วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เลี้ยงแพะวังเหนือรุ่ง กระแสแรงทำเงินแสน

จำนวนผู้เข้าชม website counter

จะว่าไปแล้วการเลี้ยงการเลี้ยงแพะในประเทศไทยของเรามีมายาวนานมาก ขณะที่กระแสการบริโภคเนื้อแพะ น้ำนมแพะเพื่อสุขภาพก็เริ่มมาแรง เกษตรกรทั่วไปนิยมเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมและบางรายเลี้ยงเป็นอาชีพหลักทำรายได้ปีหนึ่งเป็นหลักแสนเพียงเพราะแพะเป็นสัตว์ เลี้ยงง่าย ประเภทเคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก กินหญ้าเป็นหลักเช่นเดียวกับโคและกระบือ ต้นทุนการเลี้ยงจึงอาศัยเพียงสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารธรรมชาติ และส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงแบบให้อาหารจากธรรมชาติ และขายเนื้อ หรือนมเป็นผลิตภัณฑ์แพะอินทรีย์
           
บุญยืน มะโนรมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะชาววังต.วังเหนือ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง บอกเล่าว่า ตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดลำปางเป็นหนึ่งในแหล่งต้นน้ำลำธาร มีการส่งเสริมให้เกิดอาชีพที่เป็นมิตรต่อต้นน้ำลำธาร และมีการส่งเสริมเลี้ยงแพะ แกะในลำปางมากขึ้น โดยในเขตตำบลวังเหนือเริ่มมีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะหลายรายที่เลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำนาและพืชไร่ จึงรวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงการตลาดการพัฒนาการเลี้ยงแพะไปด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน ภายใต้ชื่อ กลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงแพะชาววัง เมื่อช่วงต้นปี2559ปัจจุบันมีสมาชิก8คอก มีแม่พันธุ์และลูกแพะรวมกันไม่น้อยกว่า300ตัว
           
ธรรมชาติของแพะนอกจากเลี้ยงง่าย มีต้นทุนการเลี้ยงไม่สูง มีโรคน้อย เพราะแพะกินหญ้า ผักกฐิน ไม้พุ่มทั่วไป โตเร็ว อายุ 10-12 เดือน ก็สามารถผสมพันธุ์ได้ ใช้เวลาอุ้มท้อง 5 เดือน ก็จะให้ลูก และบางครั้งยังให้ลูกแฝด โอกาสในการเพิ่มจำนวนสมาชิกในคอก ลูกแพะ อายุ6เดือนน้ำหนัก25-30กก.ก็ขายเป็นเนื้อได้ ปัจจุบันราคาซื้อขายแพะประมาณกิโลกรัมละ90-100บาท ตลาดมีความต้องการสูง
           
“การเลี้ยงแพะกลุ่มเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ปัจจุบันเราเชื่อมโยงตลาดกับสมาคมผู้เลี้ยงแพะแกะไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการตลาด เบื้องต้นมีการความต้องการซื้อจากกลุ่มเราเดือนละ60ตัว เราจึงเริ่มเลี้ยงขยายจำนวนแม่พันธุ์เฉพาะในกลุ่มก่อน จากนั้นจึงขยายจำนวนคอกหรือผู้เลี้ยงในเครือข่ายเพิ่ม ส่วนเป้าหมายต่อไปของเราคือ การแปรรูปจากผลผลิตพลอยได้จากแพะ คือผลิตภัณฑ์จากน้ำนมแพะ และปุ๋ยจากมูลแพะ ขายในชุมชน โดยก่อนหน้านี้สมาชิกในกลุ่มได้ไปฝึกอบรมแปรรูปน้ำนมแพะเป็นครีมบำรุงผิว และเป็นอาหาร ทดลองขายในชุมชน มีคนให้ความสนใจและชอบผลิตภัณฑ์จากนมแพะ ขณะนี้เราขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งเอสเอ็มอี วงเงิน1.39ล้านบาท เป็นต้นทุนวิสาหกิจ ซื้อแม่พันธุ์พัฒนาปรับปรุงคอก และทำโรงแปรรูปที่มีมาตรฐานรองรับการขยายตัวของกลุ่ม และการพัฒนาไปสู่อาชีพการเลี้ยง แปรรูปแพะครบวงจรแบบมืออาชีพในอนาคต”
           
เอกรัตน์ มีเมล์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันมาเลี้ยงแพะ บอกว่า ก่อนหน้านี้ครอบครัวเขาทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก โดยเฉพาะการทำไร่ข้าวโพด ได้ผลตอบแทนต่ำ ราคาผลผลิตไม่แน่นอน จึงหาทำเกษตรแนวอื่นบ้าง จึงทดลองเลี้ยงแพะ จากคำแนะนำของเพื่อน ซึ่งพบว่าการเลี้ยงแพะเป็นทางออกที่ดี เพียงแค่มีพื้นที่ในการเลี้ยงมีคอกกั้นมีร่มเงา มีเรือนนอนเกษตรส่วนใหญ่มีพื้นที่เหลือก็ทำคอกในบ้านตัวเองได้เพราะแพะเป็นสัตว์ที่ไม่มีกลิ่นจากมูลรบกวนที่อยู่อาศัยเหมือนสัตว์ชนิดอื่น อาหารก็ปล่อยธรรมชาติบ้าง หญ้าทั่วไปส่งป้อนในคอกสลับกัน แพะรุ่นแรกที่เขาเลี้ยงเมื่อปีที่แล้ว ลงทุนเพียง40,000บาท ได้ลูกแพะมาประมาณ20ตัว เลี้ยงเก็บเป็นแม่พันธุ์บางส่วน ขายไปบางส่วน1ปีได้ลูกแพะ2รุ่นขายไปแล้วมีรายได้หลักแสน แถมยังเหลือลูกแพะรุ่นที่3เพิ่มขึ้นอีก40ตัว เขาสรุปชัดเจนว่าการเลี้ยงแพะให้ผลตอบแทนสูง มีโอกาสทำรายได้ดีกว่า และเหนื่อยน้อยลงจากการทำพืชไร่ที่เคยทำค่อนข้างมาก
           
เช่นเดียวกับครอบครัวของสายันต์ เปลี่ยวญาติสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงแพะชาววัง ที่หันมาเลี้ยงแพะเสริม จนเกือบจะเป็นอาชีพหลักไปแล้ว ระบุว่า การเลี้ยงแพะทำรายได้ดี เหนื่อยน้อยลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ ลำธาร การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจไปด้วยกันนี้จะ ช่วยให้ผู้เลี้ยงแพะมีรายได้มากขึ้นนอกเหนือจากการขายแพะรุ่น แต่การแปรรูปน้ำนมแพะ และปุ๋ยจากมูลแพะ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรายได้ในชุมชน แม้ไม่ต้องมองตลาดไกลตัวมากเพียงแค่ขายในชุมชนให้คนท้องถิ่นได้ใช้บริโภคนมแพะ หรือใช้ผลิตภัณฑ์นมแพะ ที่ผลิตในท้องถิ่นด้วยกันเองก็เป็นเรื่องดีแล้ว ส่วนการขายตัวในอนาคต การพัฒนาศักยภาพการแปรรูปที่มีมาตรฐานเป็นการปูทางที่ชัดเจน ในระยะเริ่มต้น ในอนาคตหวังว่า ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้เลี้ยงแพะชาววัง จะเป็นที่รู้จักในท้องตลาด สร้างรายได้กลับมาในชุมชน
           
บุญยืน มะโนรมย์ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะชาววัง กล่าวปิดท้ายการสนทนาว่า แม้ขณะนี้จะเป็นการเริ่มต้น แต่มีทิศทางชัดเจนที่เห็นอนาคต ก้าวต่อไปและจุดหมายของกลุ่มวิสาหกิจผู้เลี้ยงแพะชาววัง คือการขยายโมเดลนี้ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะ แกะทั้งจังหวัดลำปางในอนาคต

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1107 วันที่  2 - 8  ธันวาคม 2559)
Share:

1 ความคิดเห็น:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์