วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ล่องหน "22 ล้าน" สนามกีฬาลำปาง คสช.เล็งสอบ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

สตง.จับตาก่อสร้างสนามกีฬาลำปาง เบิกจ่ายแล้ว 50 ล้าน แต่เงินหาย 22 ล้าน งานเสร็จไม่ทันกำหนดสร้างได้แค่ 9 เปอร์เซ็นต์  เผยสนามกีฬา 7 แห่งที่ศูนย์สร้างทางลำปางรับผิดชอบพบปัญหาทั้งหมด งบ 965 ล้าน เบิกจ่ายแล้ว 847 ล้าน แต่งานไม่เดิน  ขณะที่ คสช.เล็งตรวจสอบทุจริตโครงการแล้ว  

หลังจากที่หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ เคยนำเสนอข่าวการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ไปเมื่อเดือนพ.ค. 56  ที่ผ่านมา  โดยนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ได้มีโครงการที่จะก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง งบประมาณก่อสร้าง 500 ล้านบาท โดยความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย จังหวัดลำปาง อบจ. และ กกท.  จะดำเนินก่อสร้างบริเวณด้านหลัง อบจ.ลำปาง พื้นที่ 230 ไร่ เมื่อทำเสร็จแล้ว กทท.จะมอบให้กับ อบจ.เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาต่อไป  และคาดว่าในปี 2558 จะเริ่มการก่อสร้าง จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2560 เพราะงบประมาณ 500 ล้าน เป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปี แต่ล่าสุดเข้าต้นปี 2558 แล้ว ยังไม่พบว่าการก่อสร้างสนามกีฬาดังกล่าวจะมีความคืบหน้าแต่อย่างใด

แต่ปรากฏว่า การก่อสร้างสนามกีฬาดังกล่าว การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ทำข้อตกลงกับกรมทางหลวง วันที่ 18 มิ.ย.57 ให้ก่อสร้างสนามกีฬา ประกอบด้วยสนามฟุตบอลพร้อมลู่และลานกรีฑา อัฒจันทร์ความจุ 12,000 ที่นั่ง รวมทั้งระบบสาธารณูปโภค วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 107,944,000 บาท กรมทางหลวงมอบให้ศูนย์สร้างทางลำปางรับผิดชอบ กำหนดส่งมอบงานวันที่ 30 ก.ย.59    โดย กกท. ต้องโอนให้กรมทางหลวงเป็นค่าก่อสร้าง ขณะนี้โอนให้แล้ว 70,450,000 บาท  ซึ่งศูนย์สร้างทางลำปางเบิกไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท แต่มีปริมาณงานเพียง 9 เปอร์เซ็นต์

จากเรื่องดังกล่าวได้มีการร้องเรียนไปยัง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 9  นางกรองแก้ว กลับกลายดี ที่ปรึกษาผู้ว่าการ สตง. จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างสนามกีฬา ที่ จ.ลำปาง  เมื่อวันที่ 9 ก.พ.60 ที่ผ่านมา และพบข้อพิรุธวัสดุก่อสร้างที่จัดซื้อกับเงินที่เบิกไม่สัมพันธ์กัน  จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีการจัดซื้อวัสดุจริงมูลค่า 4 ล้านบาทเท่านั้น  แต่กลับมีหลักฐานการเบิกเงินค่าวัสดุเกือบ 27 ล้านบาท  เท่ากับว่าเงินหายไปกว่า 22 ล้านบาท รวมทั้ง ข้อพิรุธการซื้อคอนกรีตสำเร็จรูป จ่ายเงินแล้วแต่ยังไม่ได้ของ ซึ่งจากการตรวจสอบร้านค้า พบว่าอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ แต่เมื่อ สตง.ลงพื้นที่ตรวจสอบตามที่อยู่ของร้านค้าดังกล่าว พบเป็นเพียงบ้าน 2 ชั้น ไม่ได้เปิดจำหน่ายเป็นร้านค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแต่อย่างใด  พร้อมกันนี้การตรวจสอบยังพบว่า ศูนย์สร้างลำปางรับผิดชอบก่อสร้างสนามกีฬาอีก 6 แห่ง ประกอบด้วย จ.สกลนคร จ.สระบุรี 2 แห่ง จ.นราธิวาส จ.สมุทรปราการ และ จ.สระแก้ว รวมวงเงินกว่า 965 ล้านบาท  เช่น ที่จังหวัดนราธิวาสและสกลนคร มีการเบิกเงินแล้วกว่า 847 ล้านบาท

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า การจ้างแรงงาน และจากเบิกจ่ายซื้อวัสดุ ไม่มีการทำบันทึกรายงานการทำงานในแต่ละวัน ไม่มีรายงานการเบิกจ่ายบัญชีวัสดุการก่อสร้างเลย จากการประเมินของวิศวกรจากทีมของ สตง.ระบุว่าหน้างานทำได้แค่ 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  จากที่ควรจะดำเนินการไปได้แล้ว 20 เปอร์เซ็นต์  ส่วนต่างจากหน้างานหายไปประมาณ 22 ล้านบาท  ทั้งนี้มีการอ้างว่านำวัสดุไปฝากไว้ที่ จ.สกลนคร แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ก็ไม่พบว่ามีการรับฝากวัสดุแต่อย่างใด

นายสถาพร เชื้อผู้ดี อดีต ผอ.ศูนย์สร้างทางลำปาง  กล่าวยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดในการทำงานของตนเอง ที่เชื่อใจและไว้ใจลูกน้องให้ทำงานเอง โดยไม่ได้เข้ามาตรวจสอบงานด้วยตนเอง เนื่องจากต้องรับผิดชอบงานหลายแห่ง จึงเพียงแต่สอบถามความคืบหน้าและดูจากรายงานเท่านั้น

 ส่วนความล่าช้านั้น นายสถาพร อ้างว่าเกิดจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่ทำให้การทำงานไม่คืบหน้า

ขณะที่นายประจักษ์ ปัญญาเลย    ผู้อำนวยการศูนย์สร้างทางลำปาง  มีแผนที่จะประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบิดดิ้ง เพื่อให้เอกชนเข้ามาก่อสร้างอัฒจันทร์ โดยใช้งบ 20 ล้านบาทที่ยังไม่ได้เบิก จ่ายเป็นค่าจ้าง  ส่วนสนามฟุตบอลและงานสาธารณูปโภคดำเนินการเอง โดยใช้งบกว่า 37 ล้านบาทที่ กกท.ยังไม่โอนให้เป็นค่าก่อสร้าง แต่วิธีการนี้ทาง สตง.เชื่อว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขข้อตกลง ที่ทาง กกท.ได้ทำข้อตกลงว่าให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง  ซึ่งทางนายประจักษ์ยืนยันว่า กกท.เห็นด้วยกับการประกวดราคาดังกล่าว

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 9  กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณก่อสร้างสนามกีฬาทั่วประเทศก่อน และลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้าง เมื่อพบว่ามีการทุจริตก็จะต้องตรวจสอบให้ลึกลงไปอย่างแน่นอน  พร้อมกันนี้จะรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปช. และ ปปง.ให้ตรวจสอบสายการใช้จ่ายเงินด้วย  

 แหล่งข่าว ระบุว่า เรื่องการก่อสร้างสนามกีฬาที่ส่อไปในทางทุจริตนั้น ทาง คสช.ได้มีนโยบายที่จะตรวจสอบปัญหาการทุจริตดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1118 วันที่  24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์