิง...ไรงี้
           
จากรายงานเบื้องต้น “โครงการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่” จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อศึกษารูปแบบพฤติกรรมและปัจจัยด้านจิตวิทยาในการเดินทางของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ชาวไทย อายุ 18-35 ปี โดยมีบริษัทแบรนด์ เมทริกซ์ รีเสิร์ช จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษา พบว่า นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มีพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ อย่างชัดเจน
           
นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีการสืบหาข้อมูลในการท่องเที่ยวมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ เพื่อที่จะคัดกรอง เปรียบเทียบ และวางแผนการเดินทางให้ตรงตามความต้องการมากที่สุด เริ่มจากวางแผนเส้นทางการเดินทางด้วยตัวเอง หาข้อมูลจากเพื่อน ๆ จากการฟังเรื่องราวการเดินทางที่ได้ยินมา ติดตามบล็อกงานเขียน หรือติดตามภาพถ่ายในโซเชียล มีเดีย มากกว่าจะศึกษาตามคำแนะนำในนิตยสาร หรือคำโฆษณาของบริษัททัวร์

นักท่องเที่ยว Gen Y ไม่มี Brand Loyalty ต่อแหล่งข้อมูลมากนัก ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้แหล่งข้อมูลมาจากความสะดวกสบายในการใช้งาน ความคุ้มค่าคุ้มราคา หรือความครบถ้วนของข้อมูลที่ได้รับมากกว่าการยึดมั่นในแบรนด์
           
นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่ชอบเล่นโซเชียล มีเดีย มากกว่าคนรุ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินทางท่องเที่ยว ชาว Millennial จะบอกเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ผ่านทางโซเชียล มีเดีย ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเช็กอินตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ การโพสต์รูปแหล่งท่องเที่ยว อาหาร ที่พัก และอัพเดตสถานะตลอดการเดินทาง
           
ทั้งนี้ ในการประชุมทางวิชาการเรื่อง “ท่องเที่ยววิถีไทย” ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับเทรนด์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในระดับโลก และรูปแบบใหม่ ๆ ของการท่องเที่ยวไทย โดยส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่อง Lifestyle and Experiential Tourism ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ พวกเขามีความต้องการสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
           
ไลฟ์สไตล์และประสบการณ์กลายเป็นสินค้าและบริการที่น่าสนใจ กิจวัตรประจำวันตามปกติของทุกมุมเมือง ทุกท้องถิ่น กลับกลายเป็นเรื่องราวน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ สวนสาธารณะ ห้องสมุด ตลาดนัด หรือแม้แต่ร้านค้าแผงลอยริมถนนเหล่านี้คือสินค้าและบริการแบบใหม่ที่น่าสนใจ เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการเรื่องเล่าที่มีความเฉพาะตัวของตัวเอง
           
รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนในท้องถิ่นเห็นว่ามันธรรมด๊าธรรมดาสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นต่างใฝ่ฝันว่าสักวันจะต้องออกเดินทางเพื่อค้นหาความธรรมดาสามัญเหล่านี้ให้ได้ หมดยุคแล้วสำหรับการไปท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์ สูตร 6-7-8 ตื่น 6 โมง กินข้าวเช้าในโรงแรม 7 โมง ล้อหมุน 8 โมง ตระเวนชมแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ก่อนจะปิดท้ายด้วยการช็อปปิงของฝากตามร้านที่ไกด์โน้มน้าวให้ไปเพราะได้ค่าน้ำ ไม่ใช่แล้วล่ะ นี่ไม่ใช่เทรนด์ท่องเที่ยวสำหรับหนุ่มสาวรุ่นใหม่อีกต่อไป
           
สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการจากการท่องเที่ยว ร้อยละ 86 ระบุว่า ต้องการลงลึกไปในวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่จริง ๆ ของคนในท้องถิ่น พวกเขาต้องการกินอาหารท้องถิ่นในร้านอาหารธรรมดา ๆ ไม่ใช่ร้านเชนฟาสต์ฟู้ดระดับโลกและไม่ต้องการอาหารเช้าจากโรงแรม เป็นเหตุผลว่าเช้า ๆ ทำไมตลาดกับร้านข้าวมันไก่คนจึงแน่นเอี้ยดในช่วงวันหยุดยาวนั่นไง อ้อ ร้านกาแฟก็ด้วยในขณะที่ความต้องการช็อปปิงของฝากก็ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 28 คนรุ่นใหม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับประสบการณ์จริงมากกว่าการเสพสินค้าและบริการจากภาพตัวแทนอย่างของที่ระลึก ส่วนแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานตลอดการเดินทาง ร้อยละ 94 ใช้เฟซบุก ร้อยละ 71 ใช้อินสตาแกรม
           
ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ยังได้กล่าวถึงจังหวัดเชียงใหม่ว่า รูปแบบของการท่องเที่ยวกำลังเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมคือไปให้ถึงแลนด์มาร์กสำคัญ ๆ ที่เป็นจุดท่องเที่ยวหลักของจังหวัด ทุกวันนี้แค่มาดื่มกาแฟกันที่ถนนนิมมานเหมินท์ก็พอ นอกจากอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าเล็ก ๆ ก็กลายเป็นเสน่ห์ของท้องถิ่นในสายตานักท่องเที่ยวไปด้วย อย่างร้านขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น เครื่องดนตรี เครื่องสำอาง แผ่นเสียง หนังสือ งานหัตถกรรม รองเท้าวิ่ง ??? ก็ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ยิ่งเมืองมีบรรยากาศ หรือจุดเด่นเท่าใด การท่องเที่ยวแบบไลฟ์สไตล์ก็จะช่วยยืดเวลาพัก หรือดึงดูดให้นักท่องเที่ยวค้างคืน หรือมาซ้ำบ่อยขึ้น
           
น่าคิดสำหรับเมืองเล็ก ๆ ของเรา ไม่ต้องเร่งสร้าง เร่งพัฒนา ฟุ้งถึงจุดแลนด์มาร์กที่ต้องทุ่มทุนมหาศาล แค่หันกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งธรรมดาสามัญที่มีอยู่ รักษาบรรยากาศเดิม ๆ ของเมืองเอาไว้ (โดยเฉพาะตึกเก่าและต้นไม้) พร้อมกับหยิบเอาเรื่องง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัวขึ้นมาขับเน้น ทำให้เมืองมีความน่าอยู่น่าอาศัย แล้วลำปางจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบไลฟ์สไตล์ในไม่ช้า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1102 วันที่  28  ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์